กิจการโรงเรียนเอกชน กับ สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ MUSLIMTHAIPOST

 

กิจการโรงเรียนเอกชน กับ สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ


1,197 ผู้ชม


กิจการโรงเรียนเอกชน กับ สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ




         พิพากษาฎีกาที่ 5364/2543

         ++ เรื่อง คดีแรงงาน
         ++ คดีแดงที่ 5364-5368/2543
      


         โจทก์ทั้งห้าและจำเลยต่างเป็นเอกชน ได้ตกลงกันโดยจำเลยตกลงรับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานตำแหน่งครูผู้สอน และจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งห้าตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ.มาตรา575 มิใช่สัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2542 มาตรา 3 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน


         โจทก์ทั้งห้าเป็นครูตาม พ.ร.บ.โรงเรือนเอกชนไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเพื่อเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 32 และข้อ 33ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และมาตรา 66แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ.มาตรา 582 ซึ่งมิใช่ฟ้องเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ส่วนที่ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา49 ก็มิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยได้


         พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และมีคณะกรรมการประนีประนอม หรือคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อพิจารณาหรือพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้วแต่กรณี เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสองดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนพ.ศ.2525 ก่อน


         ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดย พ.เป็นผู้ลงนาม เป็นการทำการแทน อ.ผู้รับใบอนุยาตและจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 797 จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจตามมาตรา 820 ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษครูได้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนคือผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้รับใบอนุญาต การที่ พ.เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


         จำเลยมิได้อ้างข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยบรรจุโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานวันใด ห่างจากวันที่โจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานกี่วัน และศาลแรงงานกลางคิดคำนวณค่าชดเชยผิดพลาดเท่าใด ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กล่าวข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31


อัพเดทล่าสุด