องอาจ บุญเปกข์ตระกูล มือวาง HR แห่งจีอี มันนี่ "ความยากคือความท้าทาย" MUSLIMTHAIPOST

 

องอาจ บุญเปกข์ตระกูล มือวาง HR แห่งจีอี มันนี่ "ความยากคือความท้าทาย"


733 ผู้ชม


องอาจ บุญเปกข์ตระกูล มือวาง HR แห่งจีอี มันนี่ "ความยากคือความท้าทาย"




องอาจ บุญเปกข์ตระกูล มือวาง HR แห่งจีอี มันนี่ "ความยากคือความท้าทาย"


องอาจ บุญเปกข์ตระกูล มือวาง HR แห่งจีอี มันนี่ "ความยากคือความท้าทาย"

ชั่วโมงนี้ต้องยอมรับว่า อาชีพ HR ถือเป็นงานกระตุกต่อมผู้ที่ชอบท้าทายความสามารถของตัวเองงานหนึ่ง เพราะการดูแลคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่มารวมตัวกันอยู่ในองค์กรนั้นเป็นเรื่องสาหัส ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ยิ่งเป็นกลุ่มทาเลนต์ยิ่งต้องใช้ความสามารถเพิ่มเป็นทวีคูณ
ที่สำคัญ HR ยุคใหม่ยังต้องทำงาน เคียงบ่าเคียงไหล่กับซีอีโอในการสร้างคนคุณภาพด้วย
การกระโดดเข้ามาปลุกปล้ำงานด้าน HR ของคนรุ่นใหม่ จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจทั้งในแง่ความคิดและการทำงาน
เพราะเขาเป็นสายเลือดใหม่ HR หรือว่าเป็น HR youngblood !
คนแรกที่อยากแนะนำให้รู้จัก คือ "องอาจ บุญเปกข์ตระกูล" เขาเป็น management trainee โปรแกรมพัฒนาผู้นำบุคลากร จีอี มันนี่ ประเทศไทย หนุ่มน้อยผู้มากด้วยความสามารถ กระโดดเข้ามาทำงาน HR ด้วยวัยเพียง 26 ปี
"องอาจ" เป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโปรแกรม human resources leadership programme (HRLP) อันโปรแกรมระดับโลกของจีอีที่มุ่งพัฒนาผู้บริหารสายทรัพยากรบุคคลโดยตรง โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกกันที่สหรัฐอเมริกา
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องผ่านการสัมภาษณ์จากผู้บริหารสูงสุดระดับโลกและระดับเอเชียของจีอี มันนี่ ที่ดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคล
งานนี้จึงไม่หมูสำหรับเด็กจบใหม่อย่างเขา !
องอาจหลังจากจบปริญญาตรีด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2545 ก็บินไปต่อปริญญาโทในมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สาขาทรัพยากรบุคคลและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ทันที พอรู้ว่าจีอี มันนี่ กำลังเฟ้นหาคนเข้าร่วมโครงการก็รีบส่งใบสมัคร แต่กว่าจะฝ่าด่านเข้ามาได้ก็เล่นเอาเครียดเลยทีเดียว
"ตอนนั้นมีคนเอเชียสมัครประมาณ 50-60 คน เขาคัดให้เหลือ 5 คน รอบแรกเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ รอบที่สอง ผู้บริหารระดับสูง 3 ท่านนั่งประกบสัมภาษณ์ทั้งวันตั้งแต่เช้าจดเย็น ถามทุกเรื่อง ทั้งประสบการณ์การทำงาน เรื่องส่วนตัว ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ จากนั้นก็คัดเหลือ 3 คน แล้วสัมภาษณ์รอบตัดเชือกให้เหลือคนเดียว"
งานนี้องอาจบอกว่า ต้องทำการบ้านเยอะมาก
เบื้องต้นต้องรู้ก่อนว่า จีอี มันนี่ คืออะไร แล้วทำไมเราจึงอยากเข้าไปทำงานที่นี่ แล้วด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่จะทำอะไรให้กับจีอี มันนี่ได้บ้าง
บนเส้นทางสายใหม่คือความท้าทายที่ ยิ่งใหญ่ เพราะโปรแกรมพัฒนาผู้นำบุคลากรของจีอี มันนี่ แม้จะมีมานานกว่า 50 ปี แต่คนเอเชียที่มีโอกาสเข้าไปแจมในโครงการมีเพียง 4 คนเท่านั้น
เพราะหลักสูตรนี้เข้มข้นมากๆ เพื่อให้ได้คนคุณภาพจริงๆ
ในช่วงเวลา 8 เดือนแรก "องอาจ" ต้องทำงานถึง 3 โลเกชั่น และมีโลเกชั่นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับ HR แต่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านธุรกิจโดยตรง
และในระยะเวลา 2 ปี จะมีประชุม global HRLP ทั้งหมด 4 ครั้ง โดยประชุม ปีละ 2 ครั้ง มี HR ระดับซีเนียร์ของแต่ละธุรกิจของจีอี มันนี่ มาอัพเดตข้อมูลให้น้องๆ ฟังว่า วันนี้ HR ไปถึงไหนกันแล้ว HR strategy เป็นอย่างไร มีทั้งการทำเทรนนิ่งและเวิร์กช็อปตลอด 7 วัน
เพื่อให้ HR จากทั่วโลกกว่า 107 คน ได้หอบหิ้วความรู้ใหม่กลับไปประยุกต์ใช้กันอย่างเต็มสมองทีเดียว
งานนี้นอกจากจะได้ความรู้ใหม่ๆ แล้วยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ต่างแดน ต่างธุรกิจ ที่จะเป็นพันธมิตรเน็ตเวิร์กที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต
และนี่เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องการพัฒนาคนของจีอี มันนี่
วันนี้องอาจได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับแบงก์กรุงศรีอยุธยา แรกๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำงานในองค์กรเก่าแก่ก็จะมีปัญหานิดหน่อย เพราะวัฒนธรรมไทยเรื่องผู้อาวุโสมีความสำคัญมาก แต่องอาจก็มีเทคนิคที่ทำให้ผู้สูงวัยในองค์กรยอมรับในความรู้ความสามารถได้ไม่ยาก
"การทำงานกับผู้ใหญ่ อย่างแรกต้องฟังเขาก่อน จากนั้นค่อยเสริมหรือเสนอแนะความคิดเห็นของตัวเอง หากจะเสนอโครงการหรือความคิดใหม่ๆ จะต้อง เตรียมตัวให้พร้อมมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทำรีเสิร์ชให้ชัดว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ที่สำคัญผลตอบแทนที่จะได้รับเป็นอย่างไร ทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทด้วย เรียกว่าข้อมูลต้องแน่นปึ้ก อธิบายแล้วผู้ใหญ่สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าจะเกิดผลอย่างไรกับองค์กร ตรงนั้นจึงจะได้รับการยอมรับ"
จริงๆ แล้วด้วยวัยเพียง 20 ปีเศษ องอาจน่าจะได้เที่ยว ได้สนุก เหมือนกับคนวัยเดียวกัน แต่เขาก็เลือกจะทำงานที่ยาก เพราะเห็นว่าความยากคือความท้าทาย คือความสนุกอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต
องอาจบอกถึงความรู้สึกลึกๆ ว่า การทำงานกับคน 100 คนก็ 100 ความคิด 100 แบบ และยิ่งองค์กรยุคใหม่เน้นการเก็บคนเก่งไว้กับองค์กร การบริหารจัดการภายในทั้งเรื่องคนและองค์กรจึงต้องสอดคล้องกันตลอดเวลา
เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าโปรดักต์จะดีเด่นแค่ไหน ธุรกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าคนไม่สามารถเข้ามาซัพพอร์ตองค์กรได้ สินค้าก็ขายไม่ออก ธุรกิจก็เดินไปไม่ได้ คนจึงเป็นทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกองค์กร
การจัดการคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดขององค์กร เพราะคนคือทรัพย์อันยิ่งใหญ่ !
หน้า 34

คอลัมน์ HR young blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ auem@matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด