เมื่อไหร่สมควรขัดใจเจ้านาย? MUSLIMTHAIPOST

 

เมื่อไหร่สมควรขัดใจเจ้านาย?


715 ผู้ชม


เมื่อไหร่สมควรขัดใจเจ้านาย?




ยิ้มสู้ขัดใจเจ้านายยังไงโดยไม่ตกงานในสถานการณ์ล่อแหลมต่อไปนี้

เดวิด สไตเบล ผู้เขียนหนังสือ When Talking Makes Things Worse! Resolving Problems When Communication Fails บอกว่าโฮเมอร์ ซิมพ์สัน ทำถูกแล้ว ประโยคประจำตัวที่เขาพูดอย่างร่าเริงว่า “ความคิดแจ๋วครับ เจ้านาย!” รับประกันความสำเร็จในทุกอาชีพ หรือพูดได้ว่าสำเร็จเป็นส่วนใหญ่นั่นล่ะ แต่ที่สำคัญพอกันคือรู้ว่าควรปฏิเสธเจ้านายถ้าคุณกำลังถูกเอาเปรียบ

แต่การปฏิเสธไม่ได้หมายถึงวิธีแลบลิ้นปลิ้นตาและกระทืบเท้าปึงปัง แต่หมายถึงการจูงใจเจ้านายให้เชื่อว่าคุณถูกต้องโดยไม่พูดว่าเจ้านายผิด ต่อไปนี้คือสถานการณ์ล่อแหลม 7 รูปแบบที่คุณสมควรบอกปัดเจ้านายเพื่อรักษาจิตสำนึก ความนับถือตัวเองและอาชีพของคุณไว้

สถานการณ์ล่อแหลม #1
เจ้านายอยากให้คุณทำสิ่งผิดศีลธรรม
แพท เฮม ผู้เขียนร่วมในหนังสือ Hardball for Women: Winning at the Game of Business บอกว่าถ้าเรื่องเล็กๆ คุณทำได้เต็มที่ที่สุดก็คือช่วยปิดบังความจริงให้เธอ  แต่ห้ามทำตามถ้าเกี่ยวกับการปลอมแปลงข้อมูลสำคัญของบริษัท ทำลายเอกสาร หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลลับของใคร เพราะเรื่องเหล่านี้ส่งผลใหญ่โตที่อาจทำลายบริษัท และต้องแลกกับอาชีพของคุณ

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : อธิบายอย่างสงบว่าคุณอึดอัดใจที่จะทำตามที่เธอขอมา ช่วงที่เฮมเริ่มทำงานใหม่ๆ เจ้านายเคยกดดันให้เฮมเอาผลการสำรวจความพอใจของลูกจ้างที่เป็นความลับมาให้เธอดู หลังจากเจ้านายกวนใจอยู่หลายอาทิตย์ เฮมก็ยื่นคำขาดว่า “คุณไล่ฉันออกก็ได้ ไม่อย่างนั้นก็เลิกพูดถึงเรื่องนี้ เพราะฉันจะไม่เอาข้อมูลให้คุณดู” เฮมบอกว่า “ฉันเดินออกจากห้องทำงานของเธอ ใจก็สงสัยว่าพรุ่งนี้ฉันจะตกงานหรือเปล่า แต่ฉันต้องทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร”

ผลข้างเคียง : ถ้าคุณโชคดี เจ้านายจะรู้ตัวว่าล้ำเส้นและจะเป็นฝ่ายถอยเอง เช่นกรณีของเฮม ถ้าโชคร้าย คุณอาจถูกเหม็นขี้หน้าได้  เจ้านายที่ผูกใจเจ็บอาจไล่คุณออกด้วยเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ ควรปกป้องตัวเองด้วยการเก็บบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ เพื่อแสดงให้ฝ่ายบุคคลดูในกรณีที่คุณถูกกล่าวหาผิดๆ ทีหลัง

สถานการณ์ล่อแหลม #2
เจ้านายกำหนดเส้นตายที่เป็นไปไม่ได้
ควรต่อรองขอเวลามากขึ้นดีกว่าไปสัญญาแล้วทำไม่ได้ โรบิน แดเนียลสัน ประธานบริษัท Mad Dogs & Englishmen เอเจนซี่โฆษณาในนิวยอร์ค บอกว่า “ลูกจ้างส่วนใหญ่จะตอบรับไปซะทุกเรื่อง แล้วพอถึงกำหนดเวลา พวกเขาก็จะส่งงานที่ไม่ได้เรื่อง”

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : ไม่ต้องบ่นว่ากำหนดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ให้บรรยายว่าโครงการนี้มีอะไรต้องทำบ้าง อธิบายว่าโครงการที่คล้ายกันก่อนหน้านี้ใช้เวลานานแค่ไหน รายงานสภาวะการทำงานของคุณในเวลานี้ จากนั้นให้ขอเวลาเพิ่ม แต่ถ้ากำหนดเวลาไม่สามารถเลื่อนได้จริงๆ ให้ขอคนช่วยเหลือชั่วคราว

ผลข้างเคียง : คุณอาจถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นอย่าใช้วิธีนี้เวลาที่คุณอยากหลบงานกลับบ้านไปดูละครเรื่องใหม่ ข้อดีคือ เจ้านายอาจชื่นชมความซื่อตรงของคุณ ที่ดีที่สุดคือคุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมทำงานอะไรก็ได้ แต่ก็รู้ดีว่างานนั้นต้องทำอะไรบ้างถึงจะสำเร็จ นายจ้างส่วนใหญ่ชื่นชมลูกจ้างประเภทนี้ แดเนียลสันบอกว่า “ผมส่งเสริมลูกน้องที่สามารถตัดสินได้ว่างานนั้นๆ จะใช้เวลานานแค่ไหน”

สถานการณ์ล่อแหลม #3
เจ้านายชวนออกเดท
ไม่ว่าคุณจะปลื้มหรือเปล่า คุณต้องปฏิเสธสถานการณ์นี้เพื่อความน่าเชื่อถือของตัวคุณในอาชีพการงาน เพลเลอร์ มาเรียน ผู้เขียนหนังสือ Crisis Proof Your Career เตือนว่า “แม้คุณจะเป็นคนฉลาดที่สุด มีพรสวรรค์ที่สุดในแผนก แต่ไม่มีใครเชื่อหรอกว่าคุณได้งานดีๆ หรือได้เลื่อนตำแหน่งเพราะความสามารถของตัวเอง”

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : บอกปัดเขาตรงๆ แต่นุ่มนวลประมาณว่า “ฉันชอบคุณนะ แต่ฉันไม่คิดจะปนเรื่องงานกับความสุขส่วนตัว และถึงยังไงคุณก็คือเจ้านายของฉัน ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป บางทีเราอาจกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่”

ผลข้างเคียง : เขาอาจโต้ตอบคุณด้วยการทำตัวแย่ๆ แต่ผลอาจออกมาแบบเดียวกันนี้ได้ถ้าคุณเดทกับเขาแล้วเลิกกันทีหลัง พยายามเก็บบันทึกบทสนทนาระหว่างคุณเอาไว้ จะได้มีหลักฐานส่งให้แผนบุคคล

สถานการณ์ล่อแหลม #4
คุณเก่งมากจนเจ้านายให้งานมากเกินไป
แน่นอนว่าคุณอยากให้เธอไว้ใจคุณ แต่ไม่ใช่ทำให้คุณยุ่งซะจนไม่สามารถทำงานที่จะสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองได้เลย เฮมเตือนว่า “อย่าปล่อยให้ความเก่งของตัวเองกลายเป็นโทษ”

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : ตอบรับงานนั้น แต่หลังจากผ่านไปสองสามวัน ขอให้เจ้านายช่วยลำดับความสำคัญของงานให้คุณ ประมาณว่า “หนูมี 3 โครงการใหญ่ และ 10 งานย่อยอยู่ในมือตอนนี้ค่ะ หนูควรมุ่งไปที่งานไหนก่อนคะ?” เมื่อเจ้านายเห็นว่าคุณเอาใจใส่และกำลังพยายามเต็มที่ เธอก็จะมอบหมายงานเล็กๆ ให้คนอื่นทำ

ผลข้างเคียง : จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้อีก ตราบใดที่คุณไม่ตอบปฏิเสธไปเฉยๆ

สถานการณ์ล่อแหลม #5
คุณได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว...ไปตำแหน่งที่คุณไม่อยากทำ
ถ้าสิ่งที่คุณต้องการคือตำแหน่งในฝ่ายการตลาด การได้เลื่อนไปอยู่ในฝ่ายบุคคลคงไม่เหมาะกับคุณ แม้นั่นจะหมายถึงเงินเดือนเพิ่มก็ตาม การเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้อาจทำลายอาชีพของคุณในระยะยาว ถ้าคุณยอมรับงานที่คุณไม่พอใจจะทำ งานก็จะออกมาไม่ดี  อาชีพของคุณก็เช่นกัน

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : เจ้านายมองว่าการโยกย้ายครั้งนี้คือโอกาสดี ดังนั้นบอกเธอว่าคุณอยากขอคิดดูอีกสองสามวัน สไตเบล บอกว่า จากนั้นอธิบายอย่างจริงใจว่าทำไมคุณไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้น และเสนอทางเลือกที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายว่า “ฉันขอบคุณจริงๆ ค่ะกับข้อเสนอนี้ แต่จุดแข็งของฉันคือการทำวิจัยและพัฒนากลยุทธ์การตลาด ฉันคิดว่าฉันจะใช้ความสามารถของตัวเองได้ดีที่สุดถ้าอยู่ในตำแหน่งเดิมและมุ่งสร้างฐานลูกค้า” เมื่อคุณปฏิเสธโดยใช้การแจกแจงในแง่บวก คุณจะดูเหมือนร่วมมือกับเจ้านายอยู่ต่างหาก

ผลข้างเคียง : สไตเบล เตือนว่า “คุณอาจไม่ได้รับการพิจารณาในการเลื่อนขั้นครั้งต่อไป ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณควรไปสมัครงานใหม่จะดีกว่า

สถานการณ์ล่อแหลม #6
คุณได้รับงานที่ขัดแย้งทางศีลธรรม
คุณควรเชื่อจิตสำนึกของตัวเอง เมื่อต้นทศวรรษ 1980 เชอรีล ดี. บรูซสาร์ด ซึ่งเป็นนายหน้าค้าหุ้นอยู่ขณะนั้น ปฏิเสธไม่ขายหุ้นที่มีความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน เพราะนักลงทุนคงตายก่อนจะได้เห็นเงินปันผล บรูซสาร์ด ผู้เขียนหนังสือ Sister CEO: The Black Woman’s Guide to Starting Your Own Business บอกว่า “ฉันไม่ชอบธุรกิจที่หลอกเอาเงินจากคนอื่น สำหรับฉันแล้ว การลงทุนเป็นเรื่องผิดศีลธรรมนะ”

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : ขอเจ้านายมอบหมายงานอื่น ถ้าคุณจะปฏิเสธ คุณควรเสนอตัวทำงานด้านอื่น

ผลข้างเคียง : การไม่ทำตามคำสั่งอาจทำให้คุณถูกไล่ออก ถูกลดขั้น ไม่ขึ้นเงินเดือนหรือไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เจ้านายอาจบอกว่า “ถ้าคุณไม่ชอบสินค้าที่เรากำลังขาย แล้วคุณมาอยู่นี่ทำอะไร?” สุดท้าย คุณอาจยอมทำตามเพื่อสงบศึก แต่ถ้าคุณไม่ยึดมั่นกับคุณค่าที่คุณเชื่อ คุณจะทำงานอย่างไม่มีความสุข และกระทบต่อคุณภาพของงานได้

สถานการณ์ล่อแหลม #7
คุณทำงานล่วงเวลาไม่ได้เพราะปัญหาทางบ้าน
มาเรียน อธิบายว่า “คุณไม่ควรเกรงใจที่จะปฏิเสธงานล่วงเวลาในเมื่อคุณมีลูกเล็กที่กำลังป่วยรออยู่ที่บ้าน หรือแม่ป่วยเข้าโรงพยาบาล” ในสถานการณ์แบบนี้ มีเหตุผลพอที่คุณจะให้ความสำคัญกับปัญหาทางบ้านก่อนแล้วค่อยปรับตารางงานให้เข้ากัน

วิธีปฏิเสธแบบมือโปร : บอกเจ้านายว่าคุณไม่อยากเอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นข้ออ้างเลย แล้วพูดประมาณว่า “ช่วง 2 เดือนที่มีปัญหานี้ ฉันจะทำงานประจำให้เต็มที่ แต่จะไม่ทำงานล่วงเวลา ต้องขอโทษด้วย แล้วฉันจะเร่งงานให้มากขึ้นทันทีที่แก้ปัญหาทางบ้านได้แล้ว” และอย่าลืมทุ่มเทกับงานมากเป็นพิเศษ พยายามมาเร็ว และกินมื้อเที่ยงที่โต๊ะ

ผลข้างเคียง : คุณอาจพลาดงานที่อยากทำ หรืองานที่น่าสนใจ แต่การรับงานฉุกเฉินไม่ได้ทำให้อาชีพของคุณพุ่งทะยาน ถ้าคุณยังทำงานได้ดีแม้จะมีปัญหาทางบ้าน เจ้านายต้องอยากได้คนแบบคุณร่วมทีมแน่

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์


อัพเดทล่าสุด