ลักษณะของคนที่ไม่ก้าวหน้าในการทำงาน MUSLIMTHAIPOST

 

ลักษณะของคนที่ไม่ก้าวหน้าในการทำงาน


700 ผู้ชม


ลักษณะของคนที่ไม่ก้าวหน้าในการทำงาน




คนเราเมื่อเรียนจบก็อยากทำงานและมีความก้าวหน้าในการทำงาน อยากได้เงินเดือนสูง มีตำแหน่งหน้าที่ที่ดี มีอนาคต และมีความสุขในการทำงาน
       
        แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่ก้าวหน้าในการทำงาน และมักก่อให้เกิดปัญหาในที่ทำงานด้วย เป็นที่หนักใจของผู้บริหารองค์กรนั้น
       
        เวลาที่ผมไปนำสัมมนาตามบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ก็มักได้รับการปรึกษาจากผู้บริหารถึงวิธีพัฒนาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งบางคนก็พัฒนาได้ง่าย บางรายก็ยากมากในการจะหาทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนอยากดีขึ้นทั้งนั้น ทุกคนอยากได้รับรางวัล อยากมีความสุข แต่ที่เขาทำตัวไม่เหมาะสม หรือมีบุคลิกทำให้เกิดปัญหาในการทำงานและไม่ก้าวหน้าในการทำงานนั้น อาจมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิต พื้นฐานนิสัยและบุคลิกภาพ ปมด้อย หรือแรงกดดันต่าง ๆ ซึ่งเราต้องเข้าใจและหาทางช่วยเหลือต่อไป
       
       
ผมได้รวบรวมลักษณะของคนที่มักไม่ก้าวหน้าในการทำงาน หรือมักมีปัญหาในการทำงาน ได้แก่
       
        1. มีปัญหาในการสื่อความหมาย
นับเป็นปัญหาสำคัญมาก เป็นพวกที่พูดกันเข้าใจยาก เข้าใจผิดบ่อย ๆ ขาดสมาธิในการฟัง มีความผิดปกติในการพูดและสื่อความหมาย บางรายทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรมาก
       
        2. ก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ มักแสดงออกเต็มที่ (เป็นพวก Impulsive Personality) เมื่อแสดงความก้าวร้าวไปแล้วมักเสียใจ อยากแก้ตัว แต่ก็ทำซ้ำ ๆ อีก
       
        แต่บางคนก้าวร้าวจนเป็นนิสัย (Aggressive Personality) มักทำเป็นประจำและไม่รู้สึกผิดด้วย
       
        3. ใจแคบ ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานได้ยาก ไม่เห็นใจคนอื่น ไม่มีการอะลุ้มอล่วย มักทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ง่าย
       
        4. ย้ำคิดย้ำทำ ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ คิดซ้ำ ๆ เปลี่ยนแปลงยาก มักเป็นคนที่หวังผลการทำงานเต็มร้อย แต่ก็ทำไม่ได้ ชอบตำหนิคนอื่น ทำให้ขาดพลังในการทำงานเป็นทีม
       
        5. ใจน้อย ทำให้โกรธง่าย มักประชดหรือแกล้งประท้วง และทำผิดได้ง่าย ต้องการให้คนชื่นชมและสนใจเขา บางรายถูกนายตำหนิเกิดความใจน้อยขนาดแกล้งทำให้เครื่องจักรในโรงงานเสียหายก็มี
       
        6. ระแวง มักมองคนอื่นเป็นคู่แข่งและศัตรู มักอิจฉา แข่งขันสูง ขาดวินัยในตัวเอง
       
        7. ขี้เกียจ เป็นบุคลิกภาพที่ไม่ดี
       
        8. ต่อต้านสังคม ชอบขัดนโยบาย กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ชอบประท้วง โกหก และทำผิดได้ง่ายแม้การทำผิดกฎหมาย
       
        9. ไม่รับผิดชอบ ขาดคุณธรรม มักเอาแต่ได้
       
        10. พวกดีแต่พูด ขาดวุฒิภาวะ มักขาดสติ และไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน
       
        11. ขาดกำลังใจ มักลาป่วยบ่อย ๆ เวลาขาดกำลังใจ เป็นคนอ่อนแอ
       
        12. ดีแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำ กลัวการทำผิดพลาด ขาดความมั่นใจตัวเอง ทำให้ขาดผลงาน
       
        13. มีความเป็นเด็กสูง ขาดวุฒิภาวะ ไม่รับผิดชอบ แต่ชอบสนุกสนานเฮฮาไปวันหนึ่ง ๆ
       
        14. หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่ง ถูกต้อง หรือดีอยู่คนเดียว มักดูถูกคนอื่นและแยกตัว เป็นที่เกลียดชังของคนในองค์กร
       
        15. พวกดูถูกตัวเอง มักมองตัวเองต่ำต้อย ชอบบ่นถึงความไร้วาสนาและด้อยคุณภาพของตน น่ารำคาญ
       
        16. พูดไม่เป็น บางคนปากกับใจตรงกันมากไป มักพูดดูถูกคนอื่น หรือพูดไม่เพราะ พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดและคนอื่นไม่อยากฟัง มีศัตรูในองค์กรมาก
       
        17. โรคจิต-ประสาท บางรายเข้าข่ายเป็นโรคประสาท มีความกังวลมาก มักทำให้บรรยากาศรอบตัววุ่นวายและไม่มีความสุข บางคนเข้าข่ายโรคจิต สร้างโลกของตัวเอง กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคจิตก็เสียหายไปมาก
       
        18. อารมณ์ไม่ดี ไม่มีความสุข (EQ ต่ำ) ทำให้คนรอบข้างไม่เบิกบาน
       
        19. กังวลเกี่ยวกับผลตอบแทนมากไป เช่น งกเงิน อยากได้ค่าตอบแทนมาก ๆ มักท้อถอยในการทำงานหรือออมแรงในการทำงาน
       
        20. ขาดความรู้เฉพาะตัวเฉพาะงานของตน ขาดความสามารถทางเทคโนโลยี เช่น เป็นพนักงานขาย แต่ไม่รู้วิธีขาย เป็นพนักงานบัญชี แต่ไม่รู้เรื่องบัญชี
       
        ในการพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ทางจิตวิทยาและวิธีการที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาให้เขาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารร่วมกับแผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยการพัฒนากันเองหรืออาจเชิญวิทยากรภายนอกเข้าช่วยพัฒนาด้วย

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด