หน้าที่ของนายจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน MUSLIMTHAIPOST

 

หน้าที่ของนายจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน


1,532 ผู้ชม


หน้าที่ของนายจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน




หน้าที่ของนายจ้าง

1. หน้าที่หลักตามสัญญาจ้างแรงงาน

นายหลักตามสัญญาจ้างแรงงาน ก็คือ จ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง (มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ดังนั้น เมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงาน นายจ้างก็ไม่ต้องมีหน้าที่นี้ เว้นแต่ จะมีเหตุของการที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้มาจากฝ่ายนายจ้าง หรือมีกฎหมายพิเศษกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแม้ลูกจ้างจะไม่ได้ทำงานก็ตาม กฎหมายพิเศษดังกล่าว ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดและวันลาของลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งวันอื่นที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานโดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างด้วยและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งกำหนดให้สิทธิกรรมการสหภาพแรงงานลาไปเพื่อดำเนินกิจการของสหาภาพแรงงานในการเจรจา ไกล่เกลี่ย หรือชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือลาเพื่อเข้าร่วมประชุมของทางราชการโดยถือเป็นวันทำงาน (มาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ) อันทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานนั้นด้วย

2.  หน้าที่อื่นๆ

                2.1) ส่งมอบงานให้แก่ลูกจ้าง (มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

                2.2) ดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง (มาตรา 434, 437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน) นายจ้างต้องดำเนินการในการบริหารและจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรฐาน รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง (มาตรา 107) และจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาและตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจัดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด (มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน ) จัดให้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ กรณีมีการจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ (มาตรา 98) และปิดประกาศการจัดสวัสดิการในที่เปิดเผยเพื่อให้ลูกจ้างได้รับทราบ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง (มาตรา 99)

                2.3) ปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน (มาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

                2.4) ออกหนังสือสำคัญรับรองการทำงานของลูกจ้างเมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โดยระบุเวลาการทำงานและลักษณะงานของลูกจ้าง (มาตรา 585)

                2.5) จ่ายค่าเดินทางขากลับให้แก่ลูกจ้างต่างถิ่น ที่ได้จ้างมาจากต่างถิ่นโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าเดินทางขามาให้ กรณีสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงโดยมิใช่การกระทำหรือความผิดของลูกจ้างซึ่งลูกจ้างนั้นจะต้องกลับไปภายในเวลาอันสมควร (มาตรา 586)

                2.6) หน้าที่อื่นๆ ตามกฎหมายแรงงาน เช่น จ่ายค่าเสียหาย (มาตรา 215 หรือ 222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (มาตรา 582 วรรค 2 ) หรือ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (มาตรา 17 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) จ่ายเงินทดแทน (มาตรา 13, 15, 16 และ 18 แห่งพระราชบัญญัติเงินทด พ.ศ. 2537) จ่ายค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ (มาตรา 118, มาตรา 120 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 121 วรรค 2 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันกับคณะกรรมการลูกจ้าง (มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518) และรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม หรือจ่ายค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน (มาตรา 41 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นต้น)

                2.7) หน้าที่อื่นๆ ตามกฎหมายประกันสังคม และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เช่น ยื่นแบบรายการแสดงบัญชีรายชื่อลูกจ้าง (มาตรา 34 และ 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับลูกจ้างและรัฐบาล (มาตรา 46) หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง เพื่อนำส่งเป็นเงินสมทบของลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม (มาตรา 47) จัดทำทะเบียนลูกจ้างไว้ในสถานที่ทำงานของนายจ้างเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ (มาตรา 84) และหรือให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของลูกจ้าง (มาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ) เป็นต้น

เนื้อหา  : รศ.ดร.วิจิตรา  วิเชียรชม

อัพเดทล่าสุด