ลาออกไม่ถูกต้อง หักเงินประกันการทำงานได้หรือไม่ MUSLIMTHAIPOST

 

ลาออกไม่ถูกต้อง หักเงินประกันการทำงานได้หรือไม่


1,457 ผู้ชม


ลาออกไม่ถูกต้อง หักเงินประกันการทำงานได้หรือไม่




ลาออกไม่ถูกต้อง
หักเงินประกันการทำงานได้หรือไม่

-----------------
 โดยหลักทั่วไปแล้วนายจ้างจะเรียกเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างไม่ได้ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างทำนั้นต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9,10 และตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้างลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541
-----------------
 เมื่อเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถเรียกรับเงินประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง และหากลูกจ้างได้ทำความเสียหายให้แก่นายจ้าง นายจ้างมีสิทธิหักเงินประกันการชำระหนี้ได้ แต่ถ้าลูกจ้างมิได้ก่อความเสียหายให้แก่นายจ้างในระหว่างการทำงาน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่สัญญาสิ้นสุดลง หากไม่คืนต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และหากจงใจไม่คืนเงินประกันโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จะต้องรับผิดใช้เงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างอีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างชำระทุก 7 วัน

 แต่ในฉบับนี้เป็นกรณีที่นายจ้างหักเงินประกันในการทำงานโดยอ้างว่าลูกจ้างลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบทำให้เสียหายลองติดตามดูว่าจะหักได้หรือไม่

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตำแหน่งทนายความและได้วางเงินประกันความเสียหายไว้ 9,500 บาท เมื่อทำงานเกิน 1 ปี โจทก์ลาออกและขอคืนเงินประกัน แต่จำเลยไม่คืนให้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินดังกล่าวไปจนกว่าได้ชำระเสร็จ กับให้ชำระเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันถึงกำหนดคืนหรือจ่ายเงินประกันดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ของเงินประกันที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน เป็นต้นไปจนกว่าได้ชำระเสร็จให้แก่โจทก์

 จำเลยให้การว่า โจทก์ลาออกโดยผิดเงื่อนไข เนื่องจากไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันตามสัญญาจ้างและเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประกันคืน ขอให้ยกฟ้อง

 ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 9,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่  26 ธันวาคม 2540 ไปจนกว่าได้ชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก  โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า หน้าที่ของโจทก์ วันที่ที่โจทก์ลาออก ระยะเวลาในการทำงานและการวางเงินประกันเป็นไปตามฟ้อง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  จนกว่าจะชำระเสร็จหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับในวันที่ 19 สิงหาคม 2541
 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 9 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกัน ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี"  ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยจึงจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยรับกันว่าโจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 อันเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับแก่คดีนี้ ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว  ก็มิได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดคืนเงินประกันไว้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จจึงชอบแล้ว แม้ภายหลังจะมีพระราช-บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับ และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดคืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ต่อปีก็ตาม ก็ไม่มีผลย้อนหลังและไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า จำเลยต้องเสียเงินเพิ่มแก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินประกันตามพระ- ราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  มาตรา 9 วรรคสอง เห็นว่าเมื่อคดีต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังวินิจฉัยข้างต้นและประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 31 กำหนดเพียงว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ลูกจ้างในกรณีจงใจผิดนัดในการจ้างค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเท่านั้น มิได้กำหนดเรื่องจงใจผิดนัดคืนเงินประกันด้วยแต่อย่างใด คำขอของโจทก์เรื่องเงินเพิ่มจึงไม่มีบทกฎหมายให้สิทธิที่จะเรียกได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มตามฟ้องที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืน (ความนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 9102/2546)

ที่มา: HR.Law โดย:  ยงยุทธ  ไชยมิ่ง
นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 409 ประจำวันที่ 1-15  กันยายน  2547 


อัพเดทล่าสุด