ขั้นตอนการสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม MUSLIMTHAIPOST

 

ขั้นตอนการสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม


659 ผู้ชม


ขั้นตอนการสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม




ขั้นตอนการสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม

ขั้นตอนที่ 1    การกำหนดหลักการและเหตุผลในการฝึกอบรม

การกำหนดหลักการและเหตุผลในการฝึกอบรม  หมายถึงการนำเอาสรุปการหาความจำเป็นในการฝึกอบรม ซึ่งได้มาจากการหาความจำเป็นในการฝึกอบรมมาทำการเรียบเรียงเชื่อมโยงให้เห็นถึงลักษณะของความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการฝึกอบรม หรือสร้างหลักสูตรในการฝึกอบรม โดยปกติการกำหนดหลักการ และเหตุผลในการฝึกอบรม จะต้องมีสาระสำคัญดังนี้ คือ

1.)  หลักการ หรือวัตถุประสงค์  หมายถึงการอธิบาย เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาหรือจำเป็นจะต้องฝึกอบรมนั้น มีหลักการ หรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นอย่างไร  หรือนัยหนึ่ง ต้องการจะให้พนักงานที่เป็นปัญหา หรือคาดว่าจะเกิดปัญหามีพฤติกรรมอย่างไร

2.)   สถานที่เกิดขึ้น  หมายถึงการอธิบายว่า ในสภาพที่เป็นจริง พฤติกรรมของผู้ที่จะต้องฝึกอบรมเบี่ยงเบนออกไปจากหลักการหรือวัตถุประสงค์ตามข้อ 1. อย่างไร มีขอบข่ายขนาดไหน ระดับใด

3.)  ผลเสียหายที่เกิดขึ้น หมายถึงการอธิบายว่าในสภาพที่เกิดขึ้นจริงตามข้อ 2. นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน ต่อบุคคล ฯลฯ  อย่างไร  และเพียงใด

4.)  ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา  หมายถึงการระบุว่ามีความจำเป็นในการฝึกอบรมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไป โดยจะต้องระบุว่าควรจะอบรมใครในเรื่องอะไรอย่างคร่าวๆ

ขั้นตอนที่ 2    การระบุภารกิจที่เป็นปัญหา

ความหมายของงาน หน้าที่ภารกิจ  และรายละเอียดในการปฏิบัติงาน

โดยภารกิจในการปฏิบัติงานเป็นตัวความจำเป็นในการฝึกอบรมอย่างแท้จริงและจะเป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์ และหลักสูตรในการฝึกอบรมซึ่งจะได้กล่าวโดยรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นการสมควรที่จะพิจารณากันในรายละเอียดให้ถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่าภารกิจแต่เนื่องด้วยยังมีคำอีกหลายคำที่มีความหมายและความสัมพันธ์ใกล้เคียงกันและเกี่ยวข้องกันอยู่ อันได้แก่คำว่า งาน หน้าที่ และรายละเอียดของงาน ดังนั้น  ผู้เขียนให้พิจารณาความหมายของคำอื่นๆ ดังกล่าวนั้น ตามคู่กันไปด้วย

1.)  งาน (Job)  หมายถึง หน่วยการปฏิบัติงานโดยเฉพาะเจาะจงที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งครองอยู่ในสายการปฏิบัติงาน เช่น พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานควบคุมเครื่อง พนักงานสารบรรณ งานเหล่านี้อาจจะมีหลายตำแหน่งก็ได้ ภายในงานแต่ละงานที่บุคคลแต่ละคนครองอยู่นั้นจะประกอบด้วย หน้าที่ และภารกิจที่บุคคลที่ครองตำแหน่งงานนั้นจะต้องปฏิบัติจัดทำ

2.)  หน้าที่ (Duty)  หมายถึงสิ่งที่ผู้ครอบครองงานจะต้องปฏิบัติจัดทำงานทุกงานจะต้องมีหน้าที่ตั้งแต่ 1 หน้าที่ขึ้นไป โดยทั่วไปแล้วหน้าที่จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

            -          เป็นความรับผิดชอบของผู้ครองตำแหน่งงาน

            -          เวลาส่วนใหญ่จะต้องใช้ไปในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

            -          ความถี่ในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน

            -          การปฏิบัติหน้าที่นั้นจะเกี่ยวกับการใช้ความรู้  ความชำนาญ และความสามารถ

            -          การปฏิบัติหน้าที่นั้นกระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์ มีมาตรฐานในการปฏิบัติและมุ่งความรวดเร็ว ประหยัด ถูก

                        ต้อง

3.)  ภารกิจ (Task)  ในหน้าที่แต่ละหน้าที่จะประกอบด้วยภารกิจ (เช่นเดียวกับงานทุกงานจะประกอบไปด้วยหน้าที่)  ภารกิจเป็นส่วนสำคัญที่สุดในอันที่จะก่อให้เกิดผลงานออกมาภารกิจนี้เป็นหน่วยของการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้วิธีการ  ระเบียบ และเทคนิค คุณลักษณะของภารกิจที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

            -          เป็นการใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งภารกิจนั้นสังกัดอยู่

            -          การปฏิบัติตามภารกิจนั้น จะต้องใช้ความรู้  ความชำนาญ และความสามารถ เป็นอย่างมาก

4.)  รายละเอียดในการปฏิบัติงาน (Element)  เป็นหน่วยงานของเราที่ย่อยหรือเล็กที่สุด ภารกิจทุกภารกิจจะประกอบไปด้วย รายละเอียดในการปฏิบัติตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไป และในรายละเอียดของงานนั้นเองจะเกี่ยวข้องกับการใช้วิธีการ เทคนิคหรือความรู้ความสามารถ อย่างแท้จริง

การกำหนดภารกิจที่เป็นปัญหานี้ อาจจะกระทำได้โดยการพิจารณาจากผังงาน  หน้าที่และภารกิจ หรือพิจารณาจากใบกำหนดหน้าที่  ทั้งนี้โดยศึกษาจากความจำเป็นในการฝึกอบรม หรือ ผังงาน หรือใบกำหนดหน้าที่งาน  ว่ามีภารกิจใดที่บกพร่อง

ขั้นตอนที่ 3    การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม

ความหมายของวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม

วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม หมายถึงสิ่งที่กำหนดว่าในโครงการฝึกอบรมนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้เป็นไปในลักษณะและระดับใดจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นความจำเป็นในการฝึกอบรมได้

ความสำคัญของวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม

วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารงานฝึกอบรม ดังต่อไปนี้

1.)  ก่อให้เกิดการประสานงานทรัพยากรในการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกอบรมแต่ละโครงการย่อมจะต้องประกอบด้วยกำลังคน เงิน วัสดุ และอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก การมีวัตถุประสงค์ที่ชัดแจ้งจะช่วยให้มีการประสานทรัพยากรดังกล่าวให้เป็นไปในแนวเดียวกัน

2.)  วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝึกอบรมทุกฝ่ายเข้าใจ และปฏิบัติงานไปในแนวเดียวกัน วิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะทราบอย่างชัดเจนว่าตนกำลังมุ่งไปสู่จุดใด ผู้บริหารงานฝึกอบรมทุกคนจะทราบว่า การปฏิบัติงานของตนนั้นมีจุดหมายปลายทางอยู่ ณ จุดใดเช่นเดียวกัน

3.)  วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยให้สามารถกำหนดวิชา และเนื้อหาสาระในการฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะชี้ชัดว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรมไปในลักษณะใด การกำหนดหัวข้อวิชาและเนื้อหาสาระของหลักสูตรก็จะต้องจัดให้สอดคล้องต้องกันกับวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เกิดการเรียนรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง

4.)  วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยให้วิทยากรหรือผู้บริหารงานฝึกอบรมสามารถเลือกเทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมได้ วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมที่เน้นหนักไปในด้านหนึ่งด้านใดย่อมต้องการเทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรมเฉพาะอย่างนั้นๆ สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไปในขั้นตอนเลือกเทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรม

5.)  ใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลและติดตามผลโครงการฝึกอบรม ประเมินผลการฝึกอบรมของวิทยกร ฯลฯ

ที่มา :  อาจารย์เกื้อจิตร  ชีระกาญจน์

อัพเดทล่าสุด