HR : มีส่วนในการค้นผู้นำภายในองค์การอย่างไร จะเลือก : คนเก่ง หรือ คนดี MUSLIMTHAIPOST

 

HR : มีส่วนในการค้นผู้นำภายในองค์การอย่างไร จะเลือก : คนเก่ง หรือ คนดี


711 ผู้ชม


HR : มีส่วนในการค้นผู้นำภายในองค์การอย่างไร จะเลือก : คนเก่ง หรือ คนดี




   หากท่านเป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องสรรหามืออาชีพมาร่วมทีม ท่านอยากได้คนที่มีคุณสมบัติอย่างไร   แน่นอนว่า มืออาชีพที่เล็งไว้ น่าจะเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำสูง มีประสบการณ์ เป็น "คนเก่ง" หมายถึงเก่งทั้งในเรื่องงานและเรื่องคน โดยส่วนใหญ่ องค์การสรรหาคัดเลือกคน ดูจากความเก่งเช่น จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำ สอบได้เกรดดีๆ และเรียนจบเร็ว แต่ด้วยปัจจัยดังกล่าว ไม่สามารถการันตีได้ว่า จะเป็นผู้นำที่ดีได้

                คำว่า "ภาวะผู้นำ" ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการจูงใจโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตามและปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น ในทุกสถานการณ์ของการใช้ภาวะผู้นำ จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบใหญ่ๆ ได้แก่

               1.เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ หรือผลงานที่ทำได้
               2. ผู้นำ และ
               3. ผู้ตาม

กูรูทางการบริหาร ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กล่าวไว้ว่า "...ภาวะผู้นำดูจากผลงานที่ทำได้ ไม่ใช่ ยศศักดิ์ สิทธิพิเศษ ตำแหน่ง หรือเงินทอง..."

               ผู้จัดการฝ่ายขายจะแสดงภาวะผู้นำได้ ต้องวาดภาพให้ออกว่าทำอย่างไร จึงจะทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทกำหนด มีการมอบหมายงานและให้อำนาจลูกทีมในการดำเนินงานตามแผน คอยช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา สอนงานให้หากเห็นว่ายังไม่เชี่ยวชาญ ชมและให้กำลังใจเมื่อเห็นว่าไปถูกทาง สุดท้ายยอดขายได้ตามเป้าหมาย

               ผลงานที่ทำได้ ก็คือ "เก่งงาน" ทำงานเป็น มีประสบการณ์ นอกจากผู้นำจะเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความเชี่ยวชาญในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีความสามารถในการวางแผน จัดระบบ หาทรัพยากร สามารถจัดการกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งชี้แนะแนวทางในการทำงาน อีกทั้งต้องเป็นผู้ที่มีความปรารถนา มีความทะเยอทะยานที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ แม้ว่าเป้าหมายนั้นๆ จะยากสักเพียงไหนก็ตาม

               หากผู้นำเน้นแต่การทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายแต่อย่างเดียว โดยไม่ได้นึกถึงหัวอกหัวใจของผู้ตามหรือทีมงาน ผู้นำคนนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ "เห็นแก่ตัว แล้งน้ำใจ ลูกน้องไม่รัก"

               ผู้นำไม่จำเป็นต้องเอาใจลูกน้องเพียงเพื่ออยากให้ลูกน้องรักเท่านั้น ผู้นำควรจะทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ลูกน้องคาดหวังจากผู้นำมีอะไรบ้าง

               คิดแทนลูกน้อง...ลูกน้องต้องการผู้นำที่เขาสามารถไว้ใจได้ ปรับทุกข์ได้ อยากรู้ว่าตัวท่านเองเป็นอย่างไรในสายตาลูกน้อง ลองประเมินดูตัวเองว่า ต้องพัฒนาคุณสมบัติใดเพิ่มขึ้นบ้าง
               1. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีเอื้อให้ลูกน้องสามารถปฏิบัติงานได้
               2. ดูแลจัดการทั้งในเรื่องของผลการปฏิบัติงานและความสัมพันธ์ในหน่วยงาน
               3. เข้าใจความต้องการของลูกน้อง
               4. ให้ลูกน้องทำงานด้วยตนเอง แต่พร้อมเสมอที่จะให้การสนับสนุ
               5. ตอบคำถามลูกน้องได้
               6. ตัดสินใจอย่างเป็นธรรมและนำความต้องการของลูกน้องเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
               7. ให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา
               8. ปกป้องลูกน้องจากปัญหาภายนอก
               9. ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์และความต้องการของลูกน้อง
               10. ให้ข้อมูล เวลา และทรัพยากรเพื่อให้ลูกน้องทำงานได้

               หากประเมินแล้วมองว่าตัวเองทำได้เป็นอย่างดีเยี่ยม ทุกข้อ แสดงว่า ท่านสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจ "ซื้อใจ" ของลูกทีมได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า "เก่งคน"

               องค์กรจะได้คนที่ซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความยุติธรรม มีสัจจะ รักษาคำพูด ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี

"คนดี" กับ "คนเก่ง" ต่างกันตรงนี้เอง

               นอกจากนั้นแล้วผู้นำ ต้องสามารถ เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างในยุคโลกาภิวัตน์ องค์การมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  1. มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Change in Structure)
  2. มีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี(Change in Technology)
  3. มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร(Change in People)

               ในฐานะผู้นำ ต้องยอมรับการเปลี่ยน ดังกล่าว และจะต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ทั้สามด้านได้   ฉะนั้นผู้นำในความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ในมุมมองของคนทั่วไป มักจะถูกมองว่าเป็น คนที่ เรียนเก่ง และก็เก่งงาน  แต่ถ้าดูคุณสมบัติทั้ง 10 ข้อแล้ว ผู้นำที่เป็นคนเก่ง มักจะมีจุดบกพร่องในด้านคน ไม่สามารถสร้างบรรยากาศ เข้าใจถึงสังคม และดูแลลูกน้องได้  การค้นหาผู้นำจึงต้องมีพื้นฐานด้านจิตใจ ทัศนคติ ความเข้าใจเรื่องคนค่อนข้างดี ถามว่าสร้างได้ไหม ตอบเลยว่า สร้างยากต้องใช้เวลา จึงมีคำหนึ่งบอกว่า สิ่งที่สอนกันไม่ได้ก็คือ สามัญสำนึก

               หากให้เลือกว่า อยากได้ผู้นำที่เป็น "คนดี" หรือ "คนเก่ง" ร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า อยากได้ทั้ง "คนดี" และ "คนเก่ง" ใครๆ ก็อยากได้ความสมบูรณ์แบบ แต่ในชีวิตจริงทุกวันนี้คนอาจขอ "คนดี" ก่อน .

               ผู้เขียน กฤติน กุลเพ็ง ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ บริหารวัฒนธรรมองค์กร และที่ปรึกษ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน

อัพเดทล่าสุด