HR - SCORECARD กับบทบาทใหม่ในการบริหารคน MUSLIMTHAIPOST

 

HR - SCORECARD กับบทบาทใหม่ในการบริหารคน


710 ผู้ชม


HR - SCORECARD กับบทบาทใหม่ในการบริหารคน




     HR-Scorecard หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบโครงสร้างตัวชี้วัดผลงานในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อคุณค่าขององค์กร และโครงสร้างนี้จะเป็นตัวนำไปสู่ตัวชี้วัดย่อยๆ ในการบริหารงานด้าน HR การจัดทำ HR-Scorecard จะช่วยให้คนทำงานด้าน HR สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่างานในแต่ละงานที่จะต้องทำนั้นทำไปทำไม เกิดผลกระทบอะไรต่อเป้าหมายขององค์กร

สำหรับการออกแบบ HR-Scorecard จะต้องคำนึงถึง 3 ส่วนที่สำคัญดังนี้

  1. ระบบงานภายในของ HR ระบบย่อยๆ ในงาน HR จะต้องมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นระบบการสรรหา ระบบการพัฒนาฝึกอบรม ระบบค่าจ้างค่าตอบแทน ฯลฯ การทำให้ระบบงานภายในหน่วยงาน HR มีประสิทธิภาพนั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจัดทำมาตรฐานระบบงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือการใช้บริการหน่วยงานภายนอก (Out-sources)
  2. การปรับแต่งกลยุทธ์ของ HR ระบบงานของ HR เปรียบเสมือนฐานรากของอาคารที่จะต้องรองรับโครงสร้างส่วนอื่นๆได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การออกแบบฐานรากที่ดีจะต้องทำความเข้าใจกับส่วนอื่นๆของอาคารด้วย เช่น จำนวนชั้น ลักษณะของอาคาร ฯลฯ อย่างถ่องแท้เสียก่อน การที่จะทำให้ระบบงานย่อยของ HR มีคุณค่าต่อองค์กรก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องเชื่อมโยงระบบต่างๆ ไปสู่เป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์ของ HR จะต้องสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนกลยุทธ์ขององค์กร
  3. ประสิทธิภาพของงานด้าน HR ที่มีต่อผลงานขององค์กร กิจกรรมทางด้าน HR จะต้องสามารถวัดได้ และสามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ชัดเจน ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของ HR สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านคือ
  • ตัวชี้วัดด้านต้นทุน (Cost) ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าการดำเนินงานด้าน HR อยู่บนพื้นฐานของจิตสำนึกในเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่าย

  • ตัวชี้วัดด้านการสร้างคุณค่าเพิ่มให้องค์กร (Corporate Value Added) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้วัดผลกระทบของกิจกรรมทางด้าน HR ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยผ่านกระบวนการในด้านต่างๆ เช่น การสรรหาคนที่เก่งๆทางด้านการตลาด และคนเก่งๆที่ได้มานั้นเข้ามาช่วยสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดให้องค์กรเป็นผู้นำทางด้านการตลาดได้

         จะเห็นว่าการออกแบบ HR-Scorecard ไม่ใช่เพียงการออกแบบตัวชี้วัดผลงานทางด้าน HR เท่านั้น แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร โดยเป็นส่วนขยายที่จะทำให้เราเห็นภาพของ Learning and Growth Perspective ในระบบ Balanced Scorecard ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

        สรุป HR-Scorecard ถือเป็นเครื่องมือทางการจัดการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คนที่ทำงาน HR สามารถมองเห็นภาพความสัมพันธ์แผนผังกลยุทธ์ (Strategy Map) ในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ HR-Scorecard ยังสามารถกำหนดตัวชี้วัดในระดับต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถตอบได้ว่าตัวชี้วัดใดเป็นเพียงตัวชี้วัดผลของการดำเนินกิจกรรมทางด้าน HR ตัวชี้วัดใดเป็นตัวชี้วัดผลกระทบจากกิจกรรมของ HRที่มีต่อเป้าหมายขององค์กร  

        การนำเอาหลักการและแนวคิดของ HR-Scorecard มาใช้ในวงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในบ้านเรา อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เกิดความเหมาะกับสภาพแวดล้อม ใครที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนเองได้ก็สามารถทำได้เลย ใครไม่มั่นใจอาจจะต้องอาศัยตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือที่เรียกกันว่า Consultants ก็ไม่ว่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระดับความหนาแน่นของเงินทุนของแต่ละกิจการที่จะต้องไปพิจารณากันเอาเองนะครับว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการนำเอารถยนต์ชั้นดีมาวิ่งบนถนนลูกรัง ถนนยางมะตอยหรือถนนคอนกรีต….

    บทความ:ณรงค์วิทย์ แสนทอง
    narongwit_s@hotmail.com

     

  • อัพเดทล่าสุด