ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ กลยุทธ์ make-to-order ความสำเร็จของ Dell MUSLIMTHAIPOST

 

ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ กลยุทธ์ make-to-order ความสำเร็จของ Dell


791 ผู้ชม


กรณีศึกษาของ Dell นั้นถือว่าเป็นตัวอย่างของกรณีศึกษาทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่ใช้สอนกันโดยทั่วไปในระดับ MBA

ประวัติของบริษัทก็เหมือนกับบริษัททางด้านคอมพิวเตอร์ที่เรารู้จักกันดี ผู้ก่อตั้งคือ Michael Dell ที่ในขณะที่เรียนปริญญาตรีก็เริ่มซื้อชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์มาประกอบขายจนมีรายได้ดีและมองเห็นลู่ทางในการเติบโตจนต้องลาออกมาจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาทำธุรกิจประกอบและขายคอมพิวเตอร์

สิ่งที่ทำให้ Dell ประสบความสำเร็จและโดดเด่นกว่าผู้ประกอบและขายคอมพิวเตอร์รายอื่นๆก็คือแนวคิดทางธุรกิจ (Business Model) ที่มีความแตกต่างจากเจ้าเดิมๆในขณะที่ผู้ประกอบและขายคอมพิวเตอร์เจ้าเดิมๆ นั้นใช้กลยุทธ์ make-to-stock ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงและกำไรที่ต่ำ

แต่ Dell กลับใช้วิธีการที่เรียกว่า make-to-order การผลิตตามคำสั่งซื้อ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของ Dell ถูกกว่าคู่แข่งและในขณะเดียวกันลูกค้าก็ได้รับสินค้าตามที่ตนเองต้องการ

make-to-stock นั้นคือผู้ผลิตจะทำการพยากรณ์ความต้องการของผู้ซื้อว่ามีอยู่เท่าใด ในลักษณะใดบ้างหลังจากนั้นก็ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วส่งไปจัดเก็บที่คลังสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังผู้แทนจำหน่ายอีกทีหนึ่ง

ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่าในเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องมีชิ้นส่วนและองค์ประกอบมากมาย การ make-to-stock นั้นเหมือนกับการยัดเยียดสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วให้กับผู้บริโภคโดยตัวผู้บริโภคเองอาจจะต้องการหรือไม่ต้องการชิ้นส่วนบางอย่างในเครื่องนั้นก็ได้

นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นตกรุ่นได้ง่ายถ้าผู้ผลิตคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคผิดไปก็จะทำให้เหลือสินค้าที่ขายไม่ออกอยู่เยอะส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มพูนสูงขึ้น

ส่วนแนวคิดแบบ make-to-order นั้นผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ของ Dell ผ่านทางอินเทอร์เน็ต (หรือผ่านพนักงานขายโดยตรง)สามารถที่จะเลือกส่วนประกอบภายในคอมพิวเตอร์ตามที่ตนเองต้องการคำสั่งซื้อนั้นจะถูกส่งไปที่ Dell ซึ่งทาง Dell ก็จะประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งซื้อของผู้บริโภคและจัดส่งคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้บริโภคสั่งซื้อกลับไปให้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้นแทนที่เมื่อประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วจะต้องมีคลังสินค้าเอาไว้เก็บและส่งไปยังผู้แทนจำหน่ายอีกที ก็ไม่ต้อง เนื่องจาก Dell สามารถส่งสินค้าตรงไปยังผู้บริโภคได้โดยตรงทำให้ลดต้นทุนในการจัดเก็บและต้นทุนที่เสียให้กับผู้แทนจำหน่ายนอกจากนั้นเนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ Dell ประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ที่ประกอบขึ้นมาตามความต้องการของลูกค้าโดยตรง ทำให้ Dell ไม่ประสบกับปัญหาที่ประกอบออกมาแล้วขายไม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนที่ต่ำของ Dell

และในขณะเดียวกันลูกค้าของ Dell เองก็ได้รับคอมพิวเตอร์ตามที่ตนเองต้องการไม่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ พูดง่ายๆ ว่า แนวทางของ Dell นั้นมีประโยชน์ทั้งขึ้นและล่อง นั้นคือทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำกว่าของคู่แข่งและในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้บริโภคมีความพอใจต่อสินค้าที่ได้รับมากขึ้น

จริงๆ แล้ววิธีการของ Dell ไม่ได้ง่ายเพียงแค่ที่เขียนมาข้างต้นเนื่องจากจะต้องมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ระบบการจัดส่ง (Logistics) ที่สมบูรณ์ระบบการบริหารวัตถุดิบแบบ Just-in-Time (JIT)

หรือแม้กระทั่งความพร้อมและความร่วมมือของผู้ที่เป็น Suppliers คู่แข่งของ Dell หลายเจ้าก็พยายามลอกเลียนรูปแบบทางธุรกิจ แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จเนื่องจากสาเหตุที่ต่างกันออกไป รูปแบบทางธุรกิจของ Dell เรียกได้ว่าเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer: PC) อย่างมโหฬารเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ที่เคยได้เปรียบในการแข่งขันให้กลายมาเป็นผู้เสียเปรียบไปเลย

ในปัจจุบัน Dell เป็นผู้ประกอบและขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอันดับหนึ่งทั่วโลกและคงยากที่จะมีใครมาโค่นลงได้ ขณะเดียวกันก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะมาแข่งกับ Dell ในธุรกิจนี้เท่าใด จะสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันกลยุทธ์ของคู่แข่งสำคัญอย่างทั้ง IBM และ Compaq (หรือ HP) ได้หันไปให้ความสนใจต่อด้านอื่นมากกว่าเพียงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบธุรกิจของ Dell ที่ทำให้สามารถประกอบและขายเครื่องได้ถูกกว่าชาวบ้านเขาตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารก็คงยากที่จะมีใครโค่น Dell จากตำแหน่งผู้นำในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลงได้

นอกจากนี้ในปัจจุบันธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเรียกว่าอยู่ในขาลง ใน 2-3 ปีที่ผ่านมายอดขายเริ่มลดลงจากในอดีตและในขณะเดียวกันเวลาเฉลี่ยกว่าที่จะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ขององค์กรธุรกิจต่างๆก็ยาวขึ้นเป็น 41 เดือน ส่วนของผู้บริโภคตามบ้านก็อยู่ที่ประมาณ 5 ปีแสดงว่าช่วงระยะเวลากว่าที่จะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นานขึ้นกว่าปกติ

อีกทั้งยังไม่มีสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ๆที่ออกมาจากทั้ง Intel และ Microsoft ที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ในปัจจุบันการขายเครื่องนั้นมักจะเน้นแข่งขันกันที่ราคาเป็นหลักก็เรียกได้ว่าเข้าทางของ Dell เขาเลยทีเดียวเพราะไม่มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลกเจ้าใดอีกแล้วที่มีรูปแบบของธุรกิจที่ต้นทุนถูกกว่าของ Dell

นอกจากนี้กลยุทธ์อีกหลายอย่างของ Dell ก็น่าสนใจทั้งกลยุทธ์การเติบโตและกลยุทธ์การแข่งขันในปัจจุบันหลังจากที่ตลาดคอมพิวเตอร์ในอเมริกาและส่วนอื่นของโลกเริ่มอิ่มตัว Dell ก็หันไปบุกตลาดจีนอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันยอดขายของ Dell ในจีนยังเป็นที่สามอยู่แต่ Dell มุ่งมั่นกับตลาดจีนมากถึงขนาดตัดสินใจไปเปิดโรงงานประกอบคอมพิวเตอร์ในจีนทีเดียว

นอกจากนี้ Dell เองก็เริ่มมองการมุ่งเน้นอยู่แต่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคงไม่พอต่อการเติบโตในอนาคตทำให้ในปัจจุบันได้ทำการขยายเข้าสู่อีกหลายธุรกิจ ทั้ง Servers, Storage, PDA, Printer หรือแม้กระทั่งเริ่มเมียงมองเข้าสู่ธุรกิจการให้คำปรึกษาในการวางระบบด้วย

ส่วนกลยุทธ์ในการแข่งขันของ Dell นั้นก็น่าสนใจ Dell ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมในตัวสินค้ามากเหมือนคู่แข่งรายอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ Dell จะไม่รีบกระโจนไปผลิตแต่จะรอให้นวัตกรรมใหม่นั้นเริ่มที่จะเป็นที่ยอมรับและอยู่ตัวก่อนค่อยส่งผลิตภัณฑ์ของตนเองเข้าสู่ตลาดแต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าชาวบ้านและคุณภาพสินค้าที่ไม่แตกต่างกัน

เช่น ในกรณีของคอมพิวเตอร์แบบพกพา (PDA) ที่ Dell ปล่อยให้เจ้าอื่น ทำตลาดไปก่อน แล้วเพิ่งออกสินค้าของตัวเองเมื่อปลายปีที่ผ่านมาแต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าคนอื่น

ความสำเร็จของ Dell นั้นเกิดขึ้นจากการคิดค้นรูปแบบทางธุรกิจที่แตกต่างจากคู่แข่งและทำให้ตนเองเกิดความได้เปรียบ เหนือคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนขณะเดียวกัน Dell ก็ไม่ละเลยต่อการกำหนดกลยุทธ์ ในการเติบโตต่อไปในอนาคตและการยึดมั่นต่อกลยุทธ์ในการแข่งขันที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ
ที่มา ;https://www.bizexcenter.com/กรณีศึกษาทางธุรกิจ/ความสำเร็จของ-Dell.html

อัพเดทล่าสุด