ลงชื่อในใบลาออกโดยไม่สมัครใจ MUSLIMTHAIPOST

 

ลงชื่อในใบลาออกโดยไม่สมัครใจ


693 ผู้ชม


ลงชื่อในใบลาออกโดยไม่สมัครใจ




การลาออกจากการเป็นลูกจ้าง หมายถึงการที่ลูกจ้างแสดงออกต่อนายจ้างว่าจะไม่เป็นลูกจ้างอีกต่อไป เมื่อการลาออกได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้ว ลูกจ้างก็จะไม่มีสิทธิไปฟ้องเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด แต่ในคดีนี้ ลูกจ้างอ้างว่านายจ้างได้พิมพ์หนังสือลาออกไว้ และบังคับให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อ หากไม่ยินยอมก็จะไม่จ่ายค่าจ้างให้ ลูกจ้างจึงลงลายมือชื่อทั้ง ๆ ที่ไม่สมัครใจ ลูกจ้างจึงมาฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายลอง ติดตามดูว่าศาลฎีกาท่านวินิจฉัยไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้อง และแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงาน มีกำหนด 120 วัน ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี และการเงิน ค่าจ้างเดือนละ 45,000 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 55,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือน วันที่ 22 กรกฎาคม 2545 จำเลยสั่งให้โจทก์ทำบันทึกขอขยายระยะเวลาทดลองงานออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2545

มิฉะนั้น จำเลยจะไม่จ่ายเงินเดือน และไม่จ้างโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์จำต้องทำบันทึกดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2545 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยแจ้งว่าจะไม่บรรจุโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ และบังคับให้โจทก์ลงชื่อในใบลาออก ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ไว้แล้ว มิฉะนั้นจำเลยจะไม่จ่ายเงินเดือนของเดือนกันยายน 2545 ให้โจทก์ ทั้งจำเลยยังบังคับให้โจทก์เขียนว่า ได้งานใหม่ไว้ด้วย ความจริงโจทก์ยังไม่ได้งานใหม่แต่อย่างใด โจทก์ลงชื่อในใบลาออกโดยไม่สมัครใจ การขอขยายเวลาทดลองงาน และใบลาออกจึงไม่ผูกพันโจทก์ ตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 55,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,000 บาท และค่าเสียหายต่าง ๆ รวม 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,110,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,110,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่5 ตุลาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน และโจทก์ได้รับค่าจ้างตามฟ้อง แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 2 งวด ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน วันที่ 22 กรกฎาคม 2545 โจทก์ทำบันทึกขอขยายเวลาทดลองงานอีก 4 เดือน เพราะผลงานยังไม่ดี และถูกจำเลยตักเตือนดัวยวาจาบ่อยครั้ง ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2545 หลังเวลาเลิกงาน โจทก์ยื่นใบลาออกเองเนื่องจากได้งานใหม่ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย รวมทั้งเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่า โจทก์ทำบันทึกขอยายเวลาทดลองงาน และเขียนใบลาออกโดยไม่สมัครใจ แต่เป็นเพราะถูกจำเลยบังคับ การลาออกของโจทก์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแรงงานนั้น

เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำบันทึกขอขยายเวลาทดลองงาน และเขียนใบลาออกด้วยความสมัครใจ จึงมีผลตามกฎหมาย

กรณีเป็นเรื่องโจทก์ขอลาออกจากงานเอง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่บังคับให้โจทก์ทำบันทึกขอขยายเวลาทดลองงาน และเขียนใบลาออก เป็นการวางแผนโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย และอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าบีบบังคับโจทก์ เพื่อจำเลยจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินตามกฎหมายให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า เป็นอุทธรณ์ที่มีข้อเท็จจริงต่อเนื่องเกี่ยวกันกับข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ข้อแรก ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัย จึงถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 945/2547)

ตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทุกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เพราะเหตุว่า ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังพยานหลักฐานจากคำเบิกความของฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลยเป็นที่ยุติว่า โจทก์เป็นฝ่ายเขียนใบลาออก และเป็นฝ่ายทำบันทึกขยายเวลาทดลองงาน ศาลฎีกาจึงไม่สามารถที่จะรับฟังเป็นอย่างอื่นได้ อีกทั้งการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางนั้น คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะอุทธรณ์ได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ศาลแรงงานกลางจะไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าว ล้วนเป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้น คำพิพากษาของศาลฎีกาจึงได้ออกมาเป็นเช่นนี้ แม้ว่าความจริงลึก ๆ อาจจะเป็นจริงอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม


ที่มา: Hr.Law โดย ยงยุทธ ไชยมิ่ง
ทนายความอาวุโสกลุ่ม บริษัท บีแอลซีไอ กรุ๊ป จำกัด
โทร.0 2937 3773 โทรสาร 0 2937 3770 E-mail : blci@ksc.th.com


อัพเดทล่าสุด