โรคตาในเด็ก โรคที่ต้องระวัง MUSLIMTHAIPOST

 

โรคตาในเด็ก โรคที่ต้องระวัง


832 ผู้ชม


โรคตาในเด็ก

โรคตาในเด็ก




         
ปัญหา สุขภาพตาของเด็กไทยในปัจจุบันน่าเป็นห่วง เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการดูแลและปกป้องสุขภาพดวงตา ของลูกน้อย โดยมักจะพามาพบจักษุแพทย์ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาแล้ว
          ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า พ่อแม่ควรให้ความสำคัญใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตา และส่งเสริมพัฒนาการทางสายตาของลูกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ เพราะพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นที่สมบูรณ์ของเจ้าตัวเล็กนั้น ถือว่าเป็นประตูสู่การเรียนรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้านที่สมบูรณ์ของเจ้าตัวเล็ก โดยมีผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กมากถึง 80-90% ดังนั้น หากเด็กมีปัญหาพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นภาพไม่สมบูรณ์ ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้
          ในปัจจุบันพบว่าปัญหาสุขภาพตาของเด็กไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากในอดีต คือ จากเดิมมักจะเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เปลี่ยนเป็นโรคที่เกี่ยวกับสายตาผิดปกติ หรือความผิดปกติทางด้านการมองเห็นมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา และโรคตาขี้เกียจ โดยอาการของโรคจอประสาทตานั้น จะทำให้เด็กมองเห็นภาพไม่ปกติ มองเห็นภาพเลือนราง พ่อแม่ต้องสังเกตจากพฤติกรรมการมองเห็นของเด็ก เช่น เด็กไม่จ้องหน้า ตาแกว่ง ไม่มีพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นตามวัย หรือ การวิ่งเข้าไปดูสิ่งของใกล้ๆ ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็น
           โรคจอประสาทตาในเด็ก อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม การขาดสารอาหารบางชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่ เด็กคลอดก่อนกำหนด มีผลการศึกษาพบว่าเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,250 กรัม จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตากว่า 60% และในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 750 กรัม มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวถึง 90% ซึ่งโรคจอประสาทตาในเด็กนี้ ถือเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กตาบอดในที่สุด
          จอประสาทตา เป็นส่วนสำคัญที่สุดต่อการรับภาพและมองเห็นภาพชัดเจน ทำหน้าที่เป็นสัญญาณรับภาพ ดังนั้นเมื่อจอประสาทตาผิดปกติ หรือถูกทำลายจะทำให้สูญเสียการมองเห็นเป็นภาพเลือนราง ซึ่งจอประสาทตานี้อาจโดนทำลายจากภาวะมลพิษทางแสงที่อยู่รอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ซึ่งการให้เด็กรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนช่วยบำรุงสายตาอาจช่วยได้ เช่น อาหารที่มีวิตามินเอ จำพวกผักบุ้ง ผักตำลึง และสารอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับภาวะมลพิษทางแสงที่จะไปทำลายจอประสาทตา มีมากในน้ำนมแม่
          พ่อแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสายตาของลูกตั้ง แต่ยังเด็ก เพราะโดยปกติพัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กจะมีการ พัฒนาการสูงสุดในช่วง 4 ขวบปีแรก โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกคลอด เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่ออายุ 2 ขวบ และพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออายุ 8-10 ขวบ ดังนั้น การดูแลและป้องกันลูกน้อยจากอาการผิดปกติทางสายตา และส่งเสริมให้เด็กมองเห็นภาพชัดเจนในช่วงอายุดังกล่าวจึงมีความสำคัญมากต่อ พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
          ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถส่งเสริมความฉลาดของลูกผ่านพัฒนาการทางสายตาด้วยของเล่นสีสด เช่น ของเด็กเล่นสำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือน สามารถใช้ของเล่นสีสดขนาดใหญ่พอสมควร ให้เด็กฝึกใช้สายตาจ้องมองและค่อยๆ ลดขนาดลงเมื่อลูกโตขึ้น และสำหรับเด็ก 1-2 ขวบ อาจใช้สมุดภาพที่มีสีสัน เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการสายตาและการเรียนรู้ของเด็กได้อีกด้วย
           การดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ สามารถให้ลูกดูหรือเล่นได้ตั้งแต่เล็ก เพราะถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ดีแก่เด็กได้ แต่พ่อแม่ต้องแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้ลูกพักสายตาทุกๆ ครึ่งชั่วโมง สัก 4-5 นาที และหมั่นสังเกตการใช้สายตาของลูก หาก มีข้อสงสัยว่าลูกจะมีสายตาผิดปกติ เช่น เด็กชอบดูทีวีใกล้ เอียงคอมอง หรี่ตามอง การมองเห็นผิดปกติ ไม่มองตาม ตาเข ตาแกว่ง ตาสั่น หรือขนาดตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ควรพาลูกไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

  ขอขอบคุณข้อมูลจาก

อัพเดทล่าสุด