มิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบ MUSLIMTHAIPOST

 

มิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบ


517 ผู้ชม


มิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบ




คดีแดงที่  5560/2530

นางเพ็ชรินทร์ ธรรมพิดา โจทก์
บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)

เมื่อนายจ้างออกคำเตือนเป็นหนังสือแก่ลูกจ้างแล้วประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบ การให้ลูกจ้างลงชื่อทราบคำเตือนมิใช่วิธีการอย่างเดียวสำหรับการแจ้งคำเตือน นายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นแทนได้ เช่น การแจ้งด้วยวาจาหรือปิดประกาศให้ทราบ ดังนั้น การที่ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือตามที่นายจ้างสั่งจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้าง.

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๐ จำเลยให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือนโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทะเลาะกับพนักงานด้วยกันซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์จึงไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ ๙๖๕ บาท โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนอันเป็นการไม่ชอบ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนางดวงตาและยังละทิ้งหน้าที่เป็นประจำ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลจึงออกคำเตือนเป็นหนังสือแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อในคำเตือนนั้นและโต้เถียงกับนายจ้างอันเป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ได้โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์กับนางดวงตาทะเลาะวิวาทกันในขณะปฏิบัติหน้าที่ จำเลยออกคำเตือนเป็นหนังสือ นางดวงตาลงชื่อรับทราบคำตักเตือนแต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อ การที่จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์จึงไม่มีสิทธิทำได้ พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๙๖๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำสั่งตัดเงินเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อนายจ้างออกคำตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว การแจ้งคำตักเตือนให้ลูกจ้างทราบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดวิธีการไว้ประการใด การที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบคำตักเตือนเป็นหนังสือมิใช่วิธีการอย่างเดียวสำหรับการแจ้งคำตักเตือนเป็นหนังสือ ถ้าลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำตักเตือนนายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นได้เป็นต้นว่าแจ้งด้วยวาจา หรือปิดประกาศคำตักเตือนให้ลูกจ้างทราบ หากนายจ้างใช้วิธีการเช่นว่านั้นแล้วก็เป็นการเพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างทราบคำตักเตือนแล้ว เพราะฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้างตามที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยหาอาจจะลงโทษโจทก์ได้ไม่

พิพากษายืน

 

(จุนท์ จันทรวงศ์ - มาโนช เพียรสนอง - สีนวล คงลาภ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายธวัช สุทธิสมบูรณ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด