สาระสำคัญ ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน MUSLIMTHAIPOST

 

สาระสำคัญ ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน


663 ผู้ชม


สาระสำคัญ ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน




ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานหรือการรับจ้างทำงานไปจากระบบเดิมเป็นอย่างมาก โดยลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานจำนวนมากแสวงหาการทำงานที่มีรูปแบบอิสระมากขึ้น หรืออิสระที่จะทำงานโดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานยังสถานประกอบกิจการของผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง  ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มีได้กฎหมายคุ้มครองแรง     ผู้ใช้แรงงานเรียบร้อยแล้ว คือ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547

          งานที่รับไปทำที่บ้านตามกฎกระทรวง หมายถึง  งานที่ลูกจ้างรับจากนายจ้างไปผลิตประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือแปรรูปสิ่งของ  ซึ่งจะต้องเป็นการทำงานในบ้านของลูกจ้างเอง  หรือสถานที่อื่นซึ่งมิใช่สถานประกอบกิจการของนายจ้างตามที่ได้ตกลงกัน  เพื่อรับค่าจ้างเป็นการ   ตอบแทนการทำงาน  โดยใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตของนายจ้างทั้งหมด หรือบางส่วน  และโดยปกติการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของนายจ้าง

          กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 กำหนดให้ความคุ้มครองลูกจ้างในงานที่รับไปทำที่บ้าน ดังนี้

  • ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายหญิงเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เช่น การกำหนดค่าจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้
  • ห้ามนายจ้างหรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างหญิงหรือเด็ก
  • ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง
  • นายจ้างที่ส่งมอบงานให้ลูกจ้างต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน  ก่อนการส่งมอบงานในแต่ละครั้ง
  • ให้นายจ้างจัดทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ จำนวน 2 ฉบับ  ให้ลูกจ้าง 1 ฉบับ  และนายจ้าง 1 ฉบับ  พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้  โดยในสัญญาจ้างต้องมีรายการตามที่กฎกระทรวงกำหนด
  • ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องตามอัตราค่าจ้างที่กำหนดในสัญญาและต้องจ่ายไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งมอบงานให้แก่นายจ้าง  และห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง  เว้นแต่เป็นการหักเพื่อชำระเงินตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  ชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์  หรือหนี้เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลุกจ้างฝ่ายเดียว หรือหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบของนายจ้าง
  • ห้ามนายจ้างส่งมอบงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง เช่น งานผลิต ประกอบ บรรจุ แปรรูปวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เช่น งานทำพลุ ดอกไม้เพลิง งานผลิตหรือบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือวัตถุมีพิษ เช่น สารไซยาไนต์ สารก่อมะเร็ง หรืองานที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือวัตถุดิบมีพิษเป็นส่วนประกอบ
  • ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงาน และกำหนดมาตราหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ลูกจ้างใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อปลอดภัยในการทำงานที่นายจ้างจัดให้ด้วย
  • กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ตามที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกำหนด
  • กรณีนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในท้องที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือนายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้
  • กรณีนายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  ให้นำคดีไปสู่ศาลแรงงาน
  • การคุ้มครองตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน  ซึ่งหากเกิดปัญหาข้อขัดแย้งในการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว  คู่กรณีมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้

          ดังนั้น  ผู้ใช้แรงงานในระบบการรับงานไปทำที่บ้านก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน และมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลการทำงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และมีความสุขในการทำงานตลอดไป

ที่มา : สมาชิกเว็บไซต์

อัพเดทล่าสุด