โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ประโยชน์ พลังงานนิวเคลียร์ ในด้านอุตสาหกรรม MUSLIMTHAIPOST

 

โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ประโยชน์ พลังงานนิวเคลียร์ ในด้านอุตสาหกรรม


814 ผู้ชม


การใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรม โดย ดร. สมพร จองคำ 

          ได้มีการพัฒนาและนำเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย และสามารถจำแนกออกเป็น ๓ แบบ ตามวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนี้
          อุตสาหกรรมด้านพลังงาน 

          ก. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตเรือสินค้า เรือเดินสมุทร เรือตัดน้ำแข็ง เรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ 
          ข. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
          อุตสาหกรรมการฉายรังสี 
          การใช้รังสีพลังงานสูงมาฉายรังสีวัสดุ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทางชีววิทยา และทางกายภาพ เพื่อประโยชน์ในด้านการปรับปรุงคุณภาพของวัสดุ การกำจัดจุลินทรีย์บางชนิดในอาหาร โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้ 
          ก. การฉายรังสีอาหาร ประเทศไทยมีศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยเปิดเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ ใช้ไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ มีกัมมันตภาพรังสีตอนเริ่มต้น ๔๔,๐๐๐ คูรี สามารถให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรที่สำคัญ คือ เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้ กุ้งแช่แข็ง  หอมหัวใหญ่ กระเทียม แหนม ถั่วเขียว  และมะขามหวาน
          ข. อุตสาหกรรมการปลอดเชื้อจุลินทรีย์ รังสีแกมมาจากไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ ได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการปลอดเชื้อโรค ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และเนื้อเยื่อ โดยมีจำนวนมากกว่า ๑๔๐ โรงงาน ใน ๔๐ ประเทศ สำหรับประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมปลอดเชื้อ จำนวน ๕ แห่ง 
          ค. อุตสาหกรรมพอลิเมอร์ รังสีแกมมาหรืออิเล็กตรอนสามารถไปช่วยเร่งการเกิดปฏิกิริยาในการผลิตสารพวกพอลิเมอร์ต่างๆ เช่น 
          - การฉายรังสีไม้เนื้ออ่อนที่ถูกอัดด้วยสารมอนอเมอร์ จะทำให้กลายเป็นสารพอลิเมอร์ที่มีความแข็งมากขึ้น ใช้สำหรับทำพื้นปาร์เกต์หรือท่อนไม้ที่ต้องการให้มีความแข็งสูง
          - การฉายรังสีเพื่อไปช่วยให้มอนอเมอร์จับตัวกับพอลิเมอร์เรียกว่า การต่อกิ่ง (grafting) เช่น การนำน้ำยางธรรมชาติ มาฉายรังสีเพื่อทำกาวให้เหนียวขึ้น หรือ ทำยางพลาสติก 
          - การฉายรังสีเพื่อไปทำให้พอลิเมอร์ จับตัวกันเป็นร่างแหสามมิติ และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนต่อความร้อน เช่น ใช้ในการผลิตฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟม 
          - การฉายรังสีน้ำยางธรรมชาติที่ผสมกับสารเคมี เพื่อให้มีการจับตัวกันของพอลิเมอร์เป็นแผ่นยาง (rubber vulcanization)
          การตรวจวัดและควบคุมโดยเทคนิคนิวเคลียร์ในโรงงานอุตสาหกรรม 
          การใช้วัสดุกัมมันตรังสีและเทคนิคทางรังสีซึ่งเรียกว่า "เทคนิคนิวเคลียร์" มาใช้ ประโยชน์ในระบบตรวจวัดและควบคุมต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย มีตัวอย่างคือ 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดระดับของไหล  หรือสารเคมี ในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดระดับเศษไม้ในหม้อนึ่ง เพื่อการผลิตไม้อัดแผ่นเรียบ 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดความหนาแน่นของน้ำปูนกับเส้นใยหิน เพื่อการผลิตกระดาษ และกระเบื้อง 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุม ความหนาแน่นของเนื้อยางที่เคลือบบนแผ่นผ้าใบ เพื่อการผลิตยางรถยนต์ 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุม ความหนาของแผ่นเหล็ก 
          - การใช้รังสีบีตาวัดและควบคุมน้ำหนัก ของกระดาษในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ 
          - การใช้รังสีเอกซ์วัดหาปริมาณตะกั่ว และกำมะถันในการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 
          - การใช้รังสีนิวตรอนในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ดิน 
          - การใช้รังสีแกมมาตรวจสอบรอยเชื่อมโลหะ การหารอยรั่วและรอยร้าวของวัสดุ 
          - การใช้รังสีแกมมาวัดหาปริมาณเถ้าในถ่านหินบนสายพานลำเลียง

ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2665

อัพเดทล่าสุด