ห้างหุ้นส่วนจำกัด MUSLIMTHAIPOST

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด


662 ผู้ชม


ห้างหุ้นส่วนจำกัด


มาตรา ๑๐๗๗ อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
(๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง
กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่ได้จดทะเบียน (มาตรา ๑๐๗๙)
ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งจะต้องนำหลักในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาบังคับใช้ แต่เมื่อได้มีการจดทะเบียนแล้วความเป็นนิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดเริ่มขึ้นนับแต่วันจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงรับมาทั้งสิทธิและหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ได้ทำไว้ก่อนที่จะจดทะเบียน แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของห้างห็ดี ทำเป้นเรื่องส่วนตัวก็ดี กรณีนี้ห้างที่จดทะเบียนแล้วไม่ต้องรับมา เว้นแต่ห้างจะไปรับเอาผลประโยชนืมาหรือให้สัตยาบันในการนั้น จึงต้องรับไปทั้งสิทิและหน้าที่มาด้วย
นำบทบัญญัติของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัด
มาตรา ๑๐๘๐ บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด ๓ นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน
ข้อสังเกต
(๑) ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และความรับผิดของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับ
(๒) เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันจะต้องมีการชำระบัญชีเสมอ จะปตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินเป้นอย่างอื่นนอกจากการชำระบัญชีเช่นเดียวกับบทบัญญัติของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้
(๓) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ถูกบังคับห้ามค้าขายแข่งขันกับห้าง เพราะฉะนั้นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนี้เข้าไปค้าขายแข่งกับห้างได้ จึงไม่นำบทบัญญัติของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับ
(๔) หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดอาจถือประโยชน์จากบุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างได้มาแม้กิจการนั้นไม่ปรากฏชื่อหุ้นส่วนนั้นก็ตาม แต่ในห้างหุ้นส่วนสามัญกฎหมายห้ามไม่ให้เป็นหุ้นส่วนถือสิทธิใดๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งปรากฏชื่อของตนมาใช้บังคับไม่ได้
(๕) หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิจัดการห้าง เพราะฉะนั้นการลงหุ้นจะลงได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จึงไม่นำเรื่องหุ้นส่วนสามัญมาใช้เพราะหุ้นส่วนสามารถลงแรงงานได้ด้วย
(๖) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสามารถโอนหุ้นได้โดยเสรี แต่ในห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นหุ้นส่วนจะชักนำบุคคลภายนอกมาเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ จึงไม่นำเรื่องหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉพาะหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด
สิทธิและความรับผิดของหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด
๑. หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อชำระค่าหุ้นครบแล้วไม่ต้องรับผิดอะไรอีก และการเป็นหุ้นส่วนไม่ใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงโอนและตกทอดทางมรดกได้
กรณีที่ไม่เป็นการเฉพาะตัว
(๑) ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ๆ ก็โอนได้ (มาตรา ๑๐๙๑)
(๒) การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตายก็ดี ล้มละลายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ดี หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา ๑๐๙๒)
(๓) ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตาย ทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา ๑๐๙๓)
สิทธิและความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด
๑. สิทธิเกี่ยวกับการควบคุมการจัดการ
หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นที่มีสิทธิจัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิจัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแต่มีสิทธิควบคุมการจัดการโดยควบคุมคล้ายๆ กับผู้ถือหุ้น คือ มีสิทธิที่จะสอบถามกิจการหรือมีสิทธิในการที่จะตรวจสอบสมุดบัญชีเอกสารของห้าง แต่ไม่มีสิทธิเข้าไปสั่งการให้กระทำการอย่างใดๆ ได้ (มาตรา ๑๐๘๐ ประกอบมาตรา ๑๐๓๗)
๒. เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา ๑๐๘๙)
๓. ดำเนินการค้าแข่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ (มาตรา ๑๐๙๐)
๔. ถ้าสัญญาจัดตั้งห้างระบุไว้ให้หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดมีสิทธิที่จะให้คำแนะนำ ออกความเห็น หรือแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการได้ ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการตามมาตรา ๑๐๘๘ วรรคหนึ่ง
๕. ผู้เป้นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้าง หุ้นส่วนผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา ๑๐๘๘ วรรคสอง (รับผิดเฉพาะหนี้ทั้งหลายที่ได้สอดเข้าไปจัดกิจการเท่านั้น)
ข้อสังเกต
(๑) การสอดเข้าไปจะต้องถึงขนาดที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวสอดแทรกในการจัดการห้าง ไม่ใช่ในฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของห้างเข้าไปทำหน้าที่หรือเป็นพนักงานของห้างเข้าไปทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่หรือตามสัญญาจ้างเท่านั้น
(๒) มาตรา ๑๐๘๘ ใช้บังคับเฉพาะหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดเท่านั้น ถ้าคนที่ไม่ใช่หุ้นส่วนสอดเข้าไปจัดกิจการของห้างก็ไม่เข้ามาตรานี้
๖. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดยอมให้เขาเอาชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้าง หุ้นส่วนนั้นต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่สุจริตเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด (มาตรา ๑๐๘๑ และ ๑๐๘๒)
๗. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดจะลงหุ้นด้วยแรงงานไม่ได้ต้องลงเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นๆ เท่านั้น (มาตรา ๑๐๘๓)
๘. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดจะไม่ได้รับแบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยจนกว่าห้างจะได้กำไร (มาตรา ๑๐๘๔)
ข้อสังเกต มาตรานี้ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกลงยกเว้นให้ผิดแผกแตกต่างไปจากมาตรา ๑๐๘๔ ก็ได้
๙. รับผิดโดยไม่จำกัดในหนี้ของห้างที่เกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนเนื่องจากหากยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มาตรา ๑๐๗๙ ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ทำให้หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียน
๑๐. ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียน ผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนที่ได้แสดงนั้น (มาตรา ๑๐๘๕)
๑๑. ข้อซึ่งตกลงกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลาย เพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเภททรัพย์สินที่ลงหุ้น หรือเพื่อจะลดจำนวนลงหุ้นแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งคนใดนั้น ยังไม่เป็นผลแก่บุคคลภายนอกจนกว่าจะได้จดทะเบียน เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ข้อตกลงนั้น ๆ ก็ย่อมมีผลแต่เพียงเฉพาะแก่หนี้อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังเวลาที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น (มาตรา ๑๐๘๖)
ถ้าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดถูกฟ้องให้รับผิดตามมาตรา ๑๐๗๙ , ๑๐๘๒ , ๑๐๘๕ , ๑๐๘๖ และ ๑๐๘๘ หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้เอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของห้างก่อนได้ตามมาตรา ๑๐๗๐ กับ ๑๐๗๑
หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ต้องรับผิดจนกว่าห้างจะเลิก และเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้คือ (มาตรา ๑๐๙๕)
(๑) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
(๒) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
(๓) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา ๑๐๘๔
ข้อสังเกต มาตรา ๑๐๙๕ ไม่นำมาใช้ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีเช่นนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต้องรับผิดไม่จำกัดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เจ้าหนี้จึงฟ้องให้รับผิดได้โดยไม่ต้องขอให้ห้างเลิก
สิทธิและความรับผิดของหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
๑. คุณสมบัติของหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดถือเป็นสาระสำคัญ เมื่อหุ้นส่วนตาย ล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกตามมาตรา ๑๐๕๕ (๕) และ ๑๐๘๐
๒. สิทธิจัดกิจการของหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทำการผูกพันห้างทำนองเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญ (มาตรา ๑๐๓๓)
๓. หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้ของห้างนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน
๔. แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกห้าง หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องรับผิด

อัพเดทล่าสุด