"ไบโอเทค" เทคโนโลยีนี้เพื่อใคร MUSLIMTHAIPOST

 

"ไบโอเทค" เทคโนโลยีนี้เพื่อใคร


635 ผู้ชม


เราสามารถนำเทคโเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิมได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เมื่อมีผู้พูดถึงเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน จึงมักหมายถึงเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Modern Biotechnologyนโลยีชีวภาพมาใช้ทำอะไรได้บ้าง ?   

"ไบโอเทค" เทคโนโลยีนี้เพื่อใคร ?

 

 


ไบโอเทคคืออะไร ?
ไม่กี่ปีมานี้ ใครๆ ก็พูดถึงไบโอเทค.... 
  • นักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้ทนน้ำท่วมได้โดยอาศัยไบโอเทค 
  • คุณหมอพรทิพย์พิสูจน์ผู้สูญหายจากเหตุการณ์สึนามิ ด้วยเทคนิคหนึ่งของไบโอเทค 
  • คริสโตเฟอร์ รีฟ ดาราดังชาวสหรัฐจากเรื่องซุปเปอร์แมนอันโด่งดังในอดีต พยายามให้แพทย์รักษาอาการอัมพาตโดยใช้ไบโอเทค จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 
  • นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวัคซีนเอดส์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้มีประสิทธิภาพด้วยไบโอเทค
(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
"ไบโอเทค" เทคโนโลยีนี้เพื่อใคร
ไบโอเทค หมายถึง เทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในหลายสาขา
ไบโอเทค เป็นชื่อเรียกแบบย่อๆ ของไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) หรือเทคโนโลยีชีวภาพ คือ การใช้เทคนิค หรือกระบวนการต่างๆ ในการนำสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการแพทย์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์หลายสาขา อาทิ ชีววิทยา จุลชีววิทยา พันธุศาสตร์ ชีวเคมี รวมถึงศาสตร์สาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
บ้านเรามีเทคโนโลยีดังกล่าวมานานมากแล้ว...การหมักปลาร้า การหมักสุราท้องถิ่น ทั้งสาโทและกระแช่ การหมักน้ำปลา การผลิตซีอิ๊ว ล้วนเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม (Classical Biotechnology) เช่นเดียวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์โดยการปรับปรุงพันธุ์รุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยใช้ระยะเวลาหลายปีเพื่อให้ได้ลักษณะที่ดี มีผลผลิตมากขึ้น คุณภาพดีขึ้น แม้แต่การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคต่างๆ หรือนำมาบำรุงสุขภาพ ก็จัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม 
เทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิมได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เมื่อมีผู้พูดถึงเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน จึงมักหมายถึงเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Modern Biotechnology เช่น การบำบัดโรคด้วย
ยีน การพิสูจน์บุคคลด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ การโคลน การดัดแปลงยีน ฯลฯ ที่มีวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นรากฐาน จนอาจเรียกได้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นสหวิทยาการที่นำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 
เราสามารถนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทำอะไรได้บ้าง ?
เรานำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน ได้แก่
  1. เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร

    การพัฒนาพันธุ์พืชให้ต้านทานศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้ง และอุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้คุณภาพ จำนวนมากในเวลารวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้ การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการใช้งานในแจกันมากขึ้นและมีกลิ่นหอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การปรับปรุงพันธุ์โคนมให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น และทนโรคในประเทศเขตร้อนชื้น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรซึ่งมีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ด้วยโปรไบโอติก เป็นต้น
  2. เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ
    การผลิต
    วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค และมีการใช้กว่า 10 ล้านโดสต่อปีทั่วโลกในปัจจุบัน การผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน การผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตเพื่อแก้ปัญหาภาวะเตี้ยแคระผิดปกติ การผลิตแฟกเตอร์ 8 รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตไหลไม่หยุด การผลิตยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่สำคัญ เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเอดส์ ชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเมลิออยโดสิส ชุดตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย และชุดตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอศึกษาเชื้อก่อโรคที่สำคัญต่อมนุษย์ทำให้ได้กลไกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาพันธุ์พืชบางชนิดโดยการลดหรือกำจัดสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ลง เช่น สารที่อยู่ในน้ำนม ในถั่ว และธัญพืชบางชนิด การนำจุลินทรีย์มาผลิตวิตามิน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอติดตามการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดทางชีวภาพที่เรียกว่าไบโอเซ็นเซอร์ เพื่อวัดปริมาณน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น 
  3. เทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร

    การแปรรูปอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ เช่น การหมัก การดองพืชผักผลไม้ การผลิตนมเปรี้ยว การผลิตแหนม ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว การใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น การผลิตเบียร์ ไวน์ ไวน์ผลไม้ เหล้า สาโท อุ กระแช่ การนำ
    จุลินทรีย์มาผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตกรดอินทรีย์ต่างๆ ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาพืชอาหารสายพันธุ์ใหม่ให้มีวิตามิน แร่ธาตุ และคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าพืชอาหารปกติ หรือมีส่วนประกอบของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น การผลิตผงชูรสจากมันสำปะหลังหรือกากน้ำตาล การปรับปรุงคุณภาพพืชน้ำมันให้มีคุณลักษณะและคุณประโยชน์มากขึ้น เช่น มีไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพและตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นต้น
  4. เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม

    การนำจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการย่อยสลายขยะ และควบคุมคุณภาพของน้ำเสีย การผลิตปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี การย่อยสลายของเสียในดินให้มีขนาดเล็กลงและพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้แบคทีเรียบีทีและไวรัสเอ็นพีวีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช การใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงทดแทนสารเคมี การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอันตรายเช่น สารกัมมันตรังสี การผลิตก๊าชชีวภาพจากขยะ และมูลสัตว์ การสกัดสารออกฤทธิ์จากสะเดาเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มโดยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความเค็มสูง การใช้จุลินทรีย์ในการสกัดแร่ธาตุสำคัญทางเศรษฐกิจทดแทนวิธีสกัดทางเคมี เป็นต้น

 


ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรจากเทคโนโลยีชีวภาพ
จากพื้นฐานที่เข้มแข็งทางการเกษตรและทรัพยากรที่หลากหลายของประเทศไทย เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์ ให้มีคุณสมบัติตามต้องการ เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งการเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มส่วนแบ่งของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งรักษาความสามารถในการแข่งขันของเราในสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว กุ้ง 
นอกจากการสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว ไทยยังสามารถใช้ศักยภาพของ
ไบโอเทคในด้านการแพทย์เพื่อการพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งในแต่ละปี ไทยนำเข้าถึง 24,000 ล้านบาท
ในด้านเกษตรกรรมของประเทศ ถ้าไทยไม่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยในด้านการผลิต ประเทศไทยก็จะก้าวไปช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันในด้านการส่งออกเป็นอย่างมาก เช่น "กุ้ง" หากไม่มีพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ดีจากทะเล ไทยก็ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ประเทศไทยจึงก็ต้องพัฒนาพ่อแม่พันธุ์โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย "ข้าว" หากเราไม่ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนน้ำท่วมได้มากขึ้น ต้านทานต่อโรคพืชได้ ไทยก็ไม่สามารถแข่งกับประเทศส่งออกข้าวอื่นๆ ได้ ซึ่งผลเสียล้วนตกอยู่กับภาคการเกษตร 
ประเทศไทยปูทางสู่ถนนสายเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาประเทศ จึงได้จัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2526 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้านต่างๆ ผ่านการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และเอกชน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในทุกๆ ด้านของประเทศ 
นอกจากไบโอเทคแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีการจัดตั้งสำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช นอกจากี้ยังมีหน่วยงานอื่นที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น
สำหรับสถาบันการศึกษาภาครัฐ ต่างสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อจัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า "ภายในปี 2552 ประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้างประเทศให้เป็นครัวของโลก เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย คนไทยมีสุขภาพดีทั่วหน้า สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด เกิดธุรกิจชีวภาพใหม่ รวมทั้งให้มีการเข้ามาลงทุนทำวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย และมีกำลังคนที่มีคุณภาพ"
(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
"ไบโอเทค" เทคโนโลยีนี้เพื่อใคร
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทุนเดิมอยู่มาก โดยเฉพาะด้านยาสมุนไพร
นานาประเทศเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพมากแค่ไหน ?

หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ในด้านทรัพยากรชีวภาพ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทุนเดิมอยู่มาก คนไทยเองมีความชำนาญทางการเกษตร และด้านการดูแลสุขภาพ (สมุนไพร) แต่ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพน้อยกว่าต่างประเทศ อีกทั้งงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพน้อยกว่าประเทศอื่น 
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีชีวภาพของโลกลงทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ญี่ปุ่นลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพในปี 2542 ถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าว่าในปี 2553 เพิ่มเงินลงทุนเป็น 217,000 ล้านเหรียญ โดยจะกระตุ้นให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพใหม่จำนวน 1,000 บริษัท 
อินเดีย ลงทุนในปี 2545-2546 เป็นจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และประกาศเพิ่มส่วนแบ่งของสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพในตลาดโลกที่ตัวเองมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 2 ในขณะนี้ ให้เป็นร้อยละ 10 ในอีกหลายปีข้างหน้า 
จีนประกาศว่า เทคโนโลยีชีวภาพจะเป็นศาสตร์สำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
เพื่อนบ้านของไทย อาทิ สิงคโปร์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มีเป้าหมายชัดเจนมากในการก้าวไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ โดยทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมากสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ชีวภาพชื่อว่า ไบโอโปลิส (Biopolis) จนสามารถดึงบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาทำการวิจัยและพัฒนาได้ 
สำหรับประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เปลี่ยนฐานอุตสาหกรรมจากอิเล็กทรอนิกส์มาเน้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น 
ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับเทคโนโลยีชีวภาพ จนมีผู้กล่าวว่า "เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21"ทีเดียว...


ที่มาข้อมูล : www.biotec.or.th
www.pro.corbis.com

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=687

อัพเดทล่าสุด