แมงมุมเป็นแมลงหรือไม่ โลกของแมงมุมเป็นอย่างไร MUSLIMTHAIPOST

 

แมงมุมเป็นแมลงหรือไม่ โลกของแมงมุมเป็นอย่างไร


1,452 ผู้ชม


แมงมุมเป็นแมลงหรือไม่ โลกของแมงมุมเป็นอย่างไร

โลกของแมงมุม
ตำนาน รักโบราณได้กล่าวถึงกำเนิดของแมงมุมว่า ในกาลครั้งหนึ่งที่นานมาแล้ว มีสตรีรูปโฉมงดงามนางหนึ่งชื่อ "Arachne" นางมีฝีมือทอผ้าได้สวยงามอย่างไร้ผู้ใดเทียมทานในแผ่นดิน ความสามารถที่สูงส่งของนางได้ทำให้นางรู้สึกเหิมเกริม จึงได้ท้าทายเทพธิดานาม "Athena" ให้มาทอผ้าสู้กับนาง และเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ผ้าที่นางทอมีลวดลายและสีสันสู้ผ้าที่ Athena ทอไม่ได้ นางจึงแพ้ และรู้สึกกลัวในโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ Athena จึงทรงประทานชีพคืนให้นางอีกครั้งหนึ่ง แต่ให้มีชีวิตสืบต่อไปในร่างของแมงมุมที่จะต้องชักใยตลอดชีวิต ชื่อชีววิทยาของแมงมุมจึงเป็น Arachnida ด้วยประการฉะนี้แล
แต่ในโลกของความจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แมงมุมตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดเมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อนนี้ มันจุติบนโลกพร้อมๆ กับสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และถึงแม้จะมีกำเนิดมานานก็ตามหน้าตารูปร่างของมันก็มิได้เปลี่ยนจากอดีตมาก เลย แมงมุมเป็นสัตว์พวกแมลง มันมีขา 8 ขา มีเขี้ยว แต่ไม่มีหนวด หรือปีก นักกีฏวิทยาประมาณว่าโลกนี้มีแมงมุมประมาณ 36,000 ชนิด และมีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่เล็กมากคือ มีขนาดตัวสั้นกว่า 0.43 มิลลิเมตร จนถึงพันธุ์ Theraphosa leblondi ที่พบในประเทศ Surinam ซึ่งมีขนาดลำตัวยาวถึง 28 เซนติเมตร และหนักถึง 123 กรัม ซึ่งนับว่าใหญ่ถึงขนาดจับนกเล็กๆ เป็นอาหารได้สบายๆ
ความสามารถที่เด่นเป็นพิเศษของแมงมุมคือ ความสามารถในการชักใย นักชีววิทยาประมาณว่า ถ้า เราเอาใยแมงมุมในโลกทุกตัวชักใย 1 วันมาต่อกันเป็นใยเดียวเราจะได้ใยที่ยาวพอจะพันรอบโลกได้ 1 รอบ และหากเราคอยนาน 9 วัน ใยที่แมงมุมทั้งโลกทอ จะยาวถึงดวงจันทร์เลยทีเดียว
สำหรับคำถามที่ว่าเหตุใดแมงมุมจึงชักใยนั้น ก็มีทฤษฎีที่ใช้ตอบมากมายเช่น A. Decae แห่ง National Museum of Natural History ที่เมือง Leaden ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเชื่อว่าบรรพบุรุษของแมงมุมได้เคยสร้างรังอยู่ตามฝั่งริมน้ำ มันจึงใช้วิธีปั่นใยขึ้นมาบุรังของมันเพื่อทำให้รังแข็งแรง แต่ H. Mc Cook คิดว่าบรรพบุรุษของแมงมุมใช้วิธีขับฉีดสารโปรตีนออกจากร่างกายเพื่อให้คู่ ต่อสู้ของมันติดตามมันได้ถูกทาง และโปรตีนที่ว่านั้นคือใยแมงมุมนั้นเอง ตามปกติใยแมงมุมจะมีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ในบางครั้งเราจะเห็นแมงมุมกินใยของมันเอง ทั้งนี้ก็เพื่อบริโภคน้ำที่ติดอยู่ตามใย และจริงๆ แล้วใยก็คืออาหารประเภทโปรตีนสำหรับร่างกายมัน

แมงมุม พันธุ์ Theraphosa leblondi และ Araneus diadematus
นอกจากแมงมุมจะใช้ใยในการสร้างรังแล้ว มันยังใช้ในในการดักจับเหยื่ออีกด้วย D. Edmonds แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ในประเทศอังกฤษ ได้ศึกษากระบวนการชักใยของแมงมุม และพบว่าใยของแมงมุมพันธุ์ Araneus diadematus นั้น มีสองชนิด คือ ชนิดแรกที่มันจะใช้ชักในแนวรัศมีใยนี้มีความเหนียวและแข็งแรงมาก ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่มันใช้ในแนวขวางเป็นวงๆ จะเป็นใยที่มีกาวติดทำให้สามารถรับแรงกระแทกได้ดี ดังนั้นเวลาแมลงบินเข้าไปติดใย ใยจะไม่ขาดและใยขวางที่มีกาวจะทำให้แมลงเคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้เพราะพลัง ดิ้นรนใดๆ ของเหยื่อ จะถูกใยดูดซับไปหมด
C. Craig แห่งมหาวิทยาลัย Yale พบว่าแมงมุมมักจะตกแต่งใยของมันด้วยสีต่างๆ เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้บินมาติดกับ และสีที่ใช้ในการนี้มักจะเลียนสีของดอกไม้ที่แมลงเหล่านั้นชอบ เช่น ในวันที่แดดสดใส แมงมุมพันธุ์ Nepphila Clavipus จะขับใยสีเหลืองออกมามากกว่าปกติ เพราะในสายตาของแมลงทั่วไปนั้น สีเหลืองเป็นสีของดอกไม้ และใบไม้อ่อน
นัก วิทยาศาสตร์พบว่าใยของแมงมุมหลายชนิดสามารถสะท้องแสงอุลตร้าไวโอเลตได้ ดี และตามปกติตาของคนจะมองไม่เห็นแสงชนิดนี้ แต่ตาแมลงจะมองเห็นแสงนี้ได้สบายๆ เพราะแมลงใช้แสงอุลตร้าไวโอเลตในการนำทาง ดังนั้น เมื่อแสงอุลตร้าไวโอเลตสะท้อนจากใยแมลงก็จะบินเข้าไปหาใยทันที แต่เมื่อบินเข้าไปทีไร ก็ไม่ได้บินกลับออกมาสักที แมลงจึงเกิดการเรียนรู้ และพยายามจะหลบๆ ใยแมงมุมอยู่เหมือนกัน แต่แมงมุมก็ไม่ได้ย่อท้อ มันจะใช้วิธีเปลี่ยนรูปทรงของวงใย และชักใยของมันอยู่ในที่ต่างๆ กัน โดยไม่ซ้ำสถานที่เดิม เพื่อไม่ให้แมลงจำตำแหน่งของใยได้ เช่น แมงมุม Parawixia vistriata ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ แมงมุมชนิดนี้จะชักใยที่มีขนาดใหญ่-เล็กเป็นฤดู ฤดูใดที่มีแมลงขนาดเล็กมาก ใยแมงมุมจะมีรูถี่ แต่พอถึงฤดูที่มีปลวกขนาดใหญ่มากมาย ใยของมันก็จะมีรูห่าง ตามขนาดของปลวก
แมงมุมที่นับว่ามีชื่อเสียงในทางลบ คือแมงมุมพันธุ์ Latradictus hasselti เพราะแมงมุมตัวเมียจะเคี้ยวกินตัวผู้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก นักจิตวิทยาที่รู้เหตุผลว่าเหตุใดผู้ชายตัวเตี้ยจึงชอบหลงรักผู้หญิงที่สูง คงตอบไม่ได้ว่า เหตุใดแมงมุมตัวผู้ที่เล็กจึงชอบให้ตัวเมียที่มีขนาดใหญ่กว่ากิน สําหรับเรื่องนี้ M.C.B. Andrade แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐอเมริกาได้ให้คําอธิบายว่า เพราะแมงมุมตัวผู้พันธุ์นี้มีชีวิตที่ค่อนข้างสั้น ดังนั้น มันต้องรีบสืบพันธุ์ เพื่อจะได้เป็นพ่อแมงมุมที่มีลูกสืบสกุลและถึงแม้ว่าการที่จะได้ชื่อว่าเป็น พ่อนี้ จะทำให้มันต้องตายก็ตาม มันก็ยอม
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังสนใจในความอัศจรรย์ของใยแมงมุมมาก เพราะได้มีการพบว่า ใยแมงมุมที่เบาและเหนียวนี้ หากนำมาทอเป็นผ้า จะมีสีสุกใสเหมือนสีไข่มุก ที่จะเร้าตาและตรึงใจเศรษฐินีทั้งหลาย และ ใครก็ตามที่สวมใส่เสื้อใยแมงมุมเขาจะปลอดภัยจากการถูกยิง เพราะเสื้อสามารถป้องกันกระสุนให้เขาได้ แพทย์อนาคตก็คาดหวังที่จะใช้ใยแมงมุมทำด้ายเย็บแผล เพราะนอกจากใยจะไม่เป็นพิษต่อบาดแผลแล้ว เวลามันได้รับความชื้นจากแผล มันจะหดตัว ทำให้มันมีประสิทธิภาพในการสมานแผลสูงกว่าด้ายเย็บแผลธรรมดาๆ และวิศวกรยังพบอีกว่า ใยแมงมุมนี้มีความเหนียวยิ่งกว่าเหล็กกล้าและยืดหยุ่นกว่าไนลอน มันจึงเป็นวัสดุอนาคตที่น่าสนใจนักเทคโนโลยีชีวภาพก็กำลังใฝ่ฝันที่จะพัฒนา ยีน (gene) สร้างใยของแมงมุมให้มันผลิตใยที่เหนียวขึ้น และได้มากขึ้นเพราะทุกวันนี้แมงมุมแต่ละตัวในแต่ละวันผลิตใยได้น้อย เช่น หากเราต้องการจะทอผ้าพันคอสักผืน เราต้องใช้ใยแมงมุมถึง 5,000 ตัวมาทอใยและชักใยตลอดชีวิตมัน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะทำให้คุณเห็นว่า เวลาเราเห็นแมงมุมครั้งต่อไปหากเราได้เฝ้าดูพฤติกรรมชักใย จับเหยื่อ และหาคู่ของมันเราก็คงจะได้เข้าถึงโลกเร้นลับโลกหนึ่งที่คนอีกหลายคนไม่เคย เห็นหรือรู้
ที่มา : เว็บไซต์ scimath

อัพเดทล่าสุด