น่ารู้ การดูแลตัวเองหลังคลอดลูก วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดคลอด MUSLIMTHAIPOST

 

น่ารู้ การดูแลตัวเองหลังคลอดลูก วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดคลอด


1,189 ผู้ชม

นพ.ธรรมนูญ พนมธรรม ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลในงานเสวนาเรื่อง รู้จริงเรื่อง...แผลเป็นว่า การเกิดรอยแผลเป็นนั้นมีหลายปัจจัย อย่างแรก คือ เรื่องอายุ ในคนที่อายุน้อยๆ จะมีโอกาสการสร้างพังผืดเยอะกว่า


การดูแลตัวเองหลังคลอดลูก    วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดคลอด


      ปัญหาหนึ่งที่คุณแม่รักสวยรักงามต่างกังวลใจอย่างมาก ก็คือ แผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดคลอดบุตรแล้วแลดูหน้าท้องไม่สวยเหมือนเดิม จะทำอย่างไรดีให้แผลเป็นนั้นยุบหายลงไปได้บ้าง มีวิธีการรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บตัว ผิวหน้าท้อง จะได้กลับมาแลดูเนียนสวย ไม่มีรอยแผลเป็นนูนแดง

     นพ.ธรรมนูญ พนมธรรม ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลในงานเสวนาเรื่อง รู้จริงเรื่อง...แผลเป็นว่า การเกิดรอยแผลเป็นนั้นมีหลายปัจจัย อย่างแรก คือ เรื่องอายุ ในคนที่อายุน้อยๆ จะมีโอกาสการสร้างพังผืดเยอะกว่า ในคนที่มีอายุมากหรือสูงอายุ ลักษณะของผิวหนังก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ในคนที่มีผิวสี เช่น คนเอเชีย หรือคนแอฟริกา มีโอกาสการเกิดเป็นแผลเป็นนูนมากกว่าคนที่มีผิวขาว ตำแหน่งการเป็นของแผล ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ถ้าตำแหน่งที่เกิดในบริเวณหน้าอกทั้งด้านหน้าด้านหลัง ไหล่ หู หรือในส่วนบริเวณผิวหนังที่มีการเคลื่อนไหวได้บ่อยๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผลเป็นที่มีปัญหา และดูไม่ดีได้
    ปัญหาของแผลที่มาให้การรักษาและพบบ่อย ก็คือ 1.แผล เป็นเกิดนูนแดงนั้น กลายเป็น แผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า คีลอยด์ 2.หลังจาก 1 ปีหรือ 1 ปีครี่งไปแล้ว แผลนั้นยังแดงอยู่ แดงอยู่นาน และรอยแดงไม่ลดลง และ 3.มีอาการเจ็บหรือคัน 4.เป็นแผลที่เกิดตรงบริเวณข้อต่อ ทำให้ขยับข้อต่อได้ไม่เต็มที่ หรือนิ้วงอ หรือมีการผิดรูปเกิดขึ้น และ 5.แผลที่ไม่มีปัญหา เพียงแต่ดูไม่ดี แต่เป็นสิ่งต้องการและความคาดหวังในการรักษาของคนไข้

     กรณีผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง หรือผ่าคลอด นพ.ธรรมนูญ ให้คำตอบว่า ในกรณีผ่าคลอดซ้ำแผลเดิมที่นูนอยู่แล้ว แผลจะนูนขึ้นได้อีก เพราะแผลนั้นค่อนข้างชัดเจน คือเย็บอยู่ในตำแหน่งบริเวณผิวหนังที่มีการขยับและเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรม การดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม โอกาสแผลเป็นจะกว้างขึ้นกว่าเดิมหรือใหญ่ขึ้นกว่าเดิมก็มีโอกาสพอๆ กัน
     “ในช่วงนี้ขอแนะนำว่าอย่าไปทำอะไร ให้รอไปก่อนเลยจะดีกว่า ยกเว้นว่าถ้าในแผลเดิมมีอาการคันหรือมีอาการนูนขึ้น หลังจากผ่าคลอดแล้วไม่ต้องการมีบุตรอีก จะให้คุณหมอตัดแผลเป็นออกแล้วเย็บใหม่ หลังจากนั้นค่อยมาดูและกันอีกครั้งหนึ่ง”


     นพ.ธรรมนูญ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีคนไข้เพิ่งเคยผ่าตัด หลังผ่าตัดใหม่ๆ ก็แนะนำการใช้แผ่นเทปปิดก่อนเพื่อจะรั้งไม่ให้แผลตึงจนเกินไป การรั้งแผ่นเทปอย่างนี้ จะต้องรั้งอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรั้งแผลไม่ให้ยืดออก ถ้ายังไม่ได้ผล หรือแผลเริ่มจะแข็งหรือนูนขึ้นมาแล้ว ก็ให้ใช้แผ่นซิลิโคนเจลซีทปิด ปิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกอย่างน้อย 1 เดือน แต่ถ้าหลังจากนั้นยังไม่ดีขึ้น ก็จะต้องฉีดยาสเตียรอยด์ ส่วนอาการคัน อาการปวด ก็ใช้พวกมอยเจอร์ไรเซอร์ และกินยา หรือทายาพวกสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการคันและบวม
      ส่วนการฉีดยาสเตียรอยด์ในแผลเป็นนูน แผลจะยุบลงจริง แต่ในระยะการหายของแผลเป็นประมาณ 1 ปี ก็อาจทำให้เกิดรอยบุ๋ม ซึ่งแผลลักษณะเป็นรอยบุ๋มจะรักษายาก นอกจากทำให้ผิวบางแล้ว ยังทำให้เกิดไฮเปอร์พิคเมนท์ คือ สีผิวจางกว่าผิวหนังด้านข้าง ทำให้แลดูไม่สวย อย่างไรก็ตามคนไข้ที่ตั้งท้องในระยะแรกมาหาด้วยแผลเป็นนูนแบบนี้ จะแนะนำว่าให้รอไปก่อน หรือใช้วิธีการรักษาแบบอื่น เพราะไม่ทราบว่า การฉีดยาสเตอรอยด์จะมีผลต่อเด็กหรือเปล่า
     สำหรับการเย็บแผลโดยใช้วัสดุเย็บแผล ไม่ว่าจะเป็นเย็บไหมละลาย หรือไม่ละลาย ส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อแผลเป็นที่เกิดขึ้น เพียงแต่ระยะเวลาของไหมที่ใช้ในการดึงรั้งแผลแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแผลเป็นเพราะปัจจัยอื่นมากกว่า เช่น การติดเชื้อ แรงตึงบริเวณผิวที่เย็บ ไหมละลายพวกนี้อาจจะทำให้ขอบแผลค่อนข้างจะแดงและแดงอยู่นาน บางคนจึงกังวล
     ขณะที่การนวดบริเวณแผลเป็น เป็นการกระตุ้นให้แผลนุ่มขึ้น แต่ควรจะใช้มอยเจอร์ไรเซอร์และโลชั่นมาช่วยนวดและทาด้วยเพื่อให้แผลเป็นชุ่ม ชื่น จะได้นุ่มได้ไวขึ้น แบนราบได้เร็วขึ้น และทำให้อาการปวดจากแผลเป็นเหล่านี้ลดลงไปได้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการนวดก็คือ นวดในแผลเปิด แผลอาจปริขึ้นมา หรือบวมขึ้นมา หรือแพ้โลชั่นก็ต้องหยุด แผลบางตำแหน่งเช่น ตำแหน่งหน้าอก หู หัวไหล่ การกระตุ้นตรงนั้น อาจทำให้เกิดแผลนูนขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันกลุ่มคนไข้ที่มีโอกาสเกิดเป็นแผลนูนอยู่แล้ว ก็ไม่แนะนำให้นวด ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาให้ดีเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องให้นวดเสมอไป


     อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ ใช้ซิลิโคนเจลชีท ใช้ฉายแสงเลเซอร์ การจี้ด้วยความเย็น สามารถใช้การรักษาแผลเป็นนูนได้ทั้งหมด แต่สำหรับการรักษาแผลเป็นคีลอยด์ ด้วยวิธีการเหล่านี้ ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ รักษาไปแล้ว มีโอกาสเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีก ดังนั้น แพทย์ต้องแนะนำกับคนไข้ให้เข้าใจก่อนว่า รักษาแผนนูนคีลอยด์ได้ แต่รักษาแล้วไม่หายร้อยเปอร์เซ็นต์
      ท้ายสุดแล้ว นพ.ธรรมนูญ แนะนำการป้องกันและทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นนูนก็คือ ต้องได้รับการรักษา หรือ ผ่าตัดอย่างดี อย่าให้เกิดการติดเชื้อ ถ้าเป็นคนไข้ที่มีปัญหาและมีความเสี่ยงสูง อย่างเช่น เคยมีปัญหาเรื่องแผลเป็นมาก่อน ก็ต้องใช้วิธีวัสดุปิดแผลป้องกันไว้ก่อน

อัพเดทล่าสุด