เรื่องน่ารู้ การเขียนคำทับศัพท์ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า ให้ถูกต้อง MUSLIMTHAIPOST

 

เรื่องน่ารู้ การเขียนคำทับศัพท์ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า ให้ถูกต้อง


3,306 ผู้ชม

เรื่องน่ารู้ การเขียนคำทับศัพท์ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า


การเขียนคำทับศัพท์

ยังมีประเด็นย่อยเกี่ยวกับการเขียนคำทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานอีก 2 ข้อ ประเด็นแรกคือ คำ ศัพท์ในภาษาอังกฤษซึ่งมีทั้งรูปคำนามและคำคุณศัพท์ เมื่อจะเขียนคำทับศัพท์ในภาษาไทย ให้ยึดรูปคำนาม จะไม่ผันรูปตามต้นศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น

electronics คำนาม/ electronic คำคุณศัพท์
electronics = อิเล็กทรอนิกส์
electronic mail = ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (มี “ส์” ตามรูปคำนาม)

resonance คำนาม/ resonant คำคุณศัพท์
resonance = เรโซแนนซ์
resonant frequency = ความถี่เรโซแนนซ์ (ใช้ “ซ์” ตามรูปคำนาม)

modulation คำนาม/ modulating คำคุณศัพท์
modulation = มอดุเลชัน, การมอดุเลต
modulating signal = สัญญาณมอดุเลต (ไม่ผันเป็น ‘มอดุเลทิง’)

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือ สำหรับศัพท์ในภาษาอังกฤษ เมื่อจะเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทย จะไม่ใส่วรรณยุกต์กำกับ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า คำในภาษาอังกฤษบางคำมีทำนองเสียง (intonation) ก้ำกึ่งระหว่างเสียงวรรณยุกต์ 2 เสียง หรือบางครั้ง คำ ๆ เดียวกันเมื่ออยู่ในประโยคต่างกันก็อาจออกสำเนียงหรือทำนองเสียงได้ต่างกัน ดังนั้น เพื่อลดความสับสน รวมทั้งเพื่อไม่ให้คำทับศัพท์ดูรกรุงรังหากจะใส่วรรณยุกต์กำกับตามอักขระ วิธีภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถานจึงมีมติว่า คำทับศัพท์ไม่ต้องใส่วรรณยุกต์กำกับเสียง แต่เวลาอ่านให้อ่านออกเสียงวรรณยุกต์ให้ใกล้เคียงกับสำเนียงศัพท์เดิมตามสมควร เช่น เทคโนโลยี (technology) พลาสมา (plasma) โซเดียม (sodium) แอสกี (ASCII) แอนติลอการิทึม (antilogarithm) ไมโครโพรเซสเซอร์ (microprocessor) ออโตมาตา (automata) อะแคเดมี (academy) โครมาโทกราฟี (chromatography) ปริซึม (prism) พาราโบลา (parabola) ชอปปิง (shopping) ดังนี้เป็นต้น

ยกเว้นคำที่ถ้าไม่ใส่วรรณยุกต์แล้วอาจก่อให้เกิดความสับสน หรือกำกวม หรือ ไม่ไพเราะ ก็ให้ใส่วรรณยุกต์ด้วย เช่น

“โค้ก” (หากไม่มีวรรณยุกต์ เขียนเป็น “โคก” ก็หมายถึง ที่ดินที่นูนสูงขึ้นคล้ายเนิน)
“โคม่า” (หากไม่มีวรรณยุกต์ เขียนเป็น “โคมา” ก็อาจทำให้คิดว่า วัวมา)
“ดีโค้ด” (หากไม่ใส่วรรณยุกต์ ก็อาจจะไปพ้องกับศัพท์ภาษาปากในหมู่วัยรุ่นว่า “ดีโคตร” !!!)

หวังว่าหลักเกณฑ์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ในการเขียนคำทับศัพท์ให้แก่ท่านบ้างนะครับ

ผู้เขียน

อ. ดร.ชนินทร์ วิศวินธานนท์

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน

เรื่องน่ารู้ การเขียนคำทับศัพท์ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า ให้ถูกต้อง

ที่มา www.eng.chula.ac.th

อัพเดทล่าสุด