https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ MUSLIMTHAIPOST

 

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒


695 ผู้ชม


พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒




พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2)

 พ.ศ. 2542
____________  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542"

       มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 4 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า"นายทะเบียน" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "นายทะเบียน" หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

        มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 10 ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ข้อบังคับนั้นจะต้องกำหนดให้หักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง"

        มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 12 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
        เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้หน่วยงานใดในสังกัดปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมอบหมายให้แต่งตั้งพนักงานของหน่วยงานนั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้"

        มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 12 ทวิ และมาตรา 12 ตรี แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
        "มาตรา 12 ทวิ ให้นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการจัดการกองทุนและมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนได้
   ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าผู้จัดการกองทุนใดจัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุน นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้นหรือสั่งถอดถอนผู้จัดการกองทุนได้
        มาตรา 12 ตรี ให้นายทะเบียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการกองทุนเสนอต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละสองครั้ง
        เพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีอาจสั่งให้นายทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานหรือชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพิ่มเติมก็ได้"

        มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 13 การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
        มาตรา 14 ในการจัดการกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย"

        มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

        มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 20 ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนก่อนครบกำหนดสัญญา เมื่อ
        (1) นายทะเบียนสั่งถอดถอนตามมาตรา 12 ทวิ วรรคสอง
        (2) ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการกองทุน
        (3) กองทุนหรือผู้จัดการกองทุนบอกเลิกสัญญา หรือ
        (4) กองทุนเลิกตามมาตรา 25
        มาตรา 21 ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 20 (1) (2) หรือ (3) ให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนเดิมพ้นตำแหน่ง และให้แจ้งการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่แก่นายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่แต่งตั้ง"

        มาตรา 10 ให้ยกเลิกความใน (4) ของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "(4) นายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามมาตรา 27"

        มาตรา 11  ให้ยกเลิกความในมาตรา 26 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 26 เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25 (1) (2) หรือ (3) ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กองทุนเลิกและให้คณะกรรมการกองทุนจัดให้มีการชำระบัญชีภายในสามสิบวันและให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก เว้นแต่กรณีจำเป็นนายทะเบียนจะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปได้ตามที่เห็นสมควร
        มาตรา 27 นายทะเบียน โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลิกกองทุนได้ในกรณีดังต่อไปนี้
        (1) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานของกองทุนขัดต่อวัตถุประสงค์ หรือขัดต่อกฎหมาย
        (2) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่ากิจการของกองทุนไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าเพราะเหตุใด
 เมื่อนายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีการชำระบัญชีและให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี"

        มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 31 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนประกาศกำหนด"

        มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        "มาตรา 34 คณะกรรมการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 วรรคสอง มาตรา 21 มาตรา 25 วรรคสาม หรือมาตรา 26 หรือแต่งตั้งบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 เป็นผู้จัดการกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
        มาตรา 35 ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 12 ทวิ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท"

        มาตรา 14 ให้ยกเลิกมาตรา 36 มาตรา 38 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

        มาตรา 15 ให้ผู้จัดการกองทุนที่ได้รับแต่งตั้งให้จัดการกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจัดการกองทุนดังกล่าวได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  และให้นำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้จัการกองทุนและการจัดการกองทุน     รวมทั้งบทกำหนดโทษในเรื่องดังกล่าวที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนในระหว่างเวลาดังกล่าว
        เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้จัดการกองทุนต้องปฏิบัติเพิ่มเติมได้
        ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และกองทุนประสงค์ที่จะให้ผู้จัดการกองทุนนั้นจัดการกองทุนตามบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้จัดการกองทุนยื่นคำขอต่อนายทะเบียนและเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินการตามที่ยื่นขอได้

        มาตรา 16 ผู้จัดการกองทุนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 15 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

        มาตรา 17 ความผิดตามมาตรา 16 ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มีอำนาจเปรียบเทียบได้

        มาตรา 18 บรรดากฎกระทรวงที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดการกองทุน  ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คำสั่ง และหนังสือเวียนเกี่ยวกับการจัดการกองทุน ให้ยังคงใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 19 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี


   
หมายเหตุ :-  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ดังนั้น เพื่อให้การจัดการกองทุนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและหลักการเดียวกันกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งเพื่อบรรเทาภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างและลูกจ้างให้น้อยลง สมควรปรับปรุงอำนาจของรัฐมนตรีและนายทะเบียนในการกำกับดูแลการจัดการกองทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้การจัดการกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 137ก  วันที่ 30 ธันวาคม 2542


อัพเดทล่าสุด