ภาษาน่ารู้ : ภาษามลายู คำว่ารักในภาษามลายู เป็นอย่างไร MUSLIMTHAIPOST

 

ภาษาน่ารู้ : ภาษามลายู คำว่ารักในภาษามลายู เป็นอย่างไร


4,430 ผู้ชม

คำว่า "รัก" หรือ "ชอบ" ในภาษามลายูมีคำเรียกและการนำไปใช้แตกต่างกัน ในภาษาไทยเราอาจใช้คำ "รัก"  หรือ "ชอบ"  ได้เกือบทุกสถานการณ์


นิยามคำว่า "รัก"  ในภาษามลายู

สวัสดีครับ...ฉบับนี้เรามาพูดคุยสาระน่ารู้เกี่ยวกับการใช้คำในภาษามลายู ที่ทุกคนอยากจะทราบและนำไปใช้เมื่อเข้าไปในประเทศที่พูดภาษามลายู เดือนนี้ในโลกแห่งความเป็นสากลถือเป็นเดือนแห่งความรัก ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจรู้จักคำว่า "รัก"  ในภาษาอื่นๆ และภาษามลายูมาบ้างแล้ว  

คำว่า "รัก" หรือ "ชอบ" ในภาษามลายูมีคำเรียกและการนำไปใช้แตกต่างกัน ในภาษาไทยเราอาจใช้คำ "รัก"  หรือ "ชอบ"  ได้เกือบทุกสถานการณ์ เช่นเราอาจพูดว่า "ฉันรักเธอ" "ฉันชอบกินทุเรียน" หรือ "ฉันรักการอ่าน" เป็นต้น ซึ่งแตกต่างไปจากลักษณะการใช้ในภาษามลายู เพราะคำเหล่านี้เมื่อนำไปใช้ในภาษามลายู จะเกิดความหมายและระดับความรู้สึกในบริบทของประโยคอย่างหลากหลาย

ภาษามลายู มีคำว่า "cinta" "kasih" และ "saying" สำหรับใช้แทนคำว่า "รัก" และคำว่า "suka" ใช้แทนคำว่า "ชอบ" และคำทั้งหมดนี้จะแสดงระดับความรู้สึกของการบอกว่า "รัก" ที่ต่างกัน ดังที่จะอธิบายเป็นข้อๆ ต่อไปนี้

1. Suka  หมายถึง "ชอบ" เป็นความรู้สึก พอใจ ชอบใจ หรือชอบต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจใช้บอกกับคน สัตว์หรือสิ่งของก็ได้ ถ้าเป็นการบอกว่า "suka" กับคนใดคนหนึ่งแล้ว นั่นหมายถึงอาจมีความรู้สึกชอบต่อบุคคลนั้นในด้านรูปร่างหน้าตา ความสามารถ พฤติกรรม หรืออากับกริยา ตลอดจนความเป็นเอกลักษณ์บุคคล เช่น อาจพูดว่า  "Saya suka makan durian" (ฉันชอบกินทุเรียน) หรือ  "Saya suka kamu" (ฉันชอบเธอ)

2.  Sayang  หมายถึง "รักและห่วงใย" เป็นความรักที่มีองค์ประกอบของความรู้สึกห่วงแหน ห่วงใย เสียดายต่อสิ่งหนึ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือตัวบุคคลที่มีผูกพันกันในลักษณะความเป็นพ่อแม่ลูก สามีภรรยาหรือคนรัก คำนี้ยังมีความหมายว่า "ที่รัก" อีกด้วย เช่นพูดว่า " Oh sayang" (โอ้ ที่รัก) "saya sayang kawan"  (ฉันรักเพื่อน)

3. Kasih หมายถึง "รัก" เป็นคำที่ให้ความรู้สึกรักที่ลึกซึ้งรองจากคำว่า "cinta" คำนี้อาจจะใช้กับคนที่เรารักทุกประเภทหรือสัตว์ประเภทสัตว์เลี้ยง แต่ไม่นิยมใช้กับสิ่งของ เช่น พูดว่า   "Saya kasih ibu" (ฉันรักแม่) ในบางครั้งคำนี้อาจถูกใช้ควบคู่กับคำ "sayang" ในกรณีกล่าวถึงความรัก ความสงสาร หรือความห่วงใยซึ่งกันและกัน เป็น "kasih sayang"  เช่นในประโยค "Kasih sayang sesama manusia" (รักและสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน)

4. Cinta  หมายถึง "รัก" เป็นความรักที่ลึกซึ้งมาก เป็นความรักที่บวกกับความใคร่ ความเสน่หา ความจงรักภักดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนครอบครอง หรืออยากเป็นเจ้าของ ความรักของชายหญิงมักจะใช้คำนี้เป็นคำบอกกล่าวว่า "รัก"  ความรู้สึกยำเกรงและจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า  ศาสดา และบุพการีก็มักจะบอกรักด้วยคำนี้เช่นกัน  คำนี้จะไม่นิยมใช้บอกรักกับสัตว์และสิ่งของ เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการบอกรักใครสักคนก็สามารถใช้คำนี้ได้ เช่น พูดว่า  "Saya cinta kamu" (ฉันรักเธอ) หรืออาจได้ยินวลี  "jatuh cinta" (ตกหลุมรัก)

เป็นอย่างไรบ้างครับ ได้ทราบถึงคำและความหมายของคำว่า "รัก" ในหลายๆ ความรู้สึกในภาษามลายูแล้ว หลังจากนี้หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเอาไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และขอย้ำว่ากรุณาอย่าใช้คำสลับกัน ต้องพิจารณาดูระดับความรู้สึกของคำก่อน มิฉะนั้นความหมายที่สื่อออกมาก็จะผิดเพี้ยนไป

ที่มา Bahasa Research อ.กามารุดดีน อิสายะ
Lecturer
Department of Thai Language and Eastern Languages

researchers.in.th

อัพเดทล่าสุด