การลดตำแหน่ง ลูกจ้าง MUSLIMTHAIPOST

 

การลดตำแหน่ง ลูกจ้าง


742 ผู้ชม


การลดตำแหน่ง ลูกจ้าง




คดีแดงที่  5073-5097/2546

นายมาโนช ชาวบางน้อย กับพวก โจทก์
บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง, 575
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20

เดิมโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้รักษาความปลอดภัยและผู้ควบคุมงานทั่วไปตามลำดับ ซึ่งเท่ากับเป็นตำแหน่งหัวหน้างาน การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไปดำรงตำแหน่งเป็นเพียงยามหรือผู้รักษาความปลอดภัยจึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ทั้งสอง แม้จะเป็นคำสั่งในการบริหารงานและมิได้ลดค่าจ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้าง หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ

เงินสะสมที่จำเลยหักจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าคนนั้น เมื่อจำเลยได้ดำเนินการหักเป็นเงินสะสมแล้ว ค่าจ้างที่หักนี้ย่อมไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างอีกต่อไป เงินสะสมดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินประเภทที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสะสมตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งยี่สิบห้ากลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม หากไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ขอให้ใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างขั้นต่ำค้างจ่าย เงินสะสม เงินสมทบเงินสะสม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และคืนเงินประกันความเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวแก่โจทก์แต่ละคนตามรายละเอียดในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน

จำเลยทั้งยี่สิบห้าสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 25 แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำค้างจ่าย

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินสะสม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ให้จำเลยจ่ายเงินสะสมให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 25 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 25 และจำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว สำหรับปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินสะสม และเงินสมทบแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อแต่เดิมโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้รักษาความปลอดภัย และผู้ควบคุมงานทั่วไปตามลำดับ ซึ่งเท่ากับเป็นตำแหน่งหัวหน้างาน การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไปดำรงตำแหน่งเป็นเพียงยามหรือผู้รักษาความปลอดภัยเท่านั้น จึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 คำสั่งของจำเลยแม้จะเป็นคำสั่งในการบริหารงานและมิได้ลดค่าจ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหายหรือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้างหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณดังที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินสะสม และเงินสมทบแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…

อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับเงินสะสมของโจทก์ทั้งยี่สิบห้านั้น เห็นว่า แม้เงินสะสมดังกล่าวจะเป็นเงินที่จำเลยหักจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ดำเนินการหักเป็นเงินสะสมแล้ว ค่าจ้างที่หักนี้ย่อมไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างอีกต่อไป เงินสะสมดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเงินประเภทที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินสะสมแก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับเงินสะสมแก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมาก็ตาม เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินสะสมของโจทก์ทั้งยี่สิบห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต ธรรมฤาชุ

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด