เคล็ดลับ "ขับรถหน้าฝน" ไม่เสี่ยงอันตราย ลดอุบัติเหตุ รถไม่พัง MUSLIMTHAIPOST

 

เคล็ดลับ "ขับรถหน้าฝน" ไม่เสี่ยงอันตราย ลดอุบัติเหตุ รถไม่พัง


206 ผู้ชม

เคล็ดลับ "ขับรถหน้าฝน" ไม่เสี่ยงอันตราย ลดอุบัติเหตุ รถไม่พัง


เคล็ดลับ "ขับรถหน้าฝน" ไม่เสี่ยงอันตราย ลดอุบัติเหตุ รถไม่พัง

เปิดเคล็ดลับ "ขับรถหน้าฝน" ไม่เสี่ยงอันตราย ลดอุบัติเหตุ รถไม่พัง

ช่วงฤดูฝน ยามฝนตกอาจช่วยบรรเทาความร้อนและลดปัญหาฝุ่นควัน แต่สิ่งที่มักมาคู่กันและพบเจอบ่อยครั้งสำหรับผู้ขับขี่รถบนท้องถนนก็ คือ อุบัติเหตุจากฝนตกถนนลื่น ปัญหาน้ำท่วมขัง หรือปัญหาเกี่ยวกับความพร้อมของรถ และทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ขับขี่มีโอกาสเสี่ยงกับอันตราย roddonjai.com จึงแนะนำ 7 ข้อห้ามเมื่อขับรถฝ่าฝนเพื่อความปลอดภัย ขับขี่ราบรื่นจนถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ ดังนี้

1. ห้ามขับรถเร็ว ผิวถนนที่มีฝุ่นหรือคราบน้ำมัน เมื่อเปียกน้ำจะมีความลื่นมากกว่าปกติ หากขับขี่มาด้วยความเร็ว รถอาจจะเสียหลัก ผู้ขับขี่อาจจะตกใจจนควบคุมรถไม่ได้และพลาดเกิดอุบัติเหตุ

2. ห้ามสตาร์ตเครื่องใหม่ทันที หากขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ เพราะเครื่องยนต์อาจเสียหายได้ หากหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรขับบนพื้นผิวที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันรถเหินน้ำ แต่เมื่อจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำให้จับพวงมาลัยให้แน่น

หากระดับน้ำสูงแตะท้องรถ ให้ปิดเครื่องปรับอากาศหรือระบบไฟฟ้าอื่นๆ ไปก่อน และไม่ควรผ่อนคันเร่ง เพราะคลื่นน้ำจากรถคันอื่นที่ร่วมเส้นทางอาจจะกระแทกเข้าเครื่องยนต์ ทำให้รถดับได้ สำหรับผู้ขับขี่รถขนาดเล็ก ควรประเมินระดับน้ำให้ดีก่อนนำรถลุยน้ำ

3. ห้ามขับรถตีคู่กับรถคันใหญ่ เพราะคลื่นน้ำจากล้อรถคันใหญ่อาจจะสาดเข้ามาที่กระจกหน้ารถ ทำให้ทัศนวิสัยเสียไป และผู้ขับขี่อาจจะตกใจจนเผลอปล่อยมือจากพวงมาลัย จนรถเสียหลักเซถลาออกนอกเลนได้

4. ห้ามขับจี้คันหน้า แต่ให้เว้นระยะห่างให้มากกว่าปกติ เพื่อเผื่อระยะการเบกบนพื้นถนนที่มีความลื่น เพราะระยะการเบรกจะมากกว่าบนพื้นถนนแห้ง หรือบนพื้นถนนที่มีน้ำท่วมขังระบบเบรกอาจจะไม่ตอบสนองเหมือนยามขับขี่บนพื้นถนนปกติ การเว้นระยะห่างให้มากขึ้นจะช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุได้

5. ห้ามเหยียบเบรกกะทันหัน เพราะรถอาจจะเสียการทรงตัวจากถนนลื่น แต่ควรแตะเบรกทีละนิด เพื่อช่วยไล่น้ำออกจากผ้าเบรก ทำให้ระบบเบรกทำงานได้เป็นปกติ

6. ห้ามเปิดไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก หากต้องขับรถท่ามกลางฝนตกหนัก เพราะจะสร้างความสับสนให้รถคันอื่น รวมถึงไม่ควรเปิดไฟสูง หรือไฟตัดหมอก เพราะแสงไฟอาจจะส่องแยงตาผู้ขับขี่รถคันอื่นจนเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ให้เปิดไฟหน้า เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็น และเพื่อให้รถที่ตามมามองเห็นรถเราได้ง่ายขึ้น

7. ห้ามฝืนขับต่อไป หากฝนตกหนักมากจนระดับการมองเห็นต่ำกว่า 10 เมตร แต่ควรจอดรถพักข้างทาง หรือหาจุดปลอดภัยหยุดพักก่อน รอจนฝนเบาลงแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดปัจจัยต้นเหตุของสิ่งที่ไม่คาดฝันทั้งที่เกิดขึ้นจากตัวเราเองและเพื่อนร่วมทาง จึงควรเริ่มต้นป้องกันปัญหา ด้วยการตรวจเช็กสภาพยานพาหนะที่เราใช้งานอยู่ ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอดังนี้

การตรวจเช็กสภาพรถยนต์ ในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันอันตรายในการขับขี่

1. ใบปัดน้ำฝน ยางปัดยังคงมีสภาพใช้งานได้ ใบยางกรีดน้ำฝนออกจากกระจกได้เกลี้ยง ไม่ทิ้งคราบรอยเส้นบนกระจกหลังปัด และควรผสมน้ำยาล้างกระจกหรือน้ำยาล้างจานลงในหม้อน้ำฉีดกระจกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้น้ำไม่เกาะติดกระจกบดบังทัศนวิสัยขณะขับเวลาฝนตก

2. ระบบไฟ ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟฉุกเฉิน รวมถึงแบตเตอรี่ ที่ยังคงสภาพการใช้งานได้ดี หากตรวจพบหลอดไฟขาด ให้เปลี่ยนทันที หรือแบตเตอรี่ที่ใช้งานมานานกว่าปีครึ่งถึงสองปี จะมีกำลังไฟต่ำถึงต่ำมาก ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ เพิ่มความอุ่นใจว่ารถจะไม่ไปตายกลางทางที่เราไม่คุ้นเคย

3. ระบบเบรก ทำงานทันทีจากการเหยียบเบรกเพียงครั้งเดียวที่ระยะไม่ลึกเกินไป และไม่ตื้นเกินไป แต่ที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือห้ามขับเร็ว และรักษาระยะห่างกับรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพราะในสภาพที่ถนนเปียกแฉะ น้ำที่เกาะผ้าเบรกอาจจะทำให้ระยะเบรกทำงานคลาดเคลื่อนไปได้

4. ยางล้อทั้งสี่เส้น ควรอยู่ในสภาพดี เพื่อให้ช่วยทรงตัวหากต้องมีการเบรกกะทันหันขณะฝนตก และช่วงหน้าฝน ควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติ ความแข็งของยางจะช่วยรีดน้ำจากหน้ายาง ทำให้ล้อยางเกาะถนนได้ดีขึ้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/

อัพเดทล่าสุด