คนไทยซื้อชุดทำงานที่ "คุณภาพ-ราคา" MUSLIMTHAIPOST

 

คนไทยซื้อชุดทำงานที่ "คุณภาพ-ราคา"


515 ผู้ชม


คนไทยซื้อชุดทำงานที่ "คุณภาพ-ราคา"




เผยผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคต่อการเสื้อผ้าชุดทำงานของคนไทย จาก 3 ตลาดหลัก คือ ตลาดนัด, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า พบว่า ผู้ชายชอบซื้อชุดทำงานที่ "ห้างฯ" ส่วนผู้หญิงหลงเสน่ห์ "ตลาดนัด" พวกเขาซื้อชุดทำงานที่ "คุณภาพ" และ "ราคา" เป็นหลัก แต่ตัดสินใจซื้อทันทีที่ "ชอบ" สินค้าลดราคายังมีมนต์ขลัง...!

การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงานของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคเสื้อผ้า โดยทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) ร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)โดยการสำรวจในแต่ละประเภท ได้มีการจำแนกตามลักษณะตลาดของการบริโภคภายในประเทศ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงาน ได้มีการสำรวจในหลายตลาดด้วยกัน ได้แก่
 
1.ตลาดนัด  : ตลาดที่ใช้ในการสำรวจข้อมูล ได้แก่ ตลาดนัดสวนจตุจักร, สวนลุมไนท์ บลาซา พลาซา, ตะวันนา, หลังการบินไทย, ซอยละลายทรัพย์  และที่มศว.
 
2.ตลาดไฮเปอร์มาเก็ต  : ตลาดที่ใช้ในการสำรวจข้อมูล ได้แก่ คาร์ฟูร์, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, แมคโคร และจัสโก
 
3.ห้างสรรพสินค้า : ตลาดที่ใช้ในการสำรวจข้อมูล ได้แก่ เซ็นทรัล, โรบินสัน, สยามพารากอน, ดิ เอ็มโพเรียม และเดอะมอล์
 
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้บริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงาน ในด้านผลิตภัณฑ์ ราคา และการส่งเสริมการตลาด และเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงาน ในด้านราคา  ความถี่ และโอกาสในการเลือกซื้อสินค้า ตลอดจน ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าชุดทำงาน
 
 ในภาพรวมทัศนคติของผู้บริโภคชุดทำงาน ทางด้านภาพลักษณ์ของลักษณะทางผลิตภัณฑ์รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคจะอยู่ในระดับมากและปานกลาง ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เลือกซื้อชุดทำงาน โดยเฉพาะลักษณะของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคจะมีความเห็นที่ใกล้เคียงกัน เช่น ความเรียบร้อยในการตัดเย็บ ความคงทนของสีและผ้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าเมื่อชอบหรือถูกใจ
 
แต่หากเติมเติมรูปแบบ สีสัน ลวดลาย ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น และการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคสนใจมากที่สุด คือ การลดราคาชุดทำงานในระดับ 30%-50% จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า
 
สำหรับราคาที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 201–600 บาท นอกจากนี้ยังได้สำรวจถึงการรับสื่อของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนัก ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมากกว่า ถ้าหากผู้ขายต้องการโฆษณาสินค้าของตน จึงควรโฆษณาผ่านทางนิตยสาร ซึ่งน่าจะเป็นสื่อที่ดีที่สุดของผู้บริโภค
 
1. ตลาดนัด จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคที่ซื้อชุดทำงานที่ตลาดนัด ชอบชุดทำงานที่มีความทันสมัยและความสวยงาม ประกอบกับด้านราคาชุดทำงานที่จำหน่ายที่ตลาดนัดมีราคาไม่แพง ราคาที่เหมาะสม ควรอยู่ในระดับ 200 - 400 บาท แต่ราคาชุดทำงานที่ตลาดนัดจะมีราคาใกล้เคียงกับตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต หากผู้ขายในตลาดนัดต้องการสร้างข้อได้เปรียบจึงควรลดราคาลง นอกจากนี้ผู้ขายชุดทำงานในตลาดนัดควรปรับปรุงทางด้านนโยบายในการคืนสินค้า รวมทั้งจัดสถานที่สำหรับลองเสื้อ ถึงแม้ว่าพื้นที่ร้านในตลาดนัดจะค่อนข้างจำกัด หากแบ่งสัดส่วนของร้านให้ดีก็อาจสามารถใช้เป็นห้องลองเสื้อได้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหากการคืนสินค้าของลูกค้าในภายหลัง
 
นอกจากนี้ทางร้านอาจเสริมนโยบายทางการตลาดในด้านราคาและโปรโมชั่น เช่น ลดราคา เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหลายชิ้น เมื่อเป็นลูกค้าประจำ จัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลต่างๆ
 
2. ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต การลดราคาในช่วง 10% – 20 % หรือ 30% – 50%  จะทำให้ผู้ซื้อสนใจซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ขายอาจจะจัดตามเทศกาลหรือตามความเหมาะสมเพื่อกระตุ้นยอดขายในแต่ละช่วง และควรพัฒนาคุณภาพชุดทำงาน เช่น ควรมีประเภทเสื้อผ้าชุดทำงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น
 
3. ห้างสรรพสินค้า จากผลการผลการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงานต่อผลิตภัณฑ์ ราคา สถานที่หรือช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาดของห้างสรรพสินค้าอยู่ในระดับที่ดี หากผู้ขายต้องการลดราคาชุดทำงาน ควรลดราคา 30% – 50% ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้บริโภคได้ให้ความสนใจ

หนุ่มๆ ซื้อที่ห้างฯสาวๆ หลงเสน่ห์ตลาดนัด

ผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคต่อเสื้อผ้าชุดทำงานในตลาดนัด  ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต  และห้างสรรพสินค้า พบว่า

ตลาดนัด  : โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 54.3  และเป็นเพศชายร้อยละ 45.7 กลุ่มอายุที่สำรวจได้ส่วนใหญ่จะมีอายุ  20 – 25 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.3 และเป็นพนักงานเอกชนร้อยละ 55.7 และมีรายได้อยู่ในระดับ 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 21.4  
 
ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต : โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 62.9  และเป็นเพศหญิงร้อยละ 37.1  กลุ่มอายุที่สำรวจได้ส่วนใหญ่จะมีอายุ  26 - 30 ปี  ร้อยละ 38.6 และเป็นพนักงานเอกชนร้อยละ 44.3 และจากการสำรวจโดยส่วนใหญ่จะมีรายได้อยู่ในระดับ 10,001 – 15,000 บาท ร้อยละ 32.9
 
ห้างสรรพสินค้า : โดยส่วนใหญ่เป็นเป็นเพศชาย 77.1 และเพศหญิงร้อยละ 22.9 กลุ่มอายุที่สำรวจได้ส่วนใหญ่จะมีอายุ 26–30 ปี คิดเป็นร้อยละ 50.0 และและเป็นพนักงานเอกชนร้อยละ 53.6 มีรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 15,001–10,000 บาท ร้อยละ 29.3
 
ทัศนคติของผู้บริโภคที่เลือกซื้อชุดทำงานที่ "ตลาดนัด" ต่อลักษณะทางผลิตภัณฑ์  จำแนกตามช่วงของรายได้ พบว่า ในความเห็นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ “มาก”  เน้นไปที่ประเภทของเสื้อผ้าที่มีให้เลือก ขนาดของเสื้อผ้า รูปแบบความทันสมัย สีสัน ลวดลายของชุดทำงาน และนโยบายในการคืนสินค้า
 
ขณะที่กลุ่ม  “ปานกลาง” มุ่งไปที่ความเรียบร้อยในการตัดเย็บ ความสบายของเนื้อผ้า ความคงทนของสีผ้าและเนื้อผ้า และความมีชื่อเสียงของเสื้อผ้า
 
หากจำแนกตามรายได้ทัศนคติของผู้บริโภคที่เลือกซื้อชุดทำงานที่ "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" ต่อลักษณะทางผลิตภัณฑ์ จำแนกตามช่วงของรายได้ พบว่า ในความเห็นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ  “มาก”  ได้แก่  ประเภทของเสื้อผ้าที่มีให้เลือกขนาดของเสื้อผ้า รูปแบบความทันสมัย สีสันของชุดทำงาน ความเรียบร้อยในการตัดเย็บ ความสบายของเนื้อผ้า ความคงทนของสีผ้าและเนื้อผ้า ส่วนที่มีทัศนคติ “ปานกลาง” ได้แก่ ลวดลายของชุดทำงาน ความมีชื่อเสียงของเสื้อผ้า และนโยบายในการคืนสินค้า
  
ส่วนทัศนคติของผู้บริโภคที่เลือกซื้อชุดทำงานที่ "ห้างสรรพสินค้า" ต่อลักษณะทางผลิตภัณฑ์ จำแนกตามช่วงของรายได้ พบว่า ในความเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อลักษณะทางผลิตภัณฑ์โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ “มาก”  ได้แก่ ประเภทของเสื้อผ้าที่มีให้เลือก ขนาดของเสื้อผ้า รูปแบบความทันสมัย สีสันและลวดลาย ความเรียบร้อยในการตัดเย็บ ความสบายของเนื้อผ้า ความคงทนของสีผ้าและเนื้อผ้า ความมีชื่อเสียง และนโยบายในการคืนสินค้า

"ราคา" แรงบันดาลใจซื้อ

ซึ่งทัศนคติของผู้บริโภค ที่บริโภคซื้อชุดทำงานที่ "ตลาดนัด" และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ได้แก่ ด้านราคา สถานที่และช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด จำแนกตามช่วงของรายได้ ในความเห็นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ พบว่า  “มาก”  ได้แก่ ราคาต่อความสวยงาม ราคาต่อความคงทนจำนวนหรือสถานที่จัดจำหน่าย ความสะดวกในการเดินทาง การลดราคาเมื่อซื้อหลายชิ้น
 
ส่วน “ปานกลาง” ได้แก่ ความน่าสนใจในการจัดวางสินค้า ความสะดวกขณะเลือกซื้อ การลดราคาเมื่อเป็นสมาชิกกับร้านค้า และ “น้อย”  ได้แก่ ความสะดวกในการใช้ห้องลองเสื้อ
 
สำหรับทัศนคติของผู้บริโภค ที่บริโภคชุดทำงานที่ตลาด "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ได้แก่ ด้านราคา สถานที่และช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด จำแนกตามช่วงของรายได้ ในความเห็นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ พบว่า
 
“มาก”  ได้แก่ ราคาต่อความสวยงาม ราคาต่อความคงทน ราคาชุดทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับความมีชื่อเสียง จำนวนหรือสถานที่จัดจำหน่าย ความน่าสนใจในการจัดวางสินค้า ป้ายบอกตำแหน่งเคาเตอร์จัดจำหน่าย ความสะดวกในการใช้ห้องลองเสื้อ การบริการของพนักงานขาย
 
“ปานกลาง” ได้แก่ การโฆษณาผ่านทางหนังสือพิมพ์ แผ่นพับหรือใบปลิว และป้ายโฆษณากลางแจ้ง
 
ทัศนคติของผู้บริโภค ที่บริโภคชุดทำงานที่ "ห้างสรรพสินค้า" และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ได้แก่ ด้านราคา สถานที่และช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด จำแนกตามช่วงของรายได้ ในความเห็นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ พบว่า “มาก”  ได้แก่ ราคาต่อความสวยงาม ราคาต่อความคงทน ราคาชุดทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับความมีชื่อเสียง จำนวนหรือสถานที่จัดจำหน่าย ความน่าสนใจในการจัดวางสินค้า ป้ายบอกตำแหน่งเคาเตอร์จัดจำหน่าย ความสะดวกในการใช้ห้องลองเสื้อ การโฆษณาผ่านทางหนังสือพิมพ์ แผ่นพับหรือใบปลิว ป้ายโฆษณากลางแจ้ง และการบริการของพนักงานขาย

ซื้อเมื่อชอบมากสุด

หากเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อการตัดสินใจที่เลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานในแต่ละครั้ง จำแนกตามลักษณะตลาดที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ พบว่า ผู้บริโภคที่เลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานใน "ตลาดนัด" โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานเมื่อชอบมากถึงร้อยละ 88.6 รองลงมา คือ การจัดรายการลดราคาร้อยละ 7.9  และซื้อเมื่อมีโอกาสสำคัญร้อยละ 3.6
 
ในตลาด "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานเมื่อชอบร้อยละ 65.7 รองลงมาคือ ซื้อเมื่อมีการจัดรายการลดราคาร้อยละ 23.6 ซื้อเมื่อมีโอกาสสำคัญร้อยละ 7.1  และอื่น ๆ  อีกร้อยละ  3.6  และใน "ห้างสรรพสินค้า" โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานเมื่อชอบร้อยละ 49.3 รองลงมาคือ ซื้อเมื่อมีการจัดรายการลดราคาร้อยละ 37.9 ซื้อเมื่อมีโอกาสสำคัญร้อยละ 8.6 และอื่นๆ  อีกร้อยละ 4.3
 
ถ้า เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานโดยเฉลี่ยต่อความถี่ในเลือกซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภค จำแนกตามลักษณะตลาดที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ พบว่า ผู้บริโภคที่เลือกซื้อชุดทำงานใน "ตลาดนัด" โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานทุกเดือนร้อยละ 22.9  รองลงมาคือ ทุก 3 เดือน ร้อยละ 22.1   อื่นๆ ร้อยละ 20.7  ทุกปี ร้อยละ 13.6  ทุก 6 เดือนร้อยละ 12.1 ทุก 2 สัปดาห์ 5.7 และทุกสัปดาห์ร้อยละ 2.9

โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานต่อลักษณะการซื้อโดยส่วนมาก จำแนกตามลักษณะตลาดที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ พบว่า ผู้บริโภคที่เลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานใน "ตลาดนัด" โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อในราคาเต็มคิดเป็นร้อยละ 65.7 รองลงมาคือ ลดราคา 70%  ร้อยละ 21.4  ลดราคาร้อยละ 10-20%  ร้อยละ 8.6 และลดราคา 30-50%   ร้อยละ 4.3 ส่วนใหญ่ดูความสวยงาม รูปแบบ ความทันสมัยของสินค้าร้อยละ 25.7
 
ผู้ที่ซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานตลาด "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" โดยส่วนใหญ่ดูคุณภาพของสินค้าคิดเป็นร้อยละ 23.8 จะเลือกซื้อที่ลดราคา 30-50%  คิดเป็นร้อยละ 42.1 รองลงมาคือ ลดราคาร้อยละ 10-20%  คิดเป็นร้อยละ 38.6  ซื้อในราคาเต็ม คิดเป็นร้อยละ 10.7  ลดราคา 70% และอื่นๆ มีจำนวนเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 4.3
 
ผู้บริโภคที่เลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานใน "ห้างสรรพสินค้า" โดยส่วนใหญ่ดูคุณภาพของสินค้าร้อยละ 22.9  จะเลือกซื้อที่ลดราคา 30-50%  คิดเป็นร้อยละ 42.9  รองลงมาคือ ลดราคา 10-20%  ร้อยละ 33.6   ซื้อในราคาเต็ม ร้อยละ 14.3  ลดราคา 70%  ร้อยละ 7.1  และอื่นๆ ร้อยละ 2.1

ชอบการลดราคากว่า 50%

ผู้บริโภคที่เลือกซื้อประเภทเครื่องนุ่งห่มใน "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่อการลดราคาสินค้าคิดเป็นร้อยละ 50.7 รองลงมาคือ การให้สิทธิ์ในการแลกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่าปกติร้อยละ 18.9  การให้ของแถมเมื่อซื้อครบตามยอดที่กำหนดร้อยละ 17.6  การมีรายการชิงโชคร้อยละ 6.2   การโฆษณาตามขนส่งมวลชนต่างๆ ร้อยละ 5.3  และอื่นๆ ร้อยละ 1.3
 
ผู้บริโภคที่เลือกซื้อประเภทเครื่องนุ่งห่มใน "ห้างสรรพสินค้า" โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่อการลดราคาสินค้าคิดเป็นร้อยละ 52.7  รองลงมาคือ การให้ของแถมเมื่อซื้อครบตามยอดที่กำหนด และการให้สิทธิ์ในการแลกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่าปกติมีจำนวนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 17.3  การมีรายการชิงโชคและการโฆษณาตามขนส่งมวลชนต่างๆ มีจำนวนที่เท่ากันคือ ร้อยร้อยละ 5.9   และอื่นๆ ร้อยละ 0.8
 
สำหรับผู้บริโภคที่เลือกอื่นๆ โดยที่ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตมีจำนวนร้อยละ 1.3 และที่ห้างสรรพสินค้าร้อยละ 0.8  ซึ่งจากการสำรวจจากทั้ง 2 ตลาดนี้ พบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญหรือการส่งเสริมการขาย แต่จะขึ้นอยู่กับความชอบหรือความพึงพอใจโดยส่วนตัวของผู้บริโภคในแต่ละครั้งที่ซื้อ

ที่มา : https://www.businessthai.co.th


อัพเดทล่าสุด