https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
อ่าน 'อุปนิสัยที่ 8'สอนผู้นำ ไปสร้างผู้นำ MUSLIMTHAIPOST

 

อ่าน 'อุปนิสัยที่ 8'สอนผู้นำ ไปสร้างผู้นำ


900 ผู้ชม


อ่าน 'อุปนิสัยที่ 8'สอนผู้นำ ไปสร้างผู้นำ




    ในที่สุดหนังสือเล่มล่าสุด ''The 8th HABIT : From Effectiveness to Greatness'' ของสตีเฟ่น อาร์ โควีย์ ก็ได้รับการเรียบเรียงใหม่เป็นฉบับภาษาไทย โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย แห่งสำนักพิมพ์ดีเอ็มจีเป็นที่เรียบร้อยแล้วในชื่อหนังสือว่า ''อุปนิสัยที่ 8 จากประสิทธิผลสู่ความยิ่งใหญ่''
       
        ดนัยกล่าวถึงเนื้อหาของอุปนิสัยที่ 8 ไว้ว่า เป็นเรื่องของการค้นหาเสียงภายในตนเอง ซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้เราแสดงวิสัยทัศน์ วินัย ไฟในตัว และมโนธรรมออกมา จากนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นค้นพบเสียงภายในตัวเขาด้วยเช่นกัน
       
        หลักสำคัญของอุปนิสัยที่ 8 ต้องการบ่งบอกว่า ทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ 3 ประการที่ติดตัวมาแต่เกิด ได้แก่ เสรีภาพและอำนาจในการเลือกกฎแห่งธรรมชาติหรือหลักการซึ่งเป็นสากล ไม่ขึ้นกับกาลเวลาและชัดเจนในตนเอง และความสามารถ 4 ประการที่ทำให้เราเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วย กาย จิตใจ สติปัญญา และมโนธรรม ดังนั้นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือ ผู้นำที่ได้นำพรสวรรค์เหล่านี้มาพัฒนาตนเอง
       
        ดนัยขยายความให้ฟังว่า เมื่อคนมีเสรีภาพในการเลือก ย่อมสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นผู้นำหรือไม่ ดังนั้นผู้นำจึงไม่ใช่สิ่งที่มาพร้อมกับตำแหน่ง แต่เป็นสิ่งที่คนเลือกจะเป็น แล้วเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม และหัวใจของการสร้างความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้มาจากอำนาจ แต่มาจากความสามารถในการสื่อสารของผู้นำที่ชัดเจน ที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจในผู้อื่นก่อน ไม่ใช่มองจากมุมของผู้นำ
       
        สำหรับจุดด่นของหนังสือเล่มนี้ โควี่ย์ได้รวบรวมประสบการณ์ที่เป็นตัวอย่างของผู้ที่นำ 7 อุปนิสัยไปปฏิบัติแล้วเกิดผลอย่างไร มาถ่ายทอดในหนังสือเล่มใหม่นี้ด้วย
       
        พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพคริม กรุ๊ป จำกัด แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า 7 อุปนิสัย ที่โควีย์นำเสนอไปก่อนหน้านี้ถือเป็นพื้นฐานของการสร้างภาวะผู้นำในตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล แต่อุปนิสัยที่ 8 จะเกี่ยวข้องกับการสร้างประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรมากขึ้น
       
        เพราะโควีย์ต้องการบ่งบอกให้ผู้นำในองค์กรต่างๆ รู้ว่า การสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจให้กับผู้อื่น ผู้นำต้องเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคแห่งปัญญา ไม่ใช่ยุคของอุตสาหกรรมอีกต่อไป ยุคนี้เป็นยุคที่คนมีการศึกษา มีความคิด คนสามารถจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเองเป็นคนกำหนด ไม่ได้อยู่ที่เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่องค์กรจัดหามาให้ อยู่ที่ว่าคุณจะชนะใจในเรื่องที่เขามีความรู้ ความสามารถ แล้วดึงศักยภาพเหล่านั้นของเขามาใช้ได้อย่างไร
       
        ผู้นำในหลายองค์กรยังขาดทักษะที่จะเป็นผู้นำของคนเหล่านี้ จึงทำให้เขาไม่สามารถสร้างทีมเวิร์คที่ดี หรือสร้างให้พนักงานให้มีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้คนยังไม่ทุ่มเทให้กับองค์กร อีกทั้งผู้นำบางคนยังติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ ในยุคของอุตสาหกรรม
       
        ดังนั้นแม้จะมีการพูดว่าทรัพยากรคนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ยังเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงย้ำอีกครั้งว่า ถ้าคิดแบบนั้น ก็ต้องทำแบบนั้นด้วย แล้ววิธีที่จะรักษาคนซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กรต้องทำอย่างไร และจะสร้างแรงจูงใจเขาให้ทุ่มเท และทำงานให้กับองค์กรด้วยความเต็มใจต้องทำอย่างไร ซึ่งก็จะโยงใยไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร เพราะคนจะทุ่มเท และรู้จักทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นผลมาจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้องค์กรมีความไว้วางใจระหว่างลูกน้องและหัวหน้าสูง
       
        พรทิพย์ย้ำอีกครั้งว่า หนังสือเล่มนี้มี 2 ประเด็น คือ การค้นพบเสียงของตนเอง และช่วยคนอื่นค้นพบเสียงของเขา ถ้าผู้นำช่วยผู้อื่นค้นพบเสียงของเขาเองได้ เขาจะเดินไปได้เอง ไม่จำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบหรือกติกาอะไรมาบังคับ เพราะเขายินดีจะทำเอง และเป็นการทำงานด้วยใจ
       
        เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือได้แสดงให้เห็นว่า หลักของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนมีรากฐานมาจากการพัฒนาตนเอง ดังนั้นการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ทางสำนักพิมพ์ดีเอ็มจีจึงได้ร่วมกับมูลนิธิใสสะอาด และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการประกวดคำขวัญ ในหัวข้อ ''อุปนิสัยที่ดี 8 ประการของคนไทย'' เพื่อสนับสนุนกระแสสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาวุฒิภาวะผู้นำ โดยผ่านการกลั่นกรองความคิด เพื่อค้นหาอุปนิสัยที่ดีในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกลับคืนสู่สังคม
       
        แม้โครงการนี้จะเปิดรับผลงานของบุคคลทั่วไป ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่สำหรับดนัย การจัดกิจกรรมนี้เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ไปยังนักศึกษาระดับอุดมศึกษา อีกทั้งรูปแบบของกิจกรรมก็อยู่ในความสนใจของคนวัยนี้ ซึ่งเขามองว่า แก่นของหนังสือจะสามารถปลูกฝังภาวะผู้นำให้เกิดได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน
       
        "การตั้งหัวข้ออย่างนี้ เพื่อให้เกิดการนำไปคิดต่อว่าอุปนิสัยที่ดีของตัวเราควรมีอะไร เพื่อให้เรากลับมาประเมิน วิเคราะห์ตนเอง ให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง อะไรคือข้อด้อยของสังคมในปัจจุบัน อะไรคือข้อดีของเรา เข้าใจตัวเราก่อน ซึ่งขณะนี้ระบบการศึกษาส่วนใหญ่มักจะไปเน้นเกี่ยวกับความรู้อย่างอื่น ที่ไม่ใช่ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง" ดนัยกล่าว

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


อัพเดทล่าสุด