https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง MUSLIMTHAIPOST

 

ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง


628 ผู้ชม


ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง




คดีแดงที่  5212/2548

บริษัทสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จำกัด โจทก์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับพวก จำเลย

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 50
ป.พ.พ. มาตรา 1144
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23, 44
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 77, 79, 88

สหภาพแรงงาน ส. ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 23 วรรคสอง ดังนี้ มาตรา 23 วรรคสอง เพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือให้คำวินิจฉัยสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้สหภาพแรงงาน ส. และโจทก์ทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคนในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานตามที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงชอบด้วยกฎหมาย

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 ที่บัญญัติว่ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เห็นว่า กรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ มาตรา 44

การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144

การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานโดยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78, 79 และ 88

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ 10/2545 ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 1/2545 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545

จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 8 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลายอย่างรวมทั้งประกอบกิจการรับจ้างขนถ่ายและบรรทุกสินค้าเข้าและออกจากตู้บรรทุกสินค้าและขนส่งสินค้าทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศ กิจการของโจทก์เป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) บริษัทโจทก์มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ คือ เมอร์กส์ เอ/เอส ซึ่งอยู่ในประเทศเดนมาร์กและบริษัทบางกอกมารีน จำกัด ลูกจ้างของโจทก์ได้ร่วมกันจดทะเบียนก่อตั้งสหภาพแรงงานรวม 2 แห่ง ได้แก่ สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส และสหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์ทรานสปอตแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขณะจำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง รวม 15 ข้อ ต่อโจทก์ โจทก์และสหภาพแรงงานดังกล่าวต่างแต่งตั้งผู้แทนในการเจรจา แต่ผู้แทนโจทก์และผู้แทนสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้เจรจากัน สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จึงแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 23 (8) วันที่ 10 กรกฎาคม 2545 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 ประธานกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 47/2545 เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงโดยให้เรียกนายจ้าง ลูกจ้าง พร้อมนำพยานเอกสารและพยานบุคคลมาทำการสอบสวนด้วยแล้วเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2545 คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้สรุปความเห็นเป็นหนังสือเสนอต่อจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 และในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 มีคำวินิจฉัย ที่ 1/2545 และทำหนังสือแจ้งให้โจทก์และสหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิสทราบในวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ปรากฏว่าโจทก์รับคำวินิจฉัยดังกล่าวในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 เฉพาะข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ข้อที่ 5 ข้อที่ 6 และข้อที่ 9 ต่อจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ครั้นวันที่ 27 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 ได้ทำคำวินิจฉัยที่ 10/2545 ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 แจ้งและส่งสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้โจทก์ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวจำเลยที่ 1 วินิจฉัยและแจ้งให้โจทก์ทราบเกินกว่า 10 วัน นับแต่วันที่รับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ยังไม่ถูกต้อง จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดเฉพาะข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ข้อที่ 5 และข้อที่ 9

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ โดยมิได้บัญญัติว่าหากวินิจฉัยหรือแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเกินกำหนดแล้วจะมีผลอย่างใดนั้นหมายความว่า กฎหมายเพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของรัฐมนตรีหรือให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์สิ้นผลบังคับแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคน ในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งเป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้นำไปใช้กับสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ที่ประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 ดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของจำเลยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสามว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดที่ไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 บัญญัติว่า กรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่ากรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัย ก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้จำเลยทั้งแปดจะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่สี่ว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144 เพราะจำเลยทั้งแปดไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของโจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาบริหารกิจการของโจทก์ด้วยการสั่งให้ขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งแปดมีคำวินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งแปดวินิจฉัยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งที่จำเลยทั้งแปดมิได้เป็นคณะกรรมการค่าจ้าง จึงขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78 มาตรา 79 และมาตรา 88 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งแปดได้วินิจฉัยให้โจทก์ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานขับรถหัวผ่า มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78 มาตรา 79 และมาตรา 88 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวิรัตน์ ลัทธิวงศกร

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด