กฎหมายแรงงาน : เวลาพัก MUSLIMTHAIPOST

 

กฎหมายแรงงาน : เวลาพัก


591 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : เวลาพัก




 

มาตรา 27  ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง  ติดต่อกัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาพักระหว่างการทำงานตามวรรคหนึ่งเป็นอย่างอื่น ถ้าข้อตกลงนั้นเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง ให้ข้อตกลงนั้นบังคับได้

เวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เวลาพักที่รวมกันแล้วในวันหนึ่งเกินสองชั่วโมง ให้นับเวลาที่เกินสองชั่วโมงนั้นเป็นเวลาทำงานปกติ

ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างจะเริ่มทำงานล่วงเวลา

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสี่มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะ หรือสภาพของานต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน

บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้าง มิให้นายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานในชั่วโมงทำงานอันยาวนานโดยไม่มีเวลาหยุดพัก โดยกำหนดให้นายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานในชั่วโมงทำงานอันยาวนานโดยไม่มีเวลาหยุดพัก โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างเวลาทำงานอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง โดยเวลาพักนี้อาจกำหนดเป็นหลายครั้งก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง (แต่ละคน) ในการกำหนดเวลาพักเป็นอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง (เช่น พักเพียงครึ่งชั่วโมง และเลิกงานเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ลูกจ้างเลิกงานและไปขึ้นรถโดยสารประจำทางเที่ยวสุดท้ายทันเวลา)  ข้อตกลงเช่นว่านี้ย่อมใช้บังคับได้ เวลาพักไม่นับรวมเวลาทำงานเว้นแต่เมื่อรวมเวลาพักในระหว่างเวลาทำงานปกติแล้วเกินกว่า 2 ชั่วโมง ให้นับเวลาพักที่เกินกว่านั้นเป็นเวลาทำงานปกติด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการคำนวณชั่วโมงทำงานปกติและชั่วโมงทำงานล่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ข้อ 3 กำหนดว่า “งานในร้านขายอาหารหรือขายเครื่องดื่มที่เปิดจำหน่ายหรือบริการไม่ติดต่อกัน ในแต่ละวันที่มีการทำงาน นายจ้างอาจจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งเกินสองชั่วโมงก็ได้”

ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาและการทำงานล่วงเวลานั้นเกินกว่าสองชั่วโมง ก่อนที่จะทำงานล่วงเวลา นายจ้างก็ต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักอย่างน้อย 20 นาทีก่อนทำงานล่วงเวลานั้นด้วย

นายจ้างที่ไม่จัดเวลาพักให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นมีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 146 และเคยมีคำพิพากษาฏีกาที่ 2351/2532 (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิม) วินิจฉัยว่านายจ้างที่จัดเวลาพักให้ลูกจ้างไม่ครบ 1 ชั่วโมง นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเวลาที่ไม่ได้พักนั้นด้วย (ที่ถูกก็คือค่าเสียหายที่นายจ้างไม่จัดเวลาพักให้ลูกจ้าง)

อัพเดทล่าสุด