ประเด็นสำคัญ เรื่อง คณะกรรมการสวัสดิการ MUSLIMTHAIPOST

 

ประเด็นสำคัญ เรื่อง คณะกรรมการสวัสดิการ


933 ผู้ชม


ประเด็นสำคัญ เรื่อง คณะกรรมการสวัสดิการ




1. ถาม

สถานประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างมีหน่วยงานหลายแห่งในจังหวัดต่างๆ แต่ละแห่งมีลูกจ้างไม่ถึง 50 คน แต่เมื่อรวมทุกหน่วยงานแล้วมีลูกจ้างเกิน 50 คน นายจ้างต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการหรือไม่

ตอบ

ไม่ต้องจัด เนื่องจากหน่วยงานของนายจ้างแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่ภายนอกถือเป็นสถานประกอบกิจการหนึ่งด้วย เมื่อมีลูกจ้างไม่ถึง 50 คน ก็ไม่อยู่ในข่ายต้องจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ตามมาตรา 96 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

2. ถาม

สถานประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างแต่ละหน่วยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ มีลูกจ้างเกิน 50 คน เมื่อได้ตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ ขึ้นแล้ว ต่อมามีการโอนย้าย

ตอบ

คณะกรรมการสวัสดิการยังคงทำหน้าที่จนกว่าจะสิ้นวาระการดำรงตำแหน่ง แม้ลูกจ้างในหน่วยงานนั้นจะลดลงไม่ถึง 50 คนก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการสวัสดิการฯ จะพ้นจากตำแหน่งกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง, มีคุณสมบัติบกพร่อง, สิ้นสภาพบุคคล หรือสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 18 และ 19 ประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีการร่วมหารือในระบบทวีภาคีเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ทั้งสองฝ่าย การมีคณะกรรมการสวัสดิการฯ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ควรมีขึ้นในทุกองค์กร แม้สถานประกอบกิจการใดมีลูกจ้างไม่ถึง 50 คน ก็สามารถจัดให้มีคณะกรรมการ่วมหารือในรูปแบบอื่นได้

3. ถาม

หากกรรมการสวัสดิการฯถูกโอนย้ายไปยังหน่วยงานอื่นทำให้คระกรรมการมีจำนวนลดลง แต่ยังมากกว่าหรือเท่ากับ 5 คน นายจ้างต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือไม่

ตอบ

นายจ้างต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อให้ได้ครบองค์คณะตามที่กำหนดไว้แต่แรก เนื่องจากกรรมการสวัสดิการฯ เป็นรูปแบบของคณะทำงานที่มีการจัดองค์กรภายในที่ถือเอาองค์คณะเป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการสวัสดิการฯ ต้องมีจำนวนมากพอที่จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ถาม

ตามปัญหาในข้อ 3 หากไม่สามารถถือเอากรรมการที่เหลืออยู่เป็นองค์คณะได้ นายจ้างสามารถแต่งตั้งผู้ได้รับคะแนนถัดลงไปเป็นกรรมการสวัสดิการฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่ต้องเลือกตั้งได้หรือไม่

ตอบ

ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่ง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้มีวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ทดแทน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับ พรบ.เลือกตั้ง

5. ถาม

ค่าตอบแทนต่างกับสวัสดิการอย่างไร

ตอบ

ค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างแรงงานหมายถืงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน ซึ่งได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด

 
  • สวัสดิการเป็นประโยชน์หรือสิทธิต่างๆ ที่มุ่งหมายให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  • สวัสดิการบางอย่างอาจตอบแทนการทำงาน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเงินได้ แต่ไม่ใช่ค่าจ้าง เช่น บ้านพัก รถรับส่ง

  • สวัสดิการบางอย่าง เช่น โบนัส เบี้ยขยัน เงินค่าครองชีพ เงินรางวัล ฯลฯ อาจถือเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจ่าย และเงื่อนไขในการจ่าย

6. ถาม

ความหมายของนายจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน กรณีสถานประกอบกิจการหลายแห่งที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แต่มีนายจ้างคนเดียวกัน ผู้จ่ายค่าจ้างคือบริษัทแม่ นายจ้างจะจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯชุดเดียวกัน โดยให้สิทธิพนักงานจากทุกบริษัทในเครือมาลงสมัครและลงคะแนนได้หรือไม่ หากตั้งไปแล้วจะทำอย่างไร

ตอบ

ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างหมายถึง ผู้ตกลงรับลูกจ้าเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำแทนนิติบุคคล ดังนั้น บริษัทในเครือที่จดทะเบียนแยกต่างนากจากกัน ถือว่าเป็นคณะนิติบุคคล แม้จะมีนายจ้างคนเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯ แยกต่างหากจากกันด้วย การที่บริษัทในเครือเป็นผู้รับลูกจ้างเข้าทำงาน แต่ผู้จ่ายค่าจ้างคือบริษัทแม่ ถือว่างเป็นเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างตามการตกลงที่นอกเหนือจากกาจ่ายตามปกติ

7. ถาม

จากคำถามในข้อ 6 หากสถานประกอบกิจการหลายแห่งที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน และมีนายจ้างคนเดียว มีสำนักงานตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน หรืออยู่ภายในบริเวณเดียวกัน นายจ้างจะจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯ ชุดเดียวกันดูแลการจัดสวัสดิการของทุกบริษัทในเครือได้หรือไม่

ตอบ

กรณีสถานประกอบกิจการที่จดทะเบียนแยกต่างหากจากกัน แม้จะมีนายจ้างคนเดียวกัน หรือตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ต้องมีคณะกรรมการสวัสดิการฯ แยกต่างหากจากกัน เนื่องจากเป็นคนละนิติบุคคล

8. ถาม

เทคนิคการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ

ตอบ

ควรมีการวางแผนการจัดตั้ง โดยกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการจัดตั้งให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีไม่มีพนักงานมาลงสมัครรับเลือกตั้ง นายจ้างควรเป็นผู้โน้มน้าวจิตใจ ให้การยอมรับต่อคณะกรรมการสวัสดิการฯ โดยประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างได้ทราบถึงประโยชน์ และในขั้นต้นควรให้ฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างานเป็นผู้ลงสมัคร เป็นต้น

9. ถาม

นโยบายการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ

ตอบ

ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50คนขึ้นไปทุกแห่งจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯ เร่งรัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งเสริมการดำเนินการของคณะกรรมการสวัสดิการฯ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

10. ถาม

คณะกรรมการสวัสดิการฯ สามารถตกลงกับนายจ้างกรณีนายจ้างขอลดสวัสดิการบางอย่างเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างได้หรือไม่

ตอบ

คณะกรรมการสวัสดิการฯ มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่

  • การร่วมหารือ ให้คำปรึกษา/ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์

  • ควบคุมดูแลการจัดสวัสดิการของนายจ้าง

ดังนั้นการเจรจาทำข้อตกลงกับนายจ้าง จึงเป็นการทำหน้าที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด กรณีการขอลดสวัสดิการเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างนายจ้างสามารถกระทำได้โดยลูกจ้างยินยอม และนายจ้างสามารถชี้แจงเหตุผลกับคณะกรรมการต่างๆ ภายในบริษัทได้ แต่จะมีผลผูกพันหรือไม่ขึ้นอยู่กับความยินยอมของลูกจ้างหรือตัวแทนลูกจ้างที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการเจรจาตามหลักแรงงานสัมพันธ์

11. ถาม

คณะกรรมการสวัสดิการฯ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรื่องการจ่ายโบนัส โดยมีการลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายในข้อตกลง ต่อมานายจ้างขอปรับลดสวัสดิการดังกล่าว แต่ลูกจ้างไม่ยินยอม และขอให้คณะกรรมการสวัสดิการฯ เจรจากับนายจ้างเพื่อยุติปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ตอบ

คณะกรรมการสวัดสิการฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจำกัดอยู่เพียงการร่วมหารือ ให้คำปรึกษา/ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ควบคุม ดูแลการจัดสวัสดิการของนายจ้าง

กรณีที่คณะกรรมการสวัสดิการฯ ทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อกับนายจ้าง จะผูกพันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณี และการแสดงเจตนาต้องไม่บกพร่อง เช่น ไม่มีกลฉ้อฉล ข่มขู่ สำคัญผิด ฯลฯ ต่อมานายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวก็กลายเป็นสภาพการจ้างแต่การที่คณะกรรมการสวัสดิการฯ เข้าไปเจรจากับนายจ้าง เป็นการทำหน้าที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด หากนายจ้างไม่ยอมรับและต่อสู้ว่าข้อตกลงที่ทำไว้เป็นเมฆะ เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ คือไม่มีการทำข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ ไม่มีการตั้งผู้แทนเจรจา เนื่องจากคณะกรรมการสวัสดิการฯ ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างเพื่อเจรจาทำข้อตกลง จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความซึ่งต้องให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อตกลงที่ทำขึ้น

12. ถาม

คณะกรรมการสวัสดิการฯ มีหน้าที่ในการร่วมหารือให้ข้อเสนอแนะ ฯลฯ นายจ้างมีสิทธิที่จะไม่ตอบสนองตอบความต้องการของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างต้องการเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างสนองตอบจะทำอย่างไร

ตอบ

นายจ้างต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสวัดสิการฯ อย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง หรือเมื่อคณะกรรมการสวัสดิการฯ เกินกึ่งหนึ่งร้องขอ หรือกรณีสหภาพแรงงานร้องขอโดยมีเหตุผลจำเป็น ดังนั้น คณะกรรมการสวัสดิการฯ จึงสามารถร่วมเจรจาเสนอข้อปัญหาต่างๆ รวมทั้งความต้องการของลูกจ้างได้ทุกครั้งที่มีการประชุม ทำให้นายจ้างได้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของลูกจ้าง ซึ่งอาจจะมีการสนองตอบให้ในอนาคต นับว่าเป็นการคลี่คลายปัญหาแรงงานในระดับทวิภาคีได้ทางหนึ่ง ต่างจากการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่ายอาจต้องให้บุคคลภายนอกเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือใช้วิธีการปิดงาน/นัดหยุดงาน ทำให้เกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย สำหรับวิธีการแจ้งข้อเรียกร้องโดยฝ่ายลูกจ้างกระทำได้โดยลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้าลงลายมือชื่อในหนังสือยื่นต่อนายจ้าง หรือสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเป็นผู้แจ้ง โดยนายจ้างต้องเจรจาภายในสามวัน ถ้าตกลงกันได้ต้องนำข้อตกลงไปจดทะเบียน ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน

13. ถาม

วิธีการดำเนินงานของคณะกรรมการสวัสดิการฯ

ตอบ

  • แต่งตั้งประธานกรรมการสวัสดิการฯ และเลขานุการ

  • พบปะหารือปัญหาต่างๆ

  • ศึกษาถึงอำนาจหน้าที่ แนวทางการปฏิบัติงาน

  • ปฏิบัติตนให้เป็นที่ยอมรับ

  • ติดต่อสอบถามนายจ้าง กรณีไม่จัดประชุม

  • กำหนดแนวทางการประชุมร่วมกับนายจ้าง

  • นำผลการประชุมไปหารือ และแจ้งผลให้ลูกจ้างทราบ

  • ใช้ดุลพินิจในการเสนอขอสวัสดิการที่เหมาะสมและจำเป็น

  • เสนอความคิดเห็นและแนวทางการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน

14. ถาม

ในกรณีไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งได้ นายจ้างจะมีความผิดหรือไม่

ตอบ

การดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ เป็นหน้าที่ของนายจ้าง โดยที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งไว้ กรณีไม่มีผู้ลงสมัครนายจ้างต้งอทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ลูกจ้างไม่มาสมัคร เช่น อาจจะมีสาเหตุมาจากลูกจ้างเกรงถูกนายจ้างเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ริเริ่มก่อการ อาจถูกกลั่นแกล้งโดยที่กฎหมายไม่ให้ความคุ้มครอง หรือเป็นเพราะนายจ้างกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการลงสมัคร หรือมีการกำหนดจำนวนคณะกรรมการไว้สูงจนไม่สามารถสรรหาผู้สมัครได้ครบตามจำนวนที่กำหนด ฯลฯ เมื่อทราบถึงปัญหาแล้วนายจ้างควรกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักการโน้มน้าวจิตใจของลูกจ้างให้เห็นถึงความสำคัญ หรือใช้กลยุทธต่างๆ ในการจูงใจให้ลูกจ้างลงสมัคร เช่น ให้หัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลลงสมัครด้วย เป็นต้น การที่ไม่มีผู้สมัครไม่สามารถอ้างเป็นข้อยกเว้นในการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ ถือว่ายังไม่ได้ดำเนินการจัดตั้งซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

15. ถาม

กรณีผู้สมัครจำนวน 5 คน ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด นายจ้างสามารถแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสวัสดิการฯ โดยที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งได้หรือไม่

ตอบ

กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่ลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนลูกจ้างอย่างน้อยห้าคน โดยให้มาจากการเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ดังนั้นนายจ้างจึงไม่สามารถจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการฯ โดยวิธีการอื่น แม้จะมีผู้สมัครครบห้าคนนายจ้างยังต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

16. ถาม

นายจ้างสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งลูกจ้างเฉพาะแผนกๆ ละ 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนแต่ละแผนก เข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมการสวัสดิการฯ ได้หรือไม่ เนื่องจากตัวแทนของลูกจ้างแต่ละแผนกจะทราบปัญหาในแผนกของตนได้ดีกว่า

ตอบ

ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิของลูกจ้างทุกคนโดยเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะอยู่ในแผนกไหน หรือตำแหน่งอะไร นอกจากนั้น ลูกจ้างทุกคนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการฯ ได้ตามจำนวนผู้สมัคร โดยต่างมี 1 เสียงต่อผู้สมัคร 1 คน เท่าเทียมกัน และตามหลักการเป็นตัวแทน ผู้ได้รับเลือกตั้งจะต้องเป็นตัวแทนของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น ไม่ใช่เป็นตัวแทนของแต่ละแผนก

อัพเดทล่าสุด