เอเอ ทาเลนท์ แมวมอง "คนหางาน" เปิดอกจูนความสนใจ "นายจ้าง-ลูกจ้าง" MUSLIMTHAIPOST

 

เอเอ ทาเลนท์ แมวมอง "คนหางาน" เปิดอกจูนความสนใจ "นายจ้าง-ลูกจ้าง"


953 ผู้ชม


เอเอ ทาเลนท์ แมวมอง "คนหางาน" เปิดอกจูนความสนใจ "นายจ้าง-ลูกจ้าง"




เอเอ ทาเลนท์ แมวมอง "คนหางาน" เปิดอกจูนความสนใจ "นายจ้าง-ลูกจ้าง"

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่พุ่งพรวดกว่า 30 ล้านเลขหมาย
ทำให้ช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค แบบทางตรงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจจัดหางานที่หยิบเรื่อง ของ SMS มาใช้ประโยชน์ ส่งข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทที่เปิดรับสมัครงาน แจ้งผู้สมัครงานให้ทราบเมื่อมีตำแหน่งงานที่ต้องการ รวมถึงแจ้งนัดหมายการสัมภาษณ์และผลการสมัครงานผ่าน ระบบ SMS
และสื่อดิจิทัลนี่เอง ที่ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจจัดหางาน เมืองไทยที่มีการประเมินกันว่ามูลค่าตลาดในแต่ละปีไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มีผู้กระโดดเข้ามาขอแบ่งเค้กมากมาย การทำการตลาดจึงต้องใช้ทุกรูปแบบ
"อรุณี เกษตระทัต" เวิร์กกิ้งวูแมน แห่งบริษัทจัดหางาน เอเอ ทาเลนท์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเฟ้นหาบุคลากรระดับสูงในองค์กรใหญ่ ๆ มากว่า 30 ปี สะท้อนภาพธุรกิจจัดหางานในวันนี้ให้ฟังว่า
เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว บริษัทจัดหางานมีบทบาทน้อยมาก แต่วันนี้เปิดกันเป็น ดอกเห็ด เฉพาะรายเล็กรายน้อยมี 200-300 บริษัท
ซึ่งเมื่อก่อนบริษัทจัดหางานแบรนด์ อินเตอร์ ค่าบริการจะค่อนข้างสูง สามารถเรียกค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ แต่มาวันนี้แทบจะเฉือนคอกัน ต้องจัดรายการลดแลกแจกแถมไม่ต่างจากธุรกิจอื่น
และบริษัทจัดหางานที่ได้รับความนิยมจากนายจ้างสูงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือบริษัทจัดหางานออนไลน์ที่สามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
แต่ทว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัท ก็ต้องปิดตัวลง บริษัทจัดหางานที่อยู่ได้ จะต้องเป็นบริษัทที่มีจุดแข็งในตัวเอง
"อรุณี" บอกว่า หากติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดแรงงาน จะพบว่า ช่องทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการสรรหาบุคลากรหลัก ๆ จะมี 3 วิธี คือ 1.ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 2.ใช้เฮดฮันเตอร์ และ 3.ใช้ฐานข้อมูลของบริษัทที่มีอยู่
โดยในระยะหลังจะสังเกตเห็นว่า นายจ้างส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้บริการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วเพราะ เห็นว่าค่าใช้จ่ายสูง แต่จะเลือกใช้ เฮดฮันเตอร์มากกว่า เพราะมองว่าจะทำให้ได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับงานที่ต้องการมากกว่าในระดับค่าใช้จ่ายเท่า ๆ กัน
และด้วยเหตุผลนี้ในปี 2553 เอเอ ทาเลนท์ จึงเลือกที่จะบุกตลาดจัดหางาน ในภูมิภาคนี้แบบเต็มสตีม
"ประสบการณ์ในการทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์มาอย่างยาวนาน ทำให้เราเชื่อมั่นในจุดแข็งขององค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาคนได้ตรงกับงาน จะทำให้กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการมั่นใจในบริการพร้อมบอกต่อเพื่อน ๆ"
ซีอีโอของเอเอ ทาเลนท์ บอกถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและยุทธวิธีในการทำงานที่เหนือชั้นกว่า
"เทคนิคการดูคนที่มีคุณสมบัติตรงกับงานและวัฒนธรรมองค์กรเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานเข้ามาช่วยวิเคราะห์คล้าย ๆ หมอดู แล้วต้องจับคู่ให้ดีที่สุดเพราะไม่มีผู้สมัครคนไหนดีหรือไม่ดี หรือนายจ้างก็ไม่มีใครดีหรือไม่ดี
แต่ทุกคนที่เดินเข้ามาที่เอเอ ทาเลนท์ ต้องโปร่งใส พูดความจริง บางองค์กรบอกว่าขี่เสือดีกว่าขี่เต่า อยากได้เซลส์ที่กะล่อน ก็จะต้องหาคนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่องค์กรต้องการ บางคนทำงานดีแต่ถูกแกล้งให้ ลาออก ก็ต้องหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกับบุคลิกของคนคนนั้น"
"อรุณี" บอกว่า เอเอ ทาเลนท์เป็นเสมือนแมวมอง จะคอยดูว่าคนไหนเป็น talent คนไหนมีศักยภาพที่เรียนรู้เร็ว
แล้วดูความต้องการของลูกค้าว่าต้องการคนเกรดเอ เกรดบี ซึ่งที่ผ่านมาโจทย์ของลูกค้าไม่ซ้ำกันเลย แต่บริษัทก็สามารถจัดการให้กับลูกค้าได้ ขอเพียงให้คนหาเข้าใจว่าต้องการหาคนแบบไหน เอเอ ทาเลนท์จัดให้หมด แถมรับประกันทุกที่จะได้พนักงานใหม่แบบตรงใจภายในสี่เดือน
เมื่อถามว่าการจับคู่งานกับคนของเอเอ ทาเลนท์แม่นขนาดไหน "อรุณี" ยิ้มแล้วบอกแบบมีนัยว่า ตรงนี้สามารถวัดได้จากอัตราการลาออกของพนักงานที่ส่งเข้าไปให้กับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่บุคลากรที่บริษัทคัดเลือกให้กับบริษัทต่าง ๆ จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แล้วกลับมาใช้บริการกับเอเอ ทาเลนท์อีกเป็นวงจร
ซึ่งนับจากที่ก่อตั้งบริษัทในปี 2551 เปิดให้บริการปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และจีน ลูกค้าที่มาใช้บริการจะมาจากหลากหลายวงการ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะการให้บริการของเอเอ ทาเลนท์นั้น นอกจากเรื่องของการสรรหา การคัดเลือกบุคลากรด้วยระบบฐานข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์และดูแลจัดการบุคลากรตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันไป
ยังให้บริการครอบคลุมไปถึงการ ให้ คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในบริษัท การสื่อสารในองค์กร และการให้คำแนะนำสู่การเป็นผู้นำการปรับองค์กร โปรแกรมสวัสดิการพนักงาน ฯลฯ
จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ยาวนานถึง 32 ปี "อรุณี" บอกว่า วันนี้มนุษย์เงินเดือนที่ค่าตัวแพงที่สุด คือกลุ่มของผู้บริหารระดับผู้อำนวยการ หรือ
ผู้จัดการวัดความเสี่ยงของธุรกิจ (enterprise with management) ซึ่งในอเมริกามีการควานหาคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานประมาณ 3 ปีแล้ว ในองค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งมีทั้งธุรกิจประกัน การเงิน และธุรกิจอื่น ๆ เพราะบุคลากรด้านนี้ขาดแคลนมาก ผู้มีความรู้ ที่มีอยู่ในตลาดเพียงไม่กี่คนก็กำลังจะ เกษียณอายุ จึงไม่มีผู้มาสืบทอดตำแหน่ง
อีกวิชาชีพหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดนั่นคือ คนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์-วิจัยตัวสินค้าสุขภาพต่าง ๆ (health economic organization research management-HEOR) เช่น การวิเคราะห์ว่ายาตัวนี้มีความเสี่ยงกับสิ่งแวดล้อม คนไข้ แพทย์ หรือกระทบต่อเศรษฐกิจของบริษัท หรือทำหน้าที่วิเคราะห์โปรแกรมการตลาดที่ออกโดยโรงพยาบาลว่าโปรแกรมนี้เหมาะสม ที่จะนำมาใช้หรือไม่ ฯลฯ
ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องจบตรีด้านเภสัชกร แล้วไปต่อปริญญาโทด้านนี้ ซึ่งในไทยการผลิตคนกลุ่มนี้เพียง 3 สถาบัน สถาบันละ 10 คนเท่านั้น และใน 90% ของนักศึกษาที่จบมักจะไปทำงานกับหน่วยงานราชการเพื่อทำงานวิจัยในโครงการของรัฐ
คนที่จะเข้ามาทำงานในภาคเอกชนมีน้อยมาก ทำให้ค่าตัวของคนกลุ่มนี้พุ่งสูงถึง 200,000 บาทต่อเดือน ในอเมริกาวิชาชีพนี้มีความต้องการอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในประเทศไทยก็กำลังเดินไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับวิชาชีพที่โดดเด่นมีการหมุนเวียนในตลาดสูงในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา "อรุณี" ยังมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการตลาดและการขาย โดยเฉพาะใน ธุรกิจยา ถ้าเป็นแพทย์แล้วมีความรู้เชิงธุรกิจด้วยยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาด
เอเอ ทาเลนท์ แม้เพิ่งแจ้งเกิดในประเทศไทยไม่นาน แต่ด้วยคุณภาพของงานและชื่อเสียงของผู้บริหารที่คลุกคลีอยู่ในวงการนักบริหารทรัพยากรมนุษย์มาตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้บริษัทแห่งนี้ มีผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูเช่นในอดีต
หน้า 27

วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4206  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด