เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ ที่มาของเพลงน้ำตาแสงไต้ คอร์ดเพลง น้ำตาแสงไต้ เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ - โจ้ อัมรินทร์ MUSLIMTHAIPOST

 

เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ ที่มาของเพลงน้ำตาแสงไต้ คอร์ดเพลง น้ำตาแสงไต้ เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ - โจ้ อัมรินทร์


847 ผู้ชม


เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ ที่มาของเพลงน้ำตาแสงไต้ คอร์ดเพลง น้ำตาแสงไต้ เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ - โจ้ อัมรินทร์

 

 

 ฝันบันดาลใจ

เป็นที่รู้กันว่าศิลปินทั้งหลายมีย่อมมีแรงบันดาลใจ จึงสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่เราอาจจะนึกฉงนว่าแรงบันดาลใจมาจากไหน ทำงานของมันอย่างไร จึงได้กลายเป็นงานศิลปะอันงดงามและยั่งยืนเกินช่วงชีวิตของเจ้าของผลงาน


คำตอบไม่ได้มาจากที่เดียว แรงบันดาลใจของศิลปินเกิดขึ้นได้จากหลายอย่างด้วยกัน บางคนได้จากประสบการณ์ บางคนได้จากธรรมชาติรอบตัว หรือไม่ก็อาจจะมีชายหรือหญิงสักคนเป็นที่มา ถ้าเป็นอย่างนี้ แม้จะน่าสนใจ แต่ก็ไม่เรียกว่าน่าอัศจรรย์


ตัวอย่างหนึ่งของความน่าอัศจรรย์คือแรงบันดาลใจในขณะที่ศิลปินไม่รู้ตัว มาถึงในขณะนอนหลับ ดังจะเล่าให้ฟังค่ะ


ย้อนอดีตไปในรัชกาลที่ ๒ เป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ทั้งทางด้านกวีนิพนธ์และการดนตรี โปรดทรงซอสามสาย มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อ "ซอสายฟ้าฟาด" ในยามว่างก็จะหยิบซอมาทรงอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะยามค่ำคืนก่อนเข้าบรรทม


ในคืนหนึ่ง หลังจากทรงซอสายฟ้าฟาดอยู่จนดึกก็เข้าบรรทม ทรงพระสุบินว่าเสด็จไปสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง มีพระจันทร์เต็มดวงค่อยๆลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงกระจ่างไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวานเจื้อยแจ้วมาด้วย ทรงสดับฟังดนตรีอยู่จนพระจันทร์คล้อยเคลื่อนไปก็ตื่นบรรทม แต่เสียงดนตรียังแว่วกังวานอยู่ในพระโสต ก็โปรดฯให้หานางในพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงตามที่ได้ยินในพระสุบิน เกิดเป็นเพลงใหม่ที่ไพเราะจับใจ พระราชทานนามว่า เพลง "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า" หรือ "บุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลันลอยฟ้า"


เพลงนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าเพลง "ทรงพระสุบิน" บางครั้งก็เรียกว่าเพลง "สรรเสริญพระจันทร์" ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่จะมีเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน


เหตุการณ์ละม้ายคล้ายคลึงกันแม้ว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันไป เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเวลาเกือบสองร้อยปีต่อมา


ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ละครเวทีเฟื่องฟูอยู่ในแวดวงบันเทิงของไทย คณะศิวารมณ์เตรียมละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" เพื่อแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ใกล้ถึงกำหนดออกโรงในอีกไม่กี่วัน ในบรรดาทีมงานมีผู้ทำหน้าที่เล่นดนตรีให้พวกนาฏศิลป์ซ้อมและต่อเพลงให้นักร้อง คือนักเปียโนหนุ่มชื่อสง่า


เย็นวันหนึ่งหลังจากเลิกซ้อมดนตรี สง่าออกไปกินอาหารกับนักประพันธ์รุ่นพี่ชื่อเรืออากาศโททองอิน บุณยเสนา ผู้มีฝีมือในการแต่งเพลง ใช้นามปากกาว่า "เวทางค์" ทั้งสองปรารภกันถึงเพลงเอกในเรื่องซึ่งยังไม่ลงตัว เพราะทำนองที่มีผู้แต่งส่งมาให้ยังไม่เป็นที่ถูกใจของเจ้าของเรื่องและผู้กำกับการแสดง ซึ่งต้องการเพลงทำนองไทยเดิมที่เย็นและหวานเศร้า "เวทางค์" จึงบอกว่า เพลงไทยที่หวานเศร้าถูกใจมี ๒ เพลงคือ "เขมรไทรโยค" และ "ลาวครวญ" แล้วก็ร้องสลับกันให้ฟัง จนกินเสร็จต่างคนต่างก็แยกกันไป สง่าก็กลับมาที่ศาลาเฉลิมกรุง แล้วเลยนอนหลับอยู่ที่นั่น


คืนนั้นนักเปียโนหนุ่มฝันเห็นคน ๔ คน เป็นผู้หญิงหนึ่งและผู้ชายอีกสาม ผู้ชายคนแรกได้เล่นเปียโนเพลง "เขมรไทรโยค"ให้อีกสามคนฟัง พอเล่นจบ ผู้หญิงก็เล่นเปียโนเพลง "ลาวครวญ" บ้าง ต่อจากนั้นชายคนที่สองก็ลงมือเล่นเปียโนด้วยการเอาเพลงทั้งสองมาผสมผสานกัน จนเกิดเป็นเพลงใหม่ที่ไพเราะอย่างยิ่ง ส่วนชายคนที่สามยืนฟังเสียงเพลงด้วยความพอใจ


วันรุ่งขึ้นในตอนบ่าย สง่าก็ลองเล่นเปียโนเพลงที่ได้ยินจากความฝันดู ปรากฏว่าเป็นที่พออกพอใจของผู้ใหญ่ในคณะละคร จึงมีการแต่งเนื้อร้องประกอบ และให้พระเอกละครคือสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ร้องทันที ใช้เวลาไม่ถึง ๒๐ นาทีก็แต่งเสร็จ


เพลงนั้นคือเพลง "น้ำตาแสงไต้" ที่ยั่งยืนมาจนทุกวันนี้

นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ

ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย

น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว

แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา

นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า

ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม

น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม

ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล

นวลเจ้าพี่เอย................ .นวลเจ้าพี่เอย

นักเปียโนหนุ่มเจ้าของผลงานจากความฝันคือสง่า อารัมภีร ภายหลังได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล)เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ แรงบันดาลใจเรื่องนี้ท่านได้ถ่ายทอดให้บูรพา อารัมภีร์ ผู้เป็นบุตรชายได้รับฟัง จนกลายมาเป็นตำนานในหนังสือชื่อ " เบื้องหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีร" ปัจจุบันแม้ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ล่วงลับไปแล้ว แต่ "น้ำตาแสงไต้" ยังเป็นที่นิยมในความงามทั้งท่วงทำนองและถ้อยคำอยู่ไม่เสื่อมคลาย


แรงบันดาลใจอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับศิลปินไทยเพียงเท่านั้น แม้ในประเทศตะวันตกก็เคยเกิดมาเช่นกัน ใครชอบเพลงคลาสสิคคงเคยได้ยินชื่อฟรานซ์ ลิสซท์ คีตศิลปินชาวฮังกาเรียนผู้เป็นนักเปียโนระดับปรมาจารย์ในยุคปลายศตวรรษที่ ๑๙ เขาได้แต่งเพลงชั้นเยี่ยมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเปียโนไว้หลายเพลง เช่น Sonata in B minor, Hungarian Rhapsodies และ Piano Concertos #1 ในจำนวนนี้มีเพลงวอลทซ์ที่ไพเราะมากอยู่เพลงหนึ่ง มีชื่อแปลกว่า " วอลทซ์ปีศาจ" มีประวัติว่าลิสซท์เข้านอนแล้วฝันไปว่ามีปีศาจมาปรากฏตัวแล้วเล่นดนตรีให้เขาฟัง เป็นเพลงที่เขายังจดจำทำนองได้แม่นยำแม้จะตื่นนอนขึ้นมาแล้ว จึงนำมาเรียบเรียงเสียงประสานเป็นเพลง แล้วตั้งชื่อว่า Mephisto Waltz เพราะ Mephisto ก็คือปีศาจชื่อ Mephistopheles ซึ่งตามตำนานเรื่อง Faust ของเยอรมัน เป็นปีศาจมือขวาของพญามารที่มาเจรจาซื้อขายวิญญาณกับมนุษย์ ด้วยการตกลงมอบทุกสิ่งที่ปรารถนาให้มนุษย์ผู้นั้น มีข้อแม้ว่าวิญญาณหลังจากเขาสิ้นชีวิตต้องตกเป็นทาสของพญามารชั่วกาลนาน


เราจะอธิบายถึงแรงบันดาลใจอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ได้อย่างไร เป็นไปได้ว่าจิตใต้สำนึกของศิลปินเหล่านี้ยังทำงานอยู่ไม่หยุดยั้งแม้ว่าร่างกายอยู่ในภาวะหลับสนิทไม่รู้สึกตัว หรือจะเป็นไปได้ว่าสำหรับบุคคลผู้เกิดมาเป็นศิลปิน สวรรค์ได้ให้" พร" มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยส่งมอบในรูปแบบที่คนธรรมดาทั่วไปไม่ได้รับ หรืออาจจะเป็นคำตอบที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ เกินกว่าสติปัญญาและความเข้าใจของเราจะเอื้อมไปถึง เหมือนเชกสเปียร์เคยสร้างให้แฮมเล็ตพูดกับโฮราชิโอว่า


"There are more things in heaven and earth, Horatio, than are dreamt of in your philosophy." " มีสรรพสิ่งนอกเหนือกว่านี้ ทั้งบนสวรรค์และพื้นพิภพ โฮราชิโอ ที่ปรัชญาของท่านไม่อาจจะหยั่งถึงได้"


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด