กฎหมายแรงงาน : คำนิยามที่สำคัญ MUSLIMTHAIPOST

 

กฎหมายแรงงาน : คำนิยามที่สำคัญ


945 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : คำนิยามที่สำคัญ




มาตรา 5  ได้กำหนดความหมายของศัพท์บางคำที่ใช้ในกฎหมายไว้ บุคคลสำคัญในกฎหมายคนแรกคือ “นายจ้าง"”

“นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง

(1)  ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(2)  ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มี

      อำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำ การแทนด้วย

(3)  ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแล

       การทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหา

       ลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดการงานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดใน

       กระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของ

       ลูกจ้างดังกล่าวด้วย”

นายจ้างตามคำนิยามข้างต้นจึงมีอยู่ 4 ประเภท คือ

                1.) นายจ้างตัวจริง   หมายถึง บุคคลที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งนายจ้างตัวจริง จะเป็นบุคคลธรรมดา เช่น นายสมชาย นางสาวสมหญิง หรือนิติบุคคลเช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท จำกัด หรือเป็นองค์การที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคลก็ได้

                2.) นายจ้างตัวแทน หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคลกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล เช่นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิของบริษัทจำกัดแห่งนั้น  ซึ่งมักเรียกกันว่า กรรมการผู้จัดการเป็นต้น

                3.) นายจ้างรับมอบ หมายถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบให้ทำงานแทนนายจ้างตัวจริงได้หรือได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างตัวแทน เช่น บริษัทจำกัด มีนายสมชายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท นายสมชายต้องเดินทางบ่อยๆ จึงมอบหมายให้นางสาวสมหญิงน้องสาวทำงานแทนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลในบริษัทดังกล่าว กิจการที่นางสมหญิงกระทำไปนั้นแม้นางสาวสมหญิงจะไม่มีตำแหน่งใดๆ ในบริษัทนั้นเลยก็ต้องถือว่านางสาวเป็นนายจ้างของลูกจ้างในบริษัทนั้นด้วยในฐานะเป็นนายจ้างรับมอบ

                4.) นายจ้างรับถือ หมายถึง ผู้ประกอบกิจการที่มีการจ้างเหมาค่าแรง ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวนอกจากจะถือว่าเป็นนายจ้างของลูกจ้างของตนเองแล้วยังเป็นนายจ้างของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงที่มาทำงานในกิจการของตนด้วย

                การจ้างเหมาค่าแรง หมายถึง กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ประสงค์จะจ้างลูกจ้างเอง แต่ได้ตกลงกันว่าจ้างเหมากับบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้

                        1.1 รับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นหรือ

                        1.2 จัดหาลูกจ้างมาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ

        ซึ่งงานที่ทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหือในธุรกิจในความรับผิดชอบขอบผู้ประกอบกิจการ โดยผู้ประกอบกิจการจ่ายค่าจ้างเหมาให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงตามที่ตกลงกัน เช่น

บริษัทขาวเขียว จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตภาชนะอะลูมิเนียมจำหน่าย มีแผนกงานหลากหลายแผนก ตั้งแต่แผนกตัดแผ่นอะลูมิเนียมไปจนกระทั่งถึงบรรจุหีบห่อ บริษัทขาวเขียว จำกัด ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ดำแดงมารับงานในแผนกตัดแผ่นอะลูมิเนียม ตกลงค่าจ้างเหมากันเป็นรายแผ่นก็ได้หรือเป็นรายเดือนก็ได้ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดำแดงไปหาคนงานมาให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 คน เท่าจำนวนแท่นตัดที่มีอยู่ในโรงงานนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดำแดงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการหาคนงาน ในการควบคุมดูแลการทำงานของคนงาน และในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงาน กรณีเช่นนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดำแดงเป็นผู้รับเหมาค่าแรงและเป็นนายจ้างตัวจริง ของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง ส่วนบริษัท ขาวเขียว จำกัด ก็จะเป็นนายจ้างรับถือ ตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้บริษัทขาวเขียว จำกัด เป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท ขาวเขียว จำกัด กับห้างหุ้นส่วนดำแดงนั้น ไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้างกัน แต่เป็นผู้ที่ทำสัญญาเหมาค่าแรง อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง

การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงมีหลักประกันมั่นคงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะบรรดาผู้รับเหมาค่าแรงนั้นมักจะเป็นนายจ้างรายเล็กไม่ค่อยมีฐานะทางการเงินนัก เมื่อกำหนดให้เจ้าของสถานประกอบกิจการเป็นนายจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงแล้วก็ทำให้ลูกจ้างดังกล่าวมีความมั่นคงทางด้านสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมากขึ้น ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงสามารถฟ้องเจ้าของสถานประกอบกิจการในฐานะนายจ้างได้ด้วย

นายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงมีอยู่4 ประเภท นายจ้างทุกประเภทดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนายจ้างตัวจริง นายจ้างตัวแทน นายจ้างรับมอบ หรือนายจ้างรับถือ เมื่อฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็อาจถูกฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาสำหรับในทางอาญา ถ้านายจ้างตัวจริงเป็นนิติบุคคลจะเป็นจำเลยที่ 1 นายจ้างตัวแทน(เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ) จะเป็นจำเลยที่ 2 แล้วนายจ้างรับมอบ (ซึ่งได้แก่ผู้จัดการทั้งหลาย) จะเป็นจำเลยที่ 3 ในส่วนทางแพ่งนั้น นายจ้างตัวแทนหรือนายจ้างรับมอบแม้จะถูกฟ้องและถูกศาลพิพากษาให้รับผิดร่วมด้วยก็ตาม แต่นายจ้างตัวแทนหรือนายจ้างรับมอบดังกล่าวไม่ต้องรับผิเป็นการส่วนตัว ตามคำพิพากษาฎีกา 5759/2540 ซึ่งเป็นวินิจฉัยว่านายจ้างตัวแทนกับนายจ้างรับมอบไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

 

บุคคลสำคัญในกฎหมายคนที่สอง คือ “ลูกจ้าง”

 ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร”

 

บุคคลคนหนึ่งจะเป็นใครก็ตามที่ไปตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของงานหรือเจ้าของกิจการซึ่งเรียกว่านายจ้าง โดยเป็นการทำงานเพื่อประสงค์สิ่งตอบแทนที่เรียกว่า ค่าจ้าง บุคคลนั้นเป็นลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คำว่า “ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” บัญญัติไว้เพื่อตัดปัญหาโต้แย้ง เนื่องจากกฎหมายบางฉบับหรือนายจ้างบางรายไม่เรียกชื่อบุคคลที่ทำงานในสถานประกอบกิจการนั้นว่าลูกจ้าง

ลูกจ้างตามความหมายข้างต้น จึงหมายถึงลูกจ้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน (ทั้งระยะสั้นและระยะยาว) ลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part Time) ลูกจ้างสัญญาจ้างพิเศษ และรวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านด้วย


ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

 

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ

 

อัพเดทล่าสุด