ความหมายและขอบเขตของคำว่า “สวัสดิการ” MUSLIMTHAIPOST

 

ความหมายและขอบเขตของคำว่า “สวัสดิการ”


592 ผู้ชม


ความหมายและขอบเขตของคำว่า “สวัสดิการ”




ความหมายและขอบเขตของคำว่า “สวัสดิการ”  

 

 

 ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า “สวัสดิการ” ต่างๆกันไป ได้แก่

  1. Welfare  (สวัสดิภาพ สวัสดิการ)  คือการมุ่งให้เกิดการกินดีอยู่ดีของบุคคลหรือกลุ่มสวัสดิการทั่วไปของชุมชนหรือสังคม ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม
  1. สวัสดิการ หมายถึง “การกินดีอยู่ดี” หรือ Well-being ซึ่งถ้าจะขยายความออกไปก็อาจกล่าวได้ว่า คือภาวะของการมีสุขภาพดี มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสุข ถ้าเกี่ยวกับด้านแรงงานก็หมายถึง สิ่งหรือสถานการณ์ที่นายจ้างจัดให้เพื่อความสะดวกสบาย หรือความกินดีดอยู่ดีของลูกจ้างนั่นเอง ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้เกิดภาวะที่มีความสะดวกสบาย หรือความกินดีอยู่ดีของลูกจ้างนี้มิได้หมายความว่า เป็นความรับผิดชอบของนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลและสหภาพแรงงานก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย
  1. สวัสดิการ หมายถึง บริการหรือกิจกรรมใดๆ ที่หน่วยงานราชการ หรือองค์กรธุรกิจเอกชนจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรนั้นๆ ได้รับความสะดวกสบายในการทำงาน มีความมั่นคงในอาชีพ มีหลักประกันที่แน่นอนในการดำเนินชีวิต หรือได้รับประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญและกำลังใจที่ดี เพื่อจะได้ใช้กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาความสามารถของตนในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ไม่ต้องวิตกกังวล ปัญหายุ่งยากทั้งในทางส่วนตัวและครอบครัวทำให้มีความพอใจในงาน มีความรักงานและตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้นานที่สุด สำหรับสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบนั้นย่อม หมายถึงสวัสดิการที่ให้แก่ลูกจ้าง ทั้ง

                -          ในขณะที่ทำงาน (On – the – Job)

                -          นอกเวลาทำงานแต่ยังอยู่ในที่ทำงาน (Off – the – job within the workplace)

                -          นอกสถานที่ทำงาน (Outside the workplace)  นอกจากนั้นจะต้องไม่ให้เฉพาะลูกจ้างเท่านั้น แต่จะ

                           ต้องรวมถึงครอบครัวและชุมชนด้วย

ตัวอย่างสวัสดิการภายในสถานที่ทำงาน ได้แก่

 

        1.     การให้สวัสดิการความสะดวกสบาย เช่น การจัดน้ำดื่ม ห้องน้ำ – ห้องส้วม ที่รับประทานอาหาร ห้องพักผ่อน ห้องสมุด ห้องพยาบาล เป็นต้น

ตัวอย่างสวัสดิการนอกสถานที่ทำงาน ได้แก่

 

     สวัสดิการด้านที่พักอาศัย  โรงเรียนสำหรับบุตรพนักงาน การจัดตั้งร้านสหกรณ์ สโมสรพนักงาน การจัดทัศนาจรและสวัสดิการที่มีผลต่อการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เช่น การจัดประกันชีวิตให้ลูกจ้าง การจัดระเบียบเงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น

สวัสดิการอาจเรียกกันในชื่ออื่นๆ อีกหลาย ชื่อ เช่น

            -          Indirect Compensation

            -          Employee Benefits

            -          Employee Services

            -          Fringe Benefits

            -          Benefit Programs เป็นต้น

ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตามความมุ่งหมายหลักของสวัสดิการ มีอยู่ 3 ประการ คือ

            -          การปรับปรุงสภาพการทำงาน

            -          การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่

            -          การปรับปรุงภาวะทางใจแก่ลูกจ้าง

สวัสดิการแรงงานต่างจากสวัสดิการที่รัฐให้แก่ประชาชนในลักษณะที่สำคัญที่ว่า

        1.  สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนทั่วไป ในรูปของการประชาสงเคราะห์หรือบริการสังคมนั้น รัฐมิได้หวังผลตอบแทน หวังเพียงการกินดีอยู่ดีของคนในชาติ ไม่มีการคิดต้นทุน กำไร

        2.  สวัสดิการแรงงานเป็นต้นทุนการผลิตสำหรับนายจ้าง การจัดสวัสดิการให้ลูกจ้างย่อมมีค่าใช้จ่ายนายจ้างจึงต้องคำนึงถึงขอบเขตและหวังผลตอบแทนจากการให้พอสมควร สวัสดิการแรงงานจึงมิใช่การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือคนแบบมูลนิธิหรือการกุศล

        3.   วัตถุประสงค์ของนายจ้างก็คือ ต้องการให้พนักงานมีความสะดวกสบายในการทำงาน ช่วยแก้ปัญหาการครองชีพของลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็หวังจะได้งานมาก งานดี จากลูกจ้าง เป็นผลพลอยได้

ข้อมูลอ้างอิง : อาจารย์ วิทยา ตันติเสวี  

                     ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์

อัพเดทล่าสุด