การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน MUSLIMTHAIPOST

 

การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน


652 ผู้ชม


บรรยากาศในห้องเรียนเป็นสิ่งที่ครูทุกคนสร้างได้ หากครูมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้   

การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน

 


ในห้องเรียนแต่ละห้อง หรือศูนย์การเรียนแต่ละแห่งมีสิ่งที่เรียกว่า "สภาพบรรยากาศ" เช่นเดียวกับเวลาที่เราพูดถึงสภาพอากาศ หรือบรรยากาศในเมืองต่างๆ ในทางอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า มีร้อน มีหนาว ฝนตก แดดออก ฯลฯ สำหรับสภาพบรรยากาศในห้องเรียนนั้น เป็นที่ที่เราสามารถรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างได้ อาทิเช่น วิธีที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน วิธีที่ผู้คนได้ยิน และสิ่งที่ผู้คนพูด เป็นต้น 
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือ ศูนย์การเรียนให้เหมาะสมและเอื้อแก่การจัดการเรียนรู้นั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับการประสบความสำเร็จของเด็ก ทั้งนี้ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนของครูจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าครูเองมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และสามารถเป็นผู้นำที่ดีของเด็กได้หรือไม่ ครูสามารถจัดห้องเรียนหรือศูนย์การเรียนให้เป็นสถานที่ที่น่าเรียนหรือไม่ เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยในห้องเรียนไหม เด็กทราบหรือไม่ว่าครูคาดหวังอะไรในตัวเด็กบ้าง 
เทคนิควิธีการต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะช่วยให้ครูสามารถพัฒนาสภาพแวดล้อมที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กบรรลุเป้าหมายที่ครูตั้งใจไว้ 
การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน
 
การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน
สภาพบรรยากาศของห้องเรียนประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการคือ คุณค่า สภาพแวดล้อม รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ และผู้คน หากครูนำปัจจัยดังกล่าวทั้งสี่มาทำงานร่วมกัน และเสริมกำลังซึ่งกันและกัน การจัดการเรียนการสอนของครูจะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และตัวเด็กเองก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น คำถามที่เป็นกุญแจสำคัญที่ครูต้องถามตนเองคือ "หากมีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในห้องเรียนครั้งแรก เขาจะคิดอย่างไร?" 
  1. ค่านิยม (Values) คือแนวคิดหลักหรือมโนทัศน์ที่ครูต้องการให้เด็กเรียนรู้ แม้ครูจะตั้งเป้าหมายและหัวข้อต่างๆ ไว้มากมายก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้มักจะประกอบด้วยแนวคิดหลักๆ เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น โดยแนวคิดหลักเหล่านี้ควรจะสะท้อนออกมาในวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนรู้ของครู ซึ่งใช้คำนิยามสั้นๆ เพียงไม่กี่คำ 
    การเขียนวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ควรทำเป็นขั้นตอนแรก โดยให้เด็กเข้ามามีส่วนในกระบวนการนั้นด้วย นอกจากนี้ พยายามมองหาแนวทางที่จะเสริมกำลังแนวคิดหลักในทุกส่วนของแผนการเรียนที่ครูกำหนด สมมุติว่าแนวคิดหลักของครูมีคำว่า "ชุมชน" ให้ครูนำตะกร้าที่ใส่รูปภาพของเด็กทุกคนในชั้นเรียนมาวางไว้ในห้อง ตะกร้าใบนี้จะนำมาซึ่งกิจกรรมต่างๆ ในการสร้างเสริมความเป็นชุมชนในห้องเรียนแต่ละวัน อาทิเช่น ให้เด็กทุกคนใส่รูปของตนเองไว้ในแผนภูมิที่แสดงการเข้าเรียน หากไม่มีรูปเด็กคนใดในแผนภูมิ เด็กจะคิดเองโดยอัตโนมัติว่า "วันนี้มีบางคนในห้องของเราไม่มาเรียน มีใครบ้างนะที่ไม่อยู่ในที่นี้ ?" หากแนวคิดหลักของครูคือเรื่องของความร่วมมือ นักเรียนก็ควรได้เห็นครูทำงานร่วมกับเพื่อนครูคนอื่นๆ มิเช่นนั้นครูอาจสื่อความถึงเด็กในทางตรงข้ามก็ได้ ครูควรระลึกเสมอว่า ยิ่งสังคมภายนอกเต็มไปด้วยสิ่งที่ตรงข้ามกับเรื่องที่ครูต้องการสอนมากเท่าใด ครูก็ยิ่งต้องใช้โอกาสทุกทางที่จะช่วยเสริมกำลังความเชื่อและพฤติกรรมที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็ก 
  2. สภาพแวดล้อม (Environment) หมายถึง สภาพทางกายภาพในห้องเรียนหรือศูนย์การเรียน ครูอาจจะควบคุมทุกอย่างไม่ได้ แต่ครูสามารถควบคุมได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า การจัดห้องเรียน การตกแต่งผนังห้อง และการใช้พื้นที่ภายในห้องเรียนของเด็ก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ควรสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักของครู กุญแจสำคัญในเรื่องนี้คือการจัดสภาพแวดล้อมให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนด เพราะการสอนคือการปฏิบัติอย่างจงใจที่ครูจะต้องเสริมกำลังทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รายรอบตัวเด็ก 
    การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน
     
    นอกจากนี้ ครูต้องรู้จักใช้วิธีการจัดโต๊ะเรียนให้เกิดประโยชน์และตอบสนองเป้าหมายมากที่สุด เช่น รูปแบบสำหรับการเรียนเดี่ยวหรือการเรียนแบบร่วมมือ เรียนเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ ในส่วนของผนังห้องเรียน หากผนังห้องเป็นผ้าใบ ครูจะวาดหรือใส่อะไรลงไป แน่นอนว่าคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จเพียงคำตอบเดียว สิ่งที่ครูเลือกทำจะอยู่บนพื้นฐานของของแนวคิดหลักที่ครูต้องการสอนเด็ก อย่างไรก็ดี โดยหลักๆ แล้วสิ่งที่ควรแขวนไว้บนผนังประกอบไปด้วยรูปถ่ายของเด็กๆ ผลงานที่เด็กทำ แผนภูมิของงาน ตารางเวลาปฏิบัติงาน รูปถ่ายของบุคคลอื่นๆ ในชุมชนของครูและนักเรียน บทกวี สุภาษิตที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักที่ต้องการสอน ชีวประวัติ หรือคำคมประจำวัน เป็นต้น 
    คำตอบที่ผิดมีอย่างเดียวคือครูไม่คิดทำอะไรเลย หรือทำในสิ่งที่ไม่ได้ช่วยเสริมกำลังแนวคิดหลักที่ครูต้องการสอน ตัวอย่างเช่น ครูไม่จำเป็นต้องติดบทกวีหรือคำคมไว้บนผนังถ้าชั้นเรียนของครูไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการใช้ภาษามากนัก การทำเช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการใช้พื้นที่บนผนังอย่างไม่คุ้มค่า ที่ถูกต้องคือควรใช้พื้นที่เหล่านั้นมาช่วยเสริมกำลังในจุดที่ต้องการเน้นจริงๆ ของครู และถ้าครูนำคำคมประจำวันไปติดไว้ที่ผนังห้อง ครูจะมีวิธีการสอนเด็กอย่างไร อย่างน้อยที่สุดครูควรจัดอภิปรายเกี่ยวกับคำคมประจำวัน หรืออาจมอบหมายให้เด็กๆ เลือกคำคมที่ตนเองชอบขึ้นมาคนละชิ้น และให้อธิบายว่าทำไมนักเรียนจึงคิดว่าคำคมนั้นมีความสำคัญ 
    ข้อแนะนำ กิจกรรมการเรียนรู้บางประเภทอาจจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปฏิบัติการค่อนข้างมาก และอาจทำให้ครูต้องย้ายห้องไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน สภาวการณ์เช่นนี้อาจทำลายบรรยากาศของความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นชุมชนที่ครูพยายามสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้นครูจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอกับการต้องเผชิญกับสถานการณ์ทำนองนี้ โดยให้ครูพยายามเก็บงานและสื่อวัสดุที่สร้างสรรค์ไว้ในที่เก็บที่เด็กคุ้นเคย และเป็นที่ที่เด็กสามารถหยิบใช้ได้ง่าย และครูนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ ลองใช้เทคนิควิธีตารางปฏิบัติงานและป้ายประกาศงาน ที่ครูสามารถนำติดตัวไปในสถานที่แห่งไหนก็ได้
  3. การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน
     
    รูปแบบของการปฏิบัติ (Patterns of Action) คือ รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนที่ครูคาดหวัง รูปแบบเหล่านี้จะผูกพันกับค่านิยมที่ครูกำหนดไว้ สิ่งที่ดีที่สุดประการหนึ่งที่ครูสามารถทำได้คือการช่วยเด็กให้เข้าใจและรับรู้ในสิ่งที่ครูคาดหวัง วิธีการนี้หมายรวมถึงการมอบหมายงานที่เด็กต้องรับผิดชอบพิเศษ ตารางเวลาปฏิบัติงานที่แน่นอน และการกำหนดกฎระเบียบพื้นฐาน (ทั้งหมดนี้สามารถนำมาทำเป็นแผนภูมิขนาดใหญ่แขวนไว้บนผนังห้อง ดังนั้น จึงควรใช้สภาพแวดล้อมเพื่อสะท้อนแนวคิดที่จะนำไปสู่รูปแบบในการปฏิบัติการ) 
    ตารางการปฏิบัติการถือเป็นเครื่องมือทรงพลังอย่างหนึ่งที่จะสอนเรื่องค่านิยม การปล่อยให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่รอคอยให้ครูสั่งว่าต้องทำอะไรเมื่อไรจะทำให้เด็กหมดพลังในการเรียนรู้โดยที่ครูเองอาจไม่ได้ตั้งใจ ส่วนแผนภูมิการปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือที่ดีในการสอนเด็กเรื่องความรับผิดชอบและสร้างความภาคภูมิใจในผลงานที่เด็กทำ นอกจากนี้แล้ว รูปแบบของการปฏิบัตินั้นยังหมายรวมถึงด้านพฤติกรรมด้วย เช่น เวลาอยู่นอกห้องเรียนเด็กปฏิบัติตนอย่างไร ทั้งนี้ เป้าหมายส่วนหนึ่งของครูควรจะชี้นำรูปแบบเหล่านี้ในด้านบวก ดังนั้นครูจึงควรระมัดระวังรูปแบบในการปฏิบัติของตัวครูเองในระหว่างที่ครูอยู่กับเพื่อนร่วมงานหรืออยู่กับเด็ก 
  4. ผู้คน (People) เป็นส่วนสำคัญที่สุด ครูควรระลึกเสมอว่าคนจำนวนมากสามารถช่วยเหลืองานของครูได้ เพียงแต่ถ้าครูรู้จักเลือกใช้คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น รปภ.ไปจนถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชน ทุกคนสามารถเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของครูได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น หากหนึ่งในเป้าหมายของครูคือการให้นักเรียนปฏิบัติตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ครูจะแสดงให้เด็กเห็นถึงการนำไปสู่สิ่งเหล่านั้นอย่างไร มีรูปภาพประกอบหรือไม่ มีแขกรับเชิญจากภายนอกมาพูดคุยกับเด็กบ้างไหม ฯลฯ

บรรยากาศในห้องเรียนเป็นสิ่งที่ครูทุกคนสร้างได้ หากครูมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ 

 


ที่มาข้อมูล : https://www.newschool.in.thและ ข่าวจาก www.myfirst brain.com


ประเด็นสาระการเรียนรู้

1.การที่นำสาระเรียนรู้มาเสนอครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ครูผู้สอนได้ศึกษาเพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

ให้เหมาะสมกับนักเรียนของตนเองขณะดำเนินการสอนในห้องเรียน

2. ครูผู้สอนสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้

การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1030

อัพเดทล่าสุด