เปิดสูตร HR 2009 ต้องนำการเปลี่ยนแปลง MUSLIMTHAIPOST

 

เปิดสูตร HR 2009 ต้องนำการเปลี่ยนแปลง


584 ผู้ชม


เปิดสูตร HR 2009 ต้องนำการเปลี่ยนแปลง




ท่ามกลางกระแสการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง บวกกับเศรษฐกิจที่ผันแปร และสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ การบริหารองค์กรภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จึงเป็นเรื่องยากกว่าปกติ โดยเฉพาะความต้องการและความจำเป็นที่แต่ละองค์กรต้องพัฒนาตัวเองเพื่อความอยู่รอด ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล(Human Resource Development: HR)จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสถานะของตนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ เอชอาร์ ต้องตระหนักมากขึ้นในปัจจุบัน และเป็นความคาดหวังของผู้บริหารระดับสูงในองค์กร จึงไม่ใช่ การทำงานประจำไปวันๆ เช่น การรับสมัครงาน จ่ายเงินเดือนพนักงาน ดูแลสวัสดิการพนักงาน ฯลฯ แต่สิ่งที่องค์กรในปัจจุบันต้องการคือ การเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองด้วยการเปลี่ยนบทบาท วิธีคิด และการจัดการ เพื่อนำพาองค์กรก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
"บทบาทของ เอชอาร์ยุคใหม่ ตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าต้องไม่ใช่แค่การเป็น Business Partner หรือ การเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จขององค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำหน้าที่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่ดีอีกด้วย"
อาจารย์มาริสา เชาว์พฤฒิพงศ์ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายพร้อมกับขยายความว่า ฝ่ายเอชอาร์ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ คิดแตกต่าง และไม่ยึดติดอยู่กับคำสั่งนาย หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีต่อการพัฒนาหรือส่งเสริมศักยภาพคนในองค์กร ต้องกล้าและพร้อมที่จะเดินเข้าไปเสนอหลักการ แนวคิด การปรับเปลี่ยนองค์กรกับผู้บริหาร
นอกจากนี้ เอชอาร์ยุคใหม่ ยังต้องทำงานในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น หรือเป็นทั้งผู้วางแผน กำหนดแนวทางการบริหารคน รวมทั้งเข้าไปแนะแนวทางในการปฏิบัติ ขณะที่ภารกิจในเชิงปฏิบัติการนั้นให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาดำเนินการ
ด้านอาจารย์ชัยทวี เสนะวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด อดีตผู้บริหารที่เคยร่วมงานกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มากว่า 20 ปี กล่าวถึงบทบาทของฝ่ายเอชอาร์ในเชิงกลยุทธ์ โดยยกตัวอย่าง การกำหนดให้พนักงานในองค์กรใช้งานห้องสมุดได้ตลอดเวลาทำงาน เพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ ที่น่าสนใจ คือ บรรณารักษ์ขององค์กรนี้ จะทำหน้าที่ให้บริการค้นหาข้อมูลให้ก็ต่อเมื่อพนักงานไม่สามารถที่จะหาหนังสือ หรือเอกสารในเรื่องที่สนใจได้ โดยบรรณารักษ์จะรับหน้าที่สืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตมาให้ ซึ่งแตกต่างไปจากหลายองค์กรที่ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและบันทึกการเข้าออกของพนักงานในการเข้ามาใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชัยทวีกล่าวเน้นว่า แนวคิดและนโยบายต่างๆที่ฝ่ายเอชอาร์ ได้วางแผนหรือกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ออกมา นั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดความร่วมมือและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำในองค์กร ที่ต้องลงมือปฏิบัติให้พนักงานเห็นก่อน
เช่น ฝ่ายเอชอาร์ต้องการสร้างองค์กรให้พนักงานเข้าทำงานตรงเวลา ผู้บริหารจะต้องปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยเริ่มมาทำงานให้ตรงเวลา และใช้เทคนิคการบริหารแบบ Management by walking around ควบคู่กันไปด้วย
"จากนี้ไปคนในฝ่ายเอชอาร์ จะต้องไม่สำคัญตนผิดว่า หน้าที่การบริหารงานบุคคลนั้นเป็นหน้าที่ของตนฝ่ายเดียว เพราะนักบริหารตัวจริง คือ Line manager หรือซีอีโอ และเอ็มดี ส่วนบทบาทของฝ่ายเอชอาร์ คือ การสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ทำงานเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริหาร"
ในขณะเดียวกันงานของฝ่ายเอชอาร์แนวโน้มในอนาคตจะต้อง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา(consultant)ให้กับผู้บริหาร รวมทั้ง ค้นหาเครื่องมือ เครื่องใช้ และกำหนดกลยุทธ์การบริหารคน ทำงานคู่ไปกับไลน์แมเนเจอร์ถึงวิธีการบริหารคนที่ดีและถูกต้องด้วย
ขณะที่ อาจารย์มาริสากล่าวเสริมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยแนะนำให้ ฝ่ายเอชอาร์ จัดทำคู่มือการบริหารงานบุคคลแจกให้กับผู้บริหารแต่ละฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องทำการตัดสินใจ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง การลงโทษ ฯลฯ เพื่อให้ทำได้อย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ควรจะเป็นมิใช่ตัดสินใจจากความรู้สึกส่วนตัว
แนวโน้มของฝ่ายเอชอาร์อีกส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คือ การวางตัวเองเป็น Human Capital Manager หรือการมองบุคลากรเป็นทั้งทุนและต้นทุนที่ต้องบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องสร้างองค์กรให้เป็น Employer Branding หรือ Employer of choice ด้วยการพยายามทำให้องค์กรเป็นทางเลือกของแรงงานที่มีความสามารถและศักยภาพ
ซึ่งอาจารย์ชัยทวี ยอมรับว่า แนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นชัดเจน จากเดิมองค์กรเป็นผู้เลือกพนักงาน แต่ตอนนี้ผู้มีความรู้ความสามารถจะเป็นผู้เลือกองค์กรที่ตนอยากจะเข้าทำงานด้วย บริษัทจึงต้องบริหารองค์กรให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อดึงดูดให้คนเหล่านี้นำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาร่วมลงทุนกับบริษัท โดยแต่ละองค์กรจะต้องพยายามค้นหาลักษณะเด่นของตัวเองออกมา
เขายกตัวอย่างหน่วยงานราชการที่ แม้จะจ่ายผลตอบแทนเงินเดือนไม่สูงนัก แต่คนรุ่นใหม่มองว่า เป็นหน่วยงานที่มั่นคง ทั้งยังสามารถทำงานให้กับสังคมได้ ขณะที่บางองค์กรชูตัวเองเป็นองค์กรแห่งการพัฒนา เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เพื่อดึงคนที่ชื่นชอบการคิดสร้างสรรค์เข้ามาร่วมงาน ด้วย "วันนี้แต่ละองค์กรจึงต้องพยายามหาลักษณะเด่นของตัวเองให้พบ ซึ่งฝ่ายเอชอาร์มีส่วนผลักดันในเรื่องเหล่านี้ได้"
บทบาทของเอชอาร์อีกส่วนที่จะต้องเพิ่มเข้ามาในอนาคต คือ บทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ(ซีเอสอาร์) ซึ่งเดิมบทบาทนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาด แต่วันนี้ฝ่ายเอชอาร์ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะสรรค์สร้างกิจกรรมต่างๆปลูกฝังให้พนักงานเกิดความรับผิดชอบต่อสังคม และจะต้องร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องนี้กับฝ่ายการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ อาจารย์มาริสา กล่าวทิ้งท้ายให้ข้อคิดผู้นำองค์กรว่า องค์กรใดก็ตามที่มีฝ่ายเอชอาร์เป็นมืออาชีพควรให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ และผู้บริหารควรมองว่า ฝ่ายเอชอาร์จะมาช่วยแบ่งเบาภาระ และร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้
พร้อมกับฝากถึงคนทำงานฝ่ายเอชอาร์ว่า การทำให้องค์กรเป็น High Performance Organization ไม่ใช่เรื่องยาก หากฝ่ายเอชอาร์ทำงานโดยใช้สูตร 3 H คือ การลงมือทำ(hand) ใช้มันสมอง(head) และทำงานด้วยหัวใจ (heart) ก็จะสัมฤทธิผล ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า ทำให้ผู้บริหารมีเวลาที่จะบริหารงานให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้

อ้างอิง thannews.th.com


อัพเดทล่าสุด