https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
ภาษาไทยน่ารู้ : ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ คืออะไร คำอธิบาย ความหมายพร้อมตัวอย่าง ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ MUSLIMTHAIPOST

 

ภาษาไทยน่ารู้ : ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ คืออะไร คำอธิบาย ความหมายพร้อมตัวอย่าง ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ


2,712 ผู้ชม

โคลงสี่สุภาพ  เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดหนึ่งที่ปรากฏในวรรณคดีไทยมานานแล้ว


ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ

ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ
          โคลงสี่สุภาพ  เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดหนึ่งที่ปรากฏในวรรณคดีไทยมานานแล้ว  โดยเฉพาะโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งจากลิลิตพระลอได้ถูกยกมาเป็นโคลงครูของการแต่ง คำประพันธ์ประเภท

โคลงสี่สุภาพ
                                                  เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                              อันใด  พี่เอย
                                        เสียงย่อมยอยศใคร                                          ทั่วหล้า
                                        สองเขือพี่หลับใหล                                         ลืมตื่น  ฤาพี่
                                        สองพี่คิดเองอ้า                                                อย่าได้ถามเผือ
                                                                                                                                (ลิลิตพระลอ)

          1.  คณะ 1 บท  มี 4 บาท  บาทหนึ่งมี 2 วรรค  วรรคต้นมี 5 คำ  วรรคหลังมี 2 คำ  ส่วนบาทที่  4 นั้น  วรรคต้นมี  5 คำ  วรรคหลังมี 4 คำ  โคลง 1 บท  จึงมี 30 คำ  ท้ายบาท 1  และ  บาท 3  ถ้าความไม่ครบ 

ยอมให้เติมสร้อยได้อีก 2 คำและคำทั้ง 30 คำนี้  จัดเป็น 3 พวก  คือ
                    คำสุภาพ  คือ  คำธรรมดา  ไม่กำหนดเอกโท  จะมีหรือไม่มีก็ได้  มี 19 คำ
                    คำเอก  คือ  คำที่บังคับไม้เอก  หรือจะใช้คำตายแทน  คำเอกก็ได้  มี 7 คำ
                    คำโท  คือ  คำที่บังคับให้มีไม้โท  มี 4 คำ

          2.  พยางค์หรือคำ  ในการแต่งร้อยกรองเราถือว่าพยางค์ก็คือคำ  ร้อยกรองแต่ละชนิดจะมีการกำหนดไว้แน่นอนว่า  วรรคหนึ่งมีกี่พยางค์  ถ้าในโคลงมีคำที่ออกเสียงสระกึ่งหนึ่ง  ก็อนุโลมนับเป็นพยางค์เพียงหรือคำเดียวได้  เช่น  "อักขระห้าวันหนี  เนิ่นช้า"  เป็นต้น

          3.  คำเอก-คำโท  ใช้กับบทร้อยกรองประเภทโคลงและร่ายเท่านั้น  มีข้อกำหนดดังนี้
          คำเอก
                    1.  คำหรือพยางค์ที่มีไม้เอกบังคับทั้งหมด  ไม่ว่าพยัญชนะต้นของคำนั้นหรือพยางค์นั้นจะเป็นอักษรกลาง  อักษรสูง  หรืออักษรต่ำ  เช่น  ก่อ  จ่าย  ดิ่ง  ปู่  ข่า  ฉ่ำ  สุ่ม  ห่าง  คู่  ง่าย  ใช่  โล่  ฯลฯ
                    2.  คำหรือพยางค์ที่เป็นคำตายทั้งหมด  จะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้
                    3.  คำที่ไม่เคยใช้ไม้เอกเลย  แต่นำมาแปลงใช้โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้นและใช้วรรณยุกต์เอกบังคับ  เช่น  ไข้ ---> ไค่,  ถ้ำ ---> ท่ำ,  แผ้ว ---> แพ่ว  เช่นนี้ก็อนุโลมให้เป็นคำเอกได้  แต่เรียกว่าเอกโทษ
          คำโท
                    1.  คำหรือพยางค์ที่มีไม้โทบังคับทั้งหมด  ไม่ว่าพยัญชนะต้นจะเป็นอักษรกลาง  อักษรสูง  หรืออักษรต่ำ
                    2.  คำที่ไม่เคยใช้ไม้โท  แต่นำมาแปลงใช้โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้นและใช้วรรณยุกต์โทบังคับ  เช่น  คู่ ---> ขู้,  ง่อย ---> หง้อย,  เม่น ---> เหม้น,  ย่อม ---> หย้อม  อนุโลมให้เป็นคำโทได้  แต่เรียกว่า โทโทษ

          4.  คำเอกโทษ - คำโทโทษ  ที่ใช้แทนตำแหน่งของคำเอกและคำโท
                    เอกโทษ  หมายถึง  คำที่บังคับรูปวรรณยุกต์เอกตามลักษณะแผนผังบังคับของโคลงสี่สุภาพ
                    โทโทษ  หมายถึง  คำที่บังคับรูปวรรณยุกต์โทตามลักษณะแผนผังบังคับของโคลงสี่สุภาพ

          5.  คำตาย  สามารถใช้แทนคำเอกได้  มีลักษณะดังนี้
                    1.  เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา  เช่น  กะ  อุ  และ  เจาะ
                    2.  เป็นคำสะกดในมาตราแม่กก  กบ  กด

          6.  คำสร้อย  เป็นคำที่ต่อท้ายวรรค  ท้ายบาท  หรือท้ายบท  มักจะใช้เฉพาะในการแต่งโคลงกับร่าย  คำสร้อยนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้เพราะไม่ได้บังคับบางแห่งใช้เป็นคำถาม  หรือย้ำข้อความคำที่มักใช้เป็นคำสร้อย  ได้แก่  เฮย  ฤา  พี่  นาพ่อ  มาแม่  พี่รา  อยู่นอ

          7.  สัมผัส  คือ  ลักษณะที่บังคับให้ใช้คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน  สัมผัสเป็นลักษณะที่สำคัญมากในร้อยกรองของไทย  คำประพันธ์ทุกชนิดต้องมีสัมผัส  ได้แก่
                    สัมผัสสระ  ได้แก่  คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป  ที่มีเสียงสระพ้องกัน  หรือคล้องจองกันตามมาตรา  ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกดก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกัน
                    สัมผัสอักษร  ได้แก่  คำที่ใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน  อาจเป็นพยัญชนะต้นเดียวกันหรือเป็นพยัญชนะเสียงสูงต่ำเข้าคู่กัน  เช่น  ข-ค,  ส-ซ,  ฉ-ช  หรือพยัญชนะควบชุดเดียวกัน
                    สัมผัสนอก  เป็นสัมผัสบังคับที่ส่งและรับากันนอกวรรค
                    สัมผัสใน  เป็นสัมผัสไม่บังคับมีคำที่สัมผัสคล้องจองกันอยู่ภายในวรรคเดียวกัน  อาจเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรก็ได้  แล้วแต่ความเหมาะสมและความพอใจของผู้แต่ง  สัมผัสในช่วยให้บทร้อยกรองไพเราะขึ้น

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด