เมารถ วิธีแก้เมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบิน MUSLIMTHAIPOST

 

เมารถ วิธีแก้เมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบิน


1,749 ผู้ชม

ใคร ที่เคย "เมารถ" หรือแม้แต่เมาเรือ คงจะรู้ดีว่ามันทรมานแบบกระอักกระอ่วนเพียงใด..


ทำอย่างไรดี เมารถ

เมารถ วิธีแก้เมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบิน


ทำอย่างไรดี เมารถ (สสส.)
          ใคร ที่เคย "เมารถ" หรือแม้แต่เมาเรือ คงจะรู้ดีว่ามันทรมานแบบกระอักกระอ่วนเพียงใด เพราะมักจะเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เริ่มรู้สึกพะอืดพะอมไม่สบาย ไปจนถึงเหงื่อออกตัวเย็น เวียนหัว คลื่นไส้ แล้วก็อาเจียนออกมา

          วันนี้ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว หัวหน้าศูนย์สุขภาพ รพ.พญาไท 2 ได้เปิดเผยเทคนิคการป้องกันและแก้ไขการเมารถว่า  อาการเมารถ เกิดจากขณะเคลื่อนไหว สมองเกิดความสับสนแบบประสาทหลอน  (halluclnation) เนื่องจากข้อมูลที่รายงานเข้ามาจากหูและตา ไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากอวัยวะคุมการทรงตัวของร่างกาย (balancing organ) ที่อยู่ในหูชั้นใน ถ้าหยุดการเคลื่อนไหว อาการเมาก็จะค่อย ๆ หายไป คนที่เดินทางบ่อย ๆ มักจะปรับตัวเองให้คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และเมาน้อยลง เทคนิคอื่น ๆ ที่จะช่วยบรรเทาการเมารถ ได้แก่

           นั่งแถวหน้า ๆ หันหน้าไปทางหน้ารถ เพราะการนั่งหน้ารถและมองไปข้างหน้า จะทำให้ทั้งตาและหูของเรารับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อม ๆ กับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า

          จินตนาการ ว่าตัวเองเป็นคนขับรถเสียเอง เพราะคนขับจะไม่เมารถ เวลารถจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็คาดการณ์ล่วงหน้า  และรู้ตัวขณะที่ร่างกายต้องหมุนเลี้ยวตามรถ สมองก็จะเกาะติดสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นไม่สับสน

          มอง ไปไกล ๆ จับเส้นขอบฟ้าไว้เป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่บน อะไรอยู่ล่าง อะไรอยู่ซ้าย อยู่ขวา ขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหววกวนไปมาต้องหามองอะไรที่ไกล ๆ และนิ่ง ๆ และรู้ตัวว่าตัวเรากำลังเคลื่อนไหวไปขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหววกวนไปมา ต้องหามองอะไรที่ไกล ๆ และนิ่ง ๆ และรู้ตัวว่าตัวเรากำลังเคลื่อนไหวไปขณะที่จุดนั้นนิ่ง เพื่อให้สมองทราบสถานะและตำแหน่งของตัวเองได้ถูกต้อง

           อย่าอ่านหนังสือหรือตั้งใจมองอะไรที่เป็นของเล็ก ๆ และเขย่า ๆ หรือเคลื่อนไหวบนรถ เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรากับวัสดุในรถจะไม่ไปด้วยกัน ทำให้สมองสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของตัวเอง

          ตั้ง ศีรษะให้ตรง ให้ศีรษะอยู่นิ่ง ๆ เวลารถเลี้ยวก็ตั้งใจรู้ตัวว่ากำลังหันไปตามการเลี้ยวของรถ อย่าให้ศีรษะไปพิงกับส่วนของรถที่เขย่า ๆ ไปตามแรงกระแทกและการเคลื่อนไหวบนรถ ถ้าจะพิงพนักก็ให้ใช้หลังพิงโดยให้ศีรษะตั้งตรงขึ้น อย่าฟุบหน้าลงหรือเอนศีรษะไปพิงอะไรข้าง ๆ จะทำให้ตัวเองอยู่ในสภาพถูกจับแกว่งไกว ขณะที่รถเลี้ยวไปมา

          อย่าสูบบุหรี่ หรือนั่งใกล้คนสูบบุหรี่ เพราะแค่ควันบุหรี่อย่างเดียว โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวใด ๆ ก็เมาได้แล้ว

          เวลาเดินทางอย่าเห็นแก่กิน อย่ารับประทานอาหารให้อิ่มจนเต็มท้อง เพราะถ้ามีของเต็มกระเพาะ ก็มีแนวโน้มจะออกมาง่าย

          ไม่รับประทานของที่มันหรือเลี่ยน เพราะย่อยยาก ค้างอยู่ในกระเพาะนาน อาเจียนง่าย

          ไม่รับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง อันจะกระตุ้นให้ตัวเองหรือคนข้าง ๆ คลื่นไส้อาเจียน

          ไม่รับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เผ็ดจัดเพราะเวลาอาเจียน ยิ่งถ้าผ่านรูจมูกออกมาด้วยแล้วจะแสบแบบไม่รู้ลืม

          ก่อน เดินทางควรขับถ่ายให้เรียบร้อย อย่าให้ปวดถ่ายจนต้องกลั้นอุจจาระขณะเดินทาง เพราะการกลั้นอุจจาระจะทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ ที่ปกติจะไล่กันเป็นลูกระนาด จากบนลงล่างถูกติดเบรกเสียกระบวนไป

          งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะลำพังแอลกอฮอล์ไม่ต้องขึ้นรถก็เมาอยู่แล้ว

          ก่อน ออกเดินทางครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงให้รับประทานยาแก้เมา  เช่น ยาแอนตี้ฮิสตามีน ชื่อ ดรามามีน  (Dramaine  หรือ  dimenhydrinate) หนึ่งเม็ด และพกยานี้ติดตัวไปด้วย ให้คาดหมายไว้เลยว่ายานี้อาจทำให้มีอาการง่วงได้ถ้าจะเดินทางไกล ยาอีกตัวที่ช่วยได้ คือ แผ่นพลาสเตอร์แปะแก้เมา ชื่อ ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop หรือ scopalamine)โดยแปะไว้ที่หลังหูล่วงหน้าก่อนเดินทาง 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป ยานี้จะมีฤทธิ์ป้องกันได้นาน 72 ชั่วโมง

          คุณ หมอยังแนะนำว่า  ถ้าท้องไส้ปั่นป่วนมากสำหรับบางคน การได้ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณพอเหมาะจะช่วยได้ เมื่อเริ่มวิงเวียน การสูดหายใจลึก ๆ รับลมเย็นๆ จากหน้าต่างรถ หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้า ผากและหน้าช่วยลดอาการได้ ถ้าเริ่มมีอาการวิงเวียน ใช้ยาดม ยาหอม และกลิ่นพืชสมุนไพรตามที่แต่ละคนชอบ  จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้ รวมไปถึงการดมกลิ่นเปลือกส้มเขียวหวาน (บีบให้มันพ่นกลิ่นออกมา) และกลิ่นเปลือกพริกขี้หนู (เอาพริกขี้หนูหลาย ๆ เม็ดใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ)

          หาก ทำท่าจะแพ้ หมดแรงสู้ ให้นอนลงแล้วหลับตาเพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมอง เป็นการลดความสับสนให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัว ที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าม่อยหลับไปจริง ๆ  เลยได้ยิ่งดี  เพราะขณะนอนหลับสมองส่วนคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะปิดรับสัญญาณเข้าใด ๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันไม่มี อาการเมารถจึงหายไปเอง

เมารถ , วิธีแก้เมารถ , เมาเรือ , วิธีแก้เมาเรือ , เมาเครื่องบิน , วิธีแก้เมาเครื่องบิน , วิธีแก้เมา , แก้เมา , ยาแก้เมา , การแก้เมา , การแก้เมารถ

ที่มา kapook.com

อัพเดทล่าสุด