หลักการสร้างบารมีในที่ทำงาน MUSLIMTHAIPOST

 

หลักการสร้างบารมีในที่ทำงาน


830 ผู้ชม


หลักการสร้างบารมีในที่ทำงาน




ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นข่าวฮอตตามหน้าหนังสือพิมพ์บ้านเราคงหนีไม่พ้นกรณีการตามหาตัว "ผู้มีบารมี" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเปิดประเด็นเอาไว้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา กระทั่งวันนี้ก็ยังไม่เฉลยออกมาชัดเจนว่าผู้มีบารมีที่ว่านั้นคือใคร แต่ที่แน่ๆ คำว่า "ผู้มีบารมี" นี้ได้กลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ถูกกล่าวขวัญถึงในแทบทุกวงการไปเสียแล้ว

ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องของผู้มีบารมีที่เกี่ยวกับประเด็นร้อนๆ ทางการเมือง แต่จะขอหยิบยกเรื่องของการสร้างบารมีในที่ทำงานซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะส่งเสริมให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนเรื่อยไปถึงผู้ที่ได้ชื่อว่าทำงานเป็นนายตัวเอง สามารถกลายเป็นคนทำงานคุณภาพทั้งในแง่ของผลงานและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานได้มากล่าวถึงกัน

ในสังคมคนทำงานนั้นมักมีความเชื่อที่ฝังอยู่ลึกๆ ว่าบารมีเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเช่นนั้นเสมอไป เพราะความหมายของคำว่าบารมี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นอกจากจะหมายถึงคุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่แล้ว ยังหมายถึงคุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา ผู้มีบารมี จึงหมายถึง ผู้มีคุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา ดังนั้นในความจริงแล้วทุกคนสามารถสร้างสมบารมีได้ด้วยการบำเพ็ญความดีนั่นเอง เช่นเดียวกับชีวิตการทำงานที่ทุกคนสามารถสร้างสมบารมีได้ตั้งแต่เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้ก้าวหน้าเติบโตขึ้นสู่ระดับผู้บริหารหรือนั่งเก้าอี้ประจำตำแหน่งซีอีโอเสียก่อน

ทั้งนี้ คุณความดีที่ทั้งลูกน้องและซีอีโอควรมี ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึง "บารมี 10 ประการ" ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ควรนำมาปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ในนามของ "ทศบารมี" ดังนี้คือ

-- ทานบารมี (การให้ทาน) ทรงมีอัธยาศัยไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มีพระทัยเผื่อแผ่เฉลี่ยความสุขแก่ผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนพระองค์ คนทำงานก็ควรจะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงานโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นหรือความสนิทสนมส่วนตัว และควรให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ว่าจะให้เพื่อตอบแทนคุณ หรือให้เพื่อสงเคราะห์ อย่าเอาแต่คิดหวังผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาในภายหน้า

-- ศีลบารมี (การรักษาศีล) ทรงมีพระจรรยาสุภาพเรียบร้อยมีหิริโอตัปปะ ละอายและเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ไม่ทรงเบียดเบียนผู้อื่น คนทำงานก็เช่นกันควรประพฤติดีต่อกันทั้งทางกาย วาจา ใจ หรือรักษาศีล 5 อยู่เป็นนิจ ไม่พูดจาหยาบคายใส่ร้ายป้ายสีกัน ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนเพื่อนร่วมงานให้เขาต้องทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว เป็นต้น

-- เนกขัมมบารมี (การออกบวช) ทรงรู้เท่าทันความเป็นจริงของกาม ไม่ทรงหมกมุ่น แม้ทรงเป็นรัชทายาทควรได้รับราชสมบัติ ก็ยังพรากจิตออกได้เพื่อทรงแสวงหาคุณอันยิ่งขึ้นไป คนทำงานก็ควรบำเพ็ญความดีข้อนี้ด้วยการละความใคร่และความอยากทั้งหลายให้หมด อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มารบกวนจิตใจเพราะมันจะทำให้งานของคุณพังลงได้เช่นกัน

-- เมตตาบารมี (การมีเมตตา) ทรงมีพระหฤทัยเผื่อแผ่หวังให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทุกทั่วหน้า มิได้เลือกที่รักมักที่ชัง คนทำงานก็เช่นกันหากมีลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานต้องรักและเอ็นดูรู้จักสอนงานและถ่ายทอดสิ่งเป็นสาระประโยชน์ให้ หากเรื่องใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดก็ควรตักเตือนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อๆ ไป

-- ปัญญาบารมี (การสั่งสมปัญญา) ทรงมีพระปัญญาหลักแหลมรู้เท่าทันความเป็นจริงของเหตุและผล สำหรับคนทำงานสิ่งสำคัญก็คือภูมิความรู้ที่มีต่องานที่รับผิดชอบ ซึ่งความฉลาดรอบรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการหมั่นคิดและเรียนรู้สั่งสมสิ่งอันเป็นประโยชน์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องมีปฏิภาณไหวพริบในยามที่เจอวิกฤตจะได้เผชิญหน้าและสามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาทั้งปวงได้

-- ขันติบารมี (การมีความอดทนอดกลั้น) ทรงมีความอดทนต่อการตรากตรำทุกสิ่งทุกอย่างแม้อารมณ์ที่มากระทบจะดีหรือชั่วก็มิได้หวาดหวั่นย่อมประคองวิริยะไม่ท้อถอย การทำงานก็เช่นกันย่อมมีปัญหาอุปสรรคนานาประการให้พบเจอ คนทำงานควรบำเพ็ญบารมีข้อนี้ด้วยความเข้มแข็ง มีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และไม่อ่อนไหวไปกับแรงลมของปัญหาต่างๆ

-- สัจจบารมี (การพูดคำสัตย์) ทรงทำอะไรทำจริง มิได้ทรงลุอำนาจแก่ความไม่จริง ในการทำงานความซื่อสัตย์ ซื่อตรง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่คดโกงบริษัทและเพื่อนร่วมงานเพราะเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ไม่หลอกลวงลูกค้าหากรับปากสิ่งใดไปก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น

-- วิริยบารมี (การบำเพ็ญความเพียร) ทรงมีความเพียรบากบั่นในปฏิปทา เครื่องดำเนินธุรกิจทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอาการท้อแท้อ่อนแอ คนทำงานก็เช่นกันต้องมีความขยันพากเพียรในการเรียนรู้งานและปฏิบัติด้วยความตั้งใจ ความกล้าที่จะเผชิญกับงานที่ยาก และบากบั่นที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงได้

-- อธิษฐานบารมี (ความตั้งใจอย่างแน่วแน่) ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในปฏิปทาของพระองค์ มิได้หวาดหวั่นต่อเหตุการณ์อะไรทั้งสิ้น ฉันใดฉันนั้นคนทำงานเมื่อมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็ควรตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างหนักแน่นและแน่วแน่โดยมุ่งผลแห่งความสำเร็จเป็นที่ตั้ง

-- อุเบกขาบารมี (ความวางเฉย) ทรงมีพระหทัยเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเพราะถือความรักความโกรธ ในการทำงานข้อนี้สำคัญต่อผู้เป็นหัวหน้างานจะต้องแจกจ่ายงานต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเที่ยงธรรมและพิจารณาผลของงานตามความเป็นจริง ไม่ลำเอียง ไม่ตัดสินด้วยฉันทาคติแก่คนที่รัก หรือตัดสินด้วยโทสาคติแก่คนที่ชัง

ทั้งนี้ บารมีเป็นคุณความดีที่ควรบำเพ็ญเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องหมั่นสร้างขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ อาจจะเห็นผลช้าจึงต้องใจเย็น ไม่ท้อถอยที่จะทำ หากเมื่อใดที่เกิดขึ้นแล้วจะยั่งยืน ไม่เสื่อม ซึ่งบารมีทั้ง 10 ประการข้างต้นจะช่วยอบรมบ่มเพาะความดีในลักษณะที่แตกต่างกันไป ทานทำให้เผื่อแผ่ ศีลทำให้กายวาจาเรียบร้อยอ่อนโยนสุภาพ เนกขัมมะทำให้หายมัวเมาในกามคุณ ปัญญาไม่ให้หลงงมงาย วิริยะไม่ให้ท้อแท้อ่อนแอ ขันติไม่ให้ท้อถอย สัจจะเป็นคนจริง อธิษฐานทำให้ใจหนักแน่น เมตตาทำให้ใจกว้างขวาง อุเบกขาทำให้ยุติธรรมเที่ยงตรง

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมของผู้ที่รู้จักเสริมสร้างบารมีในการทำงานอย่างสม่ำเสมอจนประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ แม้ในบางขณะชีวิตอาจจะสะดุดเพราะแรงพายุทางการเมืองที่โหมกระหน่ำจนต้องเว้นวรรคการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ไประยะหนึ่ง แต่ด้วยคุณบารมีที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานจึงได้กำลังใจจากคนรอบข้างอย่างล้นหลามและที่สุดแล้วก็สามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี

ถึงแม้จะไม่ได้ครองตัวเป็นพุทธศาสนิกชน แต่คุณหญิงจารุวรรณก็พอมีความเข้าใจคำสอนเรื่องทศบารมีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างพอสมควร และด้วยความที่เป็นคริสเตียนจึงต้องไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์เพื่ออ่านพระคัมภีร์ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงวิธีการสร้างบารมีเอาไว้ อาทิ "โกรธเถอะแต่อย่าให้เกินตะวันตกดิน" เป็นการสอนบารมีในเรื่องของการให้อภัย และ "จงมองการดีของผู้อื่น อย่ามองแต่การร้าย" ซึ่งเป็นการสอนบารมีในเรื่องของการยอมรับผู้อื่น ไม่มองผู้อื่นในแง่ร้ายตลอดเวลา จึงทำให้เธอซึมซับความสำคัญของการมีบารมีเสมอมา

คุณหญิงจารุวรรณ เล่าว่า บารมีเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเสริมสร้างจะเกิดขึ้นทันทีทันใดไม่ได้ เป็นเรื่องของการมีจิตเมตตาจึงจะมีได้ แต่บางครั้งบารมีก็อาจก่อให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบอันทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เกิดความกระอักกระอ่วนและไม่สบายใจได้เช่นกัน "เคยมีนะสมัยก่อนต้องทำงานกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แต่ดิฉันรู้สึกว่าไม่อยากนั่งใกล้เขาเลยเพราะมันเหมือนมีรังสีอำมหิตแผ่ออกมา"

เมตตาบารมี ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีต่อลูกน้อง ซึ่งเธอบอกว่ามีบ่อยครั้งที่ลูกน้องทำความผิดและเกิดความรู้สึกอยากด่าว่าให้รู้สึกเสียบ้าง แต่ก็ยั้งใจไว้ได้และพยายามเตือนตัวเองเสมอว่าหากด่าเขาไปแล้วเขาโกรธก็อาจจะแอบด่าเราลับหลังเป็นการด่าว่ากันแบบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงหยุดอารมณ์ไว้ที่เราดีกว่า อีกทั้งคนระดับหัวหน้างานนั้นเมื่องานเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ควรจะหาทางแก้ไขปัญหามากกว่ามัวแต่โยนความผิดไปที่ผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่ายเดียว

"บารมีข้อเมตตานี้เป็นสิ่งที่ดิฉันทำได้ดีมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะได้รับยกย่องให้เป็นตัวเจ๊ (พี่ใหญ่) อยู่เสมอ อาจจะเป็นเพราะหน้าแก่(หัวเราะ) จะมีคนชอบมาหาเพื่อให้ช่วยเหลืออยู่เสมอ เช่น ลูกเข้าโรงเรียน ตกงาน หรืออาจเป็นเรื่องที่ต้องเสียเงิน แต่ก็ยินดีเพราะเป็นวงเงินที่ตั้งใจไว้อยู่แล้ว แต่จะเป็นคนที่ไม่ให้ใครที่จู่ๆ ก็มาขอ ต้องให้แบบมีเหตุผลด้วย ซึ่งตัวเราก็จะคิดว่าเป็นเพราะเราช่วยเขาได้เขาเลยมาหา" ผู้ว่า สตง.กล่าวถึงบารมีที่เผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้าง พร้อมยกตัวอย่างต่อว่า

"เคยมีวันหนึ่งไปทำงานตอนวันหยุดแล้วมีคนเดินมากอด บอกว่าท่านผู้ว่าฯ หนูรู้สึกอบอุ่นจังเลย เราก็คิดว่า เอ๊ะ! เขาขาดความรักรึเปล่า เลยเอื้อมมือไปกอดไว้เขาก็น้ำตาไหล ก็คิดไปว่าการที่ลูกเราไปที่ไหนก็ได้ความรักมีผู้ใหญ่เอ็นดูอยู่เสมอก็เพราะเมตตาบารมีที่เราเคยทำให้ผู้อื่นมันสะท้อนผลกลับมา"

คุณหญิงจารุวรรณ ยังเล่าย้อนว่าในปี 1962 ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปที่ประเทศอเมริกา และมีโอกาสพบประธานาธิบดี เคเนดี ซึ่งท่านได้พูดประโยคหนึ่งว่า "Ask not what your country can do for you but ask yourself what you can do for your country" เป็นการสอนให้รู้จักจงรักภักดีต่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เวลาที่ทำงานหนักก็จะนึกถึงในหลวง นึกถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับอยู่เสมอ

การสร้างบารมีในเรื่องของความซื่อสัตย์ (สัจจบารมี) ในการทำงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้บารมีอื่นๆ ซึ่งเธอบอกว่าหากได้พูดหรือรับปากงานใดไปแล้วก็จะปฏิบัติให้สำเร็จออกมาอย่างดีที่สุด นอกจากนี้การพากเพียรทำงานหนัก ก็เป็นบารมีอีกข้อหนึ่ง (วิริยบารมี) ที่ผู้เป็นเจ้านายต้องตระหนักและปฏิบัติอยู่เป็นนิจ

"ทุกวันนี้พยายามทำงานให้เสร็จลุล่วงไป ไม่อยากให้คั่งค้างไว้เพราะรู้ว่ายังมีคนอื่นรอเราอยู่อีกมาก ซึ่งดิฉันเคยเห็นผู้บังคับบัญชาบางคนพอมีงานเยอะก็ไม่รู้ว่าจะจับงานชิ้นไหนก่อนดี ในที่สุดงานก็ไม่เสร็จส่งผลกระทบไปทั่ว เราก็จะไม่ชอบผู้บังคับบัญชาแบบนี้ ทุกวันนี้จึงมักจะอยู่ทำงานจนค่ำถึงดึกดื่น ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นทุกวันหรอก อยากกลับบ้านไปนอนเร็วๆ เหมือนกันตื่นเช้ามาจะได้สวยเพราะตาไม่บวม (หัวเราะ) แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีคนอื่นรองานจากเราอยู่" คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

โดยมากคนเราจะนึกถึง ศีล ธรรม และกรรม ก็ต่อเมื่ออกหัก ผิดพลาดจากหน้าที่การงาน เป็นทุกข์ และกว่าจะเข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมเอาก็เกือบวัยกลางคนเสียแล้ว หลงเดินมาบนเส้นทางสาย "สะเปะสะปะ" มารู้ตัวอีกทีก็ถูกปลดกลางอากาศ หรือถูกย้ายไปนั่งในแผนกที่ไม่มีงานเสียแล้ว ซ้ำร้าย บางคนยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าตนเองทำอะไรผิด ดังนั้นการเข้าถึงพุทธศาสนา หรือศาสนาใดก็ตามที่ต่างก็มีคุณสมบัติแห่งปัญญาและกรรมเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยนั้น ย่อมเป็นการถูกต้องและดีตั้งแต่เริ่มต้นในก้าวแรกของการเริ่มทำงาน

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์


อัพเดทล่าสุด