ผู้ดูแลทุนมนุษย์ (1) (Human Capital Steward) MUSLIMTHAIPOST

 

ผู้ดูแลทุนมนุษย์ (1) (Human Capital Steward)


1,000 ผู้ชม


ผู้ดูแลทุนมนุษย์ (1) (Human Capital Steward)




คอลัมน์ hr corner
โดย ผศ. ดร.จิรประภา อัครบวร โครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หน้าที่ปัจจุบันของนักทรัพยากรมนุษย์ที่เรียกว่าเป็น ผู้ดูแลทุนมนุษย์ (human capital steward) ในองค์การนั้น ท่านเองก็ต้องมั่นคงกับเป้าหมายหรือพันธกิจของท่านที่จะดำเนินงานอยู่บนฐานของการสร้างทุนทางปัญญา intellectual capital และ ดูแลคุณภาพชีวิตของบุคลากรในองค์การ (quality of work life) เพราะสองเรื่องนี้ผู้ได้ประโยชน์คือคนคนละกลุ่มกัน การสร้างทุนทางปัญญานั้นเห็นได้ชัดเจนว่าประโยชน์จะตกอยู่ที่เจ้าของกิจการ หรือผู้จ้างงาน ส่วนคุณภาพชีวิตจะเป็นสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของบุคลากรที่ทำงานในองค์การนั้นๆ และนี้คือบทบาทที่ผู้ดูแลทุนมนุษย์ในปัจจุบันจะต้องสร้างสมดุล
การสร้างให้ทุนมนุษย์ (human capital) เกิดเป็นทุนทางปัญญา (intellectual capital) นั้น dave ulrich อีกเช่นกันที่เคยเสนอว่าต้องประกอบด้วยขีดความสามารถ (competence) คูณด้วยความผูกพัน (commitment) จากสมการดังกล่าวทำให้เราต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจริงหรือตามที่พูด แต่หากดูบุคลากรในองค์การวันนี้ท่านจะพบว่าการที่เราเร่งพัฒนาให้คนมีขีดความสามารถสูงขึ้นเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้เกิดผลงานได้ หากคนเหล่านั้นไม่มีใจให้กับองค์การ ดังนั้น การสร้างความสัญญาใจ หรือความผูกพัน (commitment) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้บริหารคงมิอาจละเลยได้ เสริมด้วยงานวิจัยของ Gullop ซึ่งศึกษาเรื่องของ employee engagement มาโดยตลอดสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้องค์การมีคนทำงานที่มีความผูกพันกับองค์การอย่างแท้จริงเพียง 20-25% นั้นก็สามารถทำให้องค์การสามารถมีผลการปฏิบัติงานได้แล้ว แต่ที่น่าสนใจ ทำอย่างไรให้อีก 75% ของคนที่ยังขาดความผูกพันกับองค์การนั้นลุกขึ้นมาสร้างผลงานอย่างเต็มที่
การพัฒนาขีดความสามารถ (competency) ในประเทศไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะขณะนี้หลายองค์การลงทุนในเรื่องนี้ไปเป็นจำนวนมากแต่ยังไม่สามารถเห็นผลจาการลงทุนในเรื่องนี้ ทั้งนี้แนวคิดเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถมีกรอบแนวคิดกว้างๆ อยู่สองแนว คือ British approach ซึ่งเน้น การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อให้ได้มาตรฐานงาน เท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาขีดความสามารถในรูปแบบนี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกงาน สามารถพัฒนาได้จากการทบทวนคำบรรยายลักษณะงานเท่านั้น ส่วน American approach นั้นเป็น การพัฒนาขีดความสามารถที่อยู่บนฐานของการพัฒนาและมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ดังนั้นการพิจารณาขีดความสามารถจึงให้ความสำคัญกับบริบทขององค์การเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนทำงานเดียวกันในองค์การที่ต่างกัน มีความต้องการขีดความสามารถที่ไม่เหมือนกัน ขีดความสามารถจึงเป็นเรื่องที่ลอกเลียนกันไม่ได้ และไม่ใช่ความรู้ ทักษะพื้นฐานธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ต้องเป็นขีดความสามารถที่จะสร้างความเลิศในงานด้วย
เช่น พยาบาลห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถกับพยาบาลห้องฉุกเฉินเช่นกันใน โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าพยาบาลห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลชุมชนต้องมีขีดความสามารถในการทำงานภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น การมีขีดความสามารถเรื่องความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อาจต้องเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมมากว่าพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งคงจะต้องมีขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ อันถือเป็นทรัพย์สินขององค์การอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด (ดูภาพประกอบ Competency Approaches)
ดังนั้นการพัฒนาขีดความสามารถ (competency) ควรจัดทำวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และจัดวางแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถอย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ด้วย ซึ่งท่านจะเป็นว่าหากการจัดทำขีดความสามารถเป็นไปตามแนวทางแบบ British approach นั้นท่านผู้บริหารก็จะได้เพียงแค่มาตรฐานงาน แต่ไม่อาจหวังผลเลิศจากแนวทางนั้นได้
ส่วนเรื่องความผูกพันของพนักงาน (employee engagement) นั้น เป็นเรื่องที่ดูเหมือนกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดูได้จากผลงานวิจัยที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการขององค์การในการสำรวจเพื่อค้นหาเรื่องนี้กับพนักงานในองค์การมีมากขึ้น
engagement เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาองค์การสู่การเป็นองค์การสุขภาพดี (healthy organization) และผู้เขียนได้ทำการทบทวนงานวิจัย กรณีศึกษา บทความจากหลายๆ ประเทศในเรื่องการสร้างองค์การสุขภาพดี แล้วพบว่า การจะทำให้องค์การสุขภาพดีได้นั้นผู้บริหารสูงสุดต้องให้ความสำคัญ หรือความใส่ใจในตัวชี้วัด 3 ตัวหลักคือ C-customer engagement
E-employee engagement และ
O-effectiveness ซึ่งเราเรียกว่าเป็น CEO model
หน้า 52

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

อัพเดทล่าสุด