https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
ปาหนันแม่วงก์ พืชชนิดใหม่ของโลก MUSLIMTHAIPOST

 

ปาหนันแม่วงก์ พืชชนิดใหม่ของโลก


1,045 ผู้ชม



พบปาหนันแม่วงก์ (Goniothalamus maewongensis R.M.K.Saunders & Chalermglin) ที่อุทยานแห่งชาติแม่่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic species) พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น   

        เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ไปสำรวจพรรณไม้ของไทยบริเวณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ในราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการ ทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) พบพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Family Annonaceae) ชนิดหนึ่ง ในเบื้องต้นคาดว่าเป็นพรรณไม้ที่ยังไม่เคยมีรายงาน พบที่ใดมาก่อนในโลก จึงเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาในรายละเอียด และหลังจาก ได้วิเคราะห์วิจัยจนแน่ชัดแล้วพบว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ (new species) ของโลกอย่างแน่นอน จึงได้ทำการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Botanical Journal of The Linnean ในปี ค.ศ.2008 โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) ว่า Goniothalamus maewongensis R.M.K.Saunders & Chalermglin ซึ่งมีชื่อท้องถิ่น (Local name หรือ vernacular name) ว่า “ปาหนันแม่วงก์” อันเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามสถานที่ค้นพบนั่นเอง

ที่มา BRT Magazine ฉบับที่ 27: ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553. หน้า 12

ประเด็นข่าว 
        ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และนิเวศวิทยาของพืชชนิดใหม่ และหลักเกณฑ์การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถุูกต้อง

กลุ่่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4

        ปาหนันแม่วงก์ เป็นไม้ต้น (tree) สูงได้ถึง 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางโคนลำต้น 10 เซนติเมตร ใบรูปรีจนถึงรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยว ออกตามโคนลำต้นหรือตามกิ่ง กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ กลีบดอกเรียง 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกสีเหลืองนวล ชั้นในสีชมพูอ่อน ขอบกลีบเรียงติดกันเป็นรูปโดม ออกดอกในราวเดือนมีนาคม ดอกบาน 2–3 วัน ดอกมีกลิ่นหอม ผลแก่ในราวเดือนกันยายน พบขึ้นอยู่ตาม ป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ขึ้นไป เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic species) กล่าวคือ พบเฉพาะในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ประเทศไทย เท่านั้น

ปาหนันแม่วงก์ พืชชนิดใหม่ของโลก

ภาพดอกปาหนันแม่วงก์ (ที่มา: https://www.siamensis.org/board/12006)


        สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์นั้น เป็นระบบการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตที่คิดค้นขึ้นโดย Carolus Linneaus นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน เป็นระบบทวินาม (Binomial) กล่าวคือ ประกอบด้วยคำ 2 คำ ได้แก่ 
        คำแรก เป็นชื่อสกุล (Generic name) ซึ่งชื่อสกุลนี้ต้องขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ สามารถเขียนคำเดียวโดดๆ ได้ ในกรณีนี้ คือ Goniothalamus 
        คำหลัง เป็นชื่อระบุชนิด (specific epithet) ซึ่งขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเล็ก ในกรณีนี้คือ maewongensis โดยชื่อระบุชนิดนี้ไม่สามารถเขียนคำเดียวโดดๆ ได้ เพราะ ไม่ให้ความหมายใดๆ ต้องเขียนตามหลังชื่อสกุลเท่านั้นจึงจะสื่อความหมายได้ นอกจากนี้หากจะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นชื่อวิทยาศาสตร์ต้องตามหลังด้วยชื่อผู้ตั้ง (Author name) ซึ่งชื่อผู้ตั้งนี้ก็คือชื่อของผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ นั่นเอง ในกรณีนี้ คือ ดร. Richard M. K. Suanders และ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นอกจากชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเขียนด้วยระบบทวินามแล้ว ยังมีหลักเกณฑ์การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ โดยสังเขป คือ 
        1.ชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเป็นภาษาลาติน (Latin) หากมีรากศัพท์จากภาษาอื่น ต้องทำให้เป็นภาษาลาตินเสียก่อน ในกรณีนี้ เช่น maewong ซึ่งเป็นสถานที่พบครั้งแรก เมื่อทำให้เป็นภาษาลาตินก็โดยวิธีการเติม –ensis ได้ maewongsis เป็นต้น ทั้งนี้หลักเกณฑ์การทำให้เป็นภาษาลาตินยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สลับซับซ้อนอีกมากมาย 
        2.ชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเขียนให้แตกต่างจากบริบท เช่น อาจเขียนด้วยตัวหนา ตัวเอียง หรือขีดเส้นใต้ แต่ทั้งนี้หากขีดเส้นใต้ต้องเว้นระยะระหว่างคำสองคำด้วย เช่น Goniothalamus maewongensis R.M.K.Saunders & Chalermglin นอกจากนี้ชื่อผู้ตั้งก็ให้เขียนด้วยตัวอักษรปกติ ไม่ต้องใช้ตัวหนา ตัวเอียง หรือ ขีดเส้นใต้แต่ประการใด

ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย 
        1.เหตุใดจึงพบปาหนันแม่วงก์ เฉพาะในบริเวณป่าดิบเขาของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ของประเทศไทยเท่านั้น 
        2.นอกจากจะมีเขตการกระจายพันธุ์ที่จำกัดแล้ว การที่เราจะช่วยอนุรักษ์พืชดังกล่าวไว้ไม่ให้สูญพันธุ์จะสามารถทำได้อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ 
        1.สำรวจตรวจสอบ สืบค้นข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตตามเอกสารต่างๆ แล้วพิจารณาว่าเขียนถูกต้องตามหลัก การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องหรือไม่ 
        2.สำรวจ สังเกต และบันทึกข้อมูลลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชที่พบตามธรรมชาติในท้องถิ่น

แหล่งอ้างอิง 
        BRT Magazine ฉบับที่ 27: ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553. หน้า 12 
        https://www.biotec.or.th.brt
        https://www.siamensis.org/board/12006
        html https://www.e-travelmart.com/club_09.html
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2181

อัพเดทล่าสุด