พัฒนาการเด็ก, พัฒนาการเด็กวัย 1 ขวบ, พัฒนาการเด็ก1ขวบ, แม่และเด็ก MUSLIMTHAIPOST

 

พัฒนาการเด็ก, พัฒนาการเด็กวัย 1 ขวบ, พัฒนาการเด็ก1ขวบ, แม่และเด็ก


2,343 ผู้ชม


ความสามารถใหม่ ๆ ของลูกวัย 1 ขวบ

พัฒนาการเด็ก, พัฒนาการเด็กวัย 1 ขวบ, พัฒนาการเด็ก1ขวบ, แม่และเด็ก


ความสามารถใหม่ ๆ ของลูกวัย 1 ขวบ
(M&C แม่และเด็ก)
           วัยแรกเกิดจนถึง 3 ปี ถือว่าเป็นช่วงทองของชีวิต เนื่องจากเป็นระยะที่ระบบประสาทและสมองของเด็กเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด การปลูกฝังและสร้างเสริมพัฒนาการทุก ๆ ด้านให้แก่เด็กในวัยนี้ จึงได้ผลอย่างเต็มศักยภาพ มากกว่าการปลูกฝัง และสร้างเสริมในช่วงวัยอื่น ๆ
           และช่วงวัยครบขวบปีแรก ถือเป็นช่วงสำคัญมาก สำหรับเด็ก ๆ ในวัย 1 ปี วัยนี้แม้ลูกจะไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็วเท่ากับช่วงจากวัยแบเบาะจนก้าวเดินได้ แต่พัฒนาการด้านอื่น ๆ จะเด่นชัดขึ้น
           มาค้นพบความสามารถใหม่ ๆ ของพวกเค้าไปพร้อม ๆ กันค่ะ
ทำไมลูกดูไม่ค่อยโต

           อย่างที่บอกค่ะว่า เด็กวัยนี้มักไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อัตราการเจริญเติบโตจะช้า ความอยากอาหารก็ลดน้อยลงไปด้วย แถมยังเรื่องอื่น ๆ ที่เค้าอยากทำมากกว่าการกินตั้งเยอะ พูดง่าย ๆ ก็คือห่วงเล่นนั่นล่ะค่ะ
           แต่ระบบการย่อยอาหารพัฒนาขึ้น คุณแม่จึงควรเริ่มให้อาหารอย่างอื่นเป็นอาหารหลักที่นอกจากนมได้แล้ว โดยเริ่มฝึกให้ลูกทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ให้ติดเป็นนิสัยและลดปริมาณนมลง ในกรณีที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร ร้องจะทานนมคงต้องใช้ความใจเย็น ฝึกวันละเล็กวันละน้อย ปริมาณนมที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ 16-24 ออนซ์ หรือวันละ 2-3 ขวด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าลูกเจริญอาหารเพียงใดด้วย
           นอกจากนี้ควรฝึกให้เด็กดื่มนมจากแก้ว ระหว่างมื้ออาหารหลักของเด็กควรให้อาหารว่างเสริมด้วย เช่น ขนมปัง ผลไม้ หรืออาหารว่างอื่น ๆ ตามที่คุณแม่เห็นว่าเหมาะสม แต่ไม่ควรให้เป็นขนมหวานหรือลูกอม ควรให้เค้าได้ทดลองทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงลักษณะของอาหารที่ต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องความเหนียวที่มากน้อยไม่เท่ากัน จะช่วยให้เด็กรู้จักพัฒนาหวานสามารถในการควบคุมการเคี้ยวและการกลืนให้สัมพันธ์กันได้ แต่ในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลานานนับเดือน เพราะหนู ๆ มักจะอยากเล่นมากกว่าที่จะสนใจเรื่องอาหาร คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ นะคะ
ไม่ยอมหลับยอมนอน

           ช่วงนอนหลับตอนกลางวันของหนูน้อย วัยครบขวบจะเริ่มสั้นลงและตื่นอยู่ได้นานขึ้นโดยการนอนในเวลากลางวันนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังให้ลูกนอนนาน ๆ ถ้าลูกของคุณนอนได้วันละ 2 ครั้ง และหลับนานครั้งละประมาณ 20-30 นาที ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของเด็กแล้ว และไม่ควรกักขังเด็กอยู่ในแปลเพื่อจะบังคับให้เค้าหลับ แต่ควรจะปล่อยเด็กออกมาเล่นหรือออกกำลังกายข้างนอกจะดีกว่า
           ส่วนช่วงกลางคืน ควรฝึกให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา โดยเมื่อถึงเวลานอนควรปิดไฟดวงใหญ่ แล้วเปิดไฟสลัว ๆ พาลูกเข้านอนพร้อมกับร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ฟัง ลูกควรหลับภายใน 15-30 นาที ถ้าเป็นเด็กนอนยากจริง ๆ การอนุญาตให้เค้าดูดนมขณะฟังนิทานไปด้วย จะช่วยให้เด็กหลับง่ายขึ้นแต่ก็ต้องระวังเรื่องฟันผุด้วยนะคะ
ความสามารถในการฟังและการออกเสียง
           เด็กอายุ 1 ขวบ เริ่มรู้จักชื่อตัวเองแล้ว เมื่อถูกเรียกชื่อก็จะหันมามองตามเสียงเรียก และสามารถเข้าใจคำพูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่เป็นคำสั่งประกอบท่าทาง เช่น สั่งว่าให้นอนพร้อมกับตบหมอนประกอบ เด็กก็จะนอนตามคำสั่งได้
           ส่วนการออกเสียงนั้น เมื่อเด็กอารมณ์ดีก็จะคุยจ้อเสียงดัง แต่มักจะยังไม่เป็นคำพูด คนที่ไม่คุ้นเคยกับเด็กจะฟังไม่เข้าใจ แต่คุณแม่หรือคนในครอบครัวจะเข้าใจได้
           เมื่อพบคนคุ้นเคยเด็กจะแสดงอาการให้รู้ว่ารู้จัก เช่น ยิ้มกว้าง หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ส่งเสียงแสดงอาการทักทาย และโบกมือ บ๊ายบายได้
           ครั้นพอ 2 ขวบเด็กจะเรียกร้องความสนใจจากแม่บ่อยขึ้น ถือเป็นระยะติดแม่และรู้จักดื้อ และแสดงอาการฉุนเฉียวเมื่อมีความรู้สึกไม่พอใจ พฤติกรรมในขั้นปฏิเสธของเด็ก เช่น ไม่ยอมทำตามที่ผู้ใหญ่บอก ร้องไห้ เกเร อาละวาด อาจทำให้คุณแม่หงุดหงิด แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะนี่เป็นสัญญาณของพัฒนาการที่เป็นไปตามปกติของเด็กวัย 1-2 ขวบ
พัฒนาการกลไกต่าง ๆ ของร่างกาย
           เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง เด็กจะคุกเข่าหรือนั่งชันเข่าได้โดยไม่ต้องใช้มือค้ำหรือเดินด้วยเข่าโดยใช้มือจับราว โดยไม่ล้ม และจะชอบเล่นของที่ผลัก หรือดึงให้เคลื่อนที่ได้
           ในช่วงนี้เด็กเริ่มเดินได้คล่องสามารถหยุดเดินหรือก้าวเดินต่อได้ดังใจ การก้าวเท้าสัมพันธ์กับการแกว่งแขนเด็กไม่จำเป็นต้องเดินเตาะแตะกางแขนรักษาสมดุลของร่างกายอีกต่อไป
           พ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กวัยนี้ได้เคลื่อนไหวและสนองความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ โดยจัดสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจค้นหาได้ตามต้องการอย่างปลอดภัย หรืออาจพาไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ โดยคอยดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับร่วมเล่นกับลูกเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ความกระตือรือร้นและความสนุกสนานเพลิดเพลิน และหมั่นคุยกับลูกเพื่อช่วยในการพัฒนาการใช้ภาษาของลูก

พัฒนาการของสายตาและการใช้มือ
           เด็กสามารถจำคนคุ้นเคยได้ในระยะ 6 เมตร ถ้ามีสิ่งเคลื่อนไหวอยู่ในระยะประตูห้อง เด็กจะจ้องดู และเริ่มดูรูปภาพโดยใช้ความสังเกต เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่งจะรู้จักชี้ชวนให้มองของที่สะดุดตาในระยะห่างพอสมควร
           เด็กวัย 1 ขวบ ชอบของเล่นที่มีเสียงเป็นพิเศษ แต่อาจจะสนใจไม่นานแล้วก็โยนทิ้ง และชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น หยิบโน่นใส่นี่เลียนแบบการทำงานของผู้ใหญ่ เทของออกจากภาชนะได้ สามารถหาของจากที่ซ่อนพบ ชอบเล่นตีน้ำ เพื่อให้เกิดเสียงดังแปะ ๆ และเมื่อมีของเล่นวางไว้ใกล้ ๆ เด็กจะเล่นได้ตามลำพังเป็นเวลานานพอสมควร
           เด็กสามารถใช้มือถือช้อนได้แต่ยังป้อนใส่ปากไม่เป็น สามารถจับถ้วยได้ด้วยตนเอง รู้จักถือของชิ้นเล็ก ๆ ได้โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วชี้ จับของสองสิ่งกระแทกกันได้ และหัดใช้มือทำงานทีละข้าง ต้องรอจนถึงอายุ 2 ขวบจึงจะบอกได้ว่า เด็กถนัดใช้มือซ้ายหรือมือขวา

อัพเดทล่าสุด