การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ MUSLIMTHAIPOST

 

การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ


591 ผู้ชม


การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ




    

การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

 

 

มาตรา 120  ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118

ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย

ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการว่า เป็นกรณีที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามวรรคหนึ่งหรือไม่

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ยื่นคำขอตามวรรคสาม จึงจะฟ้องคดีได้

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรานี้  ลูกจ้างต้องใช้สิทธิภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือนับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานหรือคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด

การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการจากที่เดิมไปตั้งอยู่ที่ใหม่ในสถานที่ห่างไกลไปจากที่เดิมมากจนลูกจ้างตามไปทำงานด้วยไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญนี้มี 2 ประการคือ

1.     นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ซึ่งจะเป็นสถานที่ใด ซึ่งจะเป็นสถานที่ใด ก็ได้ ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด หรือข้ามภาคภาค

2.      การย้ายนั้นมีผลกระทบความสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว ซึ่งหมายถึงกรณี ที่ลูกจ้างต้องไปทำงานในสถานที่ใหม่ ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตตามปกติ เช่น ต้องเดินทางไปไกลขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น หรือต้องไปเช่าบ้านอยู่ที่ใกล้สถานประกอบการทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตปกติ หรือมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของครอบครัวลูกจ้าง ทำให้ครอบครัวลูกจ้างประสบปัญหา เช่น ไม่มีผู้ดูแลบุตรซึ่งยังเป็นเด็กมาก หรือไม่มีใครดูแลภริยาของลูกจ้างซึ่งยังเจ็บป่วยอยู่ เป็นต้น

เมื่อการกระทำของนายจ้างด้วยการย้ายสถานประกอบกิจการเข้าองค์ประกอบดังกล่าว ก็จะเกิดหน้าที่ของนายจ้างและสิทธิของลูกจ้างดังนี้

สำหรับหน้าที่ของนายจ้างนั้น นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการ ซึ่งถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าครบ 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ  นายจ้างจะต้องจ่ายชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน กรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามระยะเวลา หรือจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 30 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ส่วนสิทธิของลูกจ้างนั้น เมื่อนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานให้แก่นายจ้าง ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่  ซึ่งถ้าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 ซึ่งหมายถึงว่า หากลูกจ้างนั้นถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 เท่าใด  ถ้าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาต่อนายจ้างตามมาตรา 120  ลูกจ้างก็จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับกึ่งหนึ่งของสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 118 ดังนั้น  ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 จะเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน 45 วัน 90 วัน  120 วัน และ 150วัน

ในกรณีที่ลูกจ้างไม่แน่ใจว่าตนเองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ เพราะอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ว่า นายจ้างจะได้ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้งสถานที่อื่นตรงตามความหมายในมาตรานี้หรือไม่ หรือการย้ายนั้นมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวหรืไม่  ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะไม่บอกเลิกสัญญาจ้างทันที และมีสิทธิที่ จะยื่นคำขอต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในหมวด 7 มาตรา 92 ให้เป็นผู้วินิจฉัย แต่ต้องยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ  คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานนี้เป็นที่สุด เว้นเสียแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานสัมพันธ์นั้นต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับคำวินิจฉัย

ในกรณีที่นายจ้างนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลวินิฉัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน นายจ้างจะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายดังกล่าวข้างต้นต่อศาลจึงจะฟ้องคดีได้

สิทธิในการบอกสัญญาจ้างเพื่อขอรับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าวข้างต้น ลูกจ้างจะต้องใช้สิทธิภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานวินิจฉัยก็ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานถึงที่สุด หรือถ้าคดีไปสู่ศาลและมีคำพิพากษาของศาลก็สามารถที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาเป็นที่สุด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2287/2545  นายจ้างสั่งปิดสำนักงานขายที่กรุงเทพมหานคร และย้ายพนักงานทั้งหมดไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ต มิใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด