https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ MUSLIMTHAIPOST

 

พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ


1,158 ผู้ชม


พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ




คดีแดงที่  8382/2544

นางกัญญา พุ่มแก้ว โจทก์
ห้างหุ้นส่วนจำกัดมณเฑียรนครศรีธรรมราช จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 125
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์และจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุด จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้จะเกินระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเพราะ มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่อยู่ในกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องภายใน 30 วัน

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตาม คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ถึงที่สุด ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว สภาพแห่งข้อหาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทั้งสี่ประเภทนั้นตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดแล้วตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสอง เพราะจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงต้อง จ่ายเงินทั้งสี่ประเภทให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสี่ประเภทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่จำต้องบรรยายถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละเท่าใด ตั้งแต่ช่วงเวลาใดถึงช่วงเวลาใดมาในฟ้อง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจกท์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดงานติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลังแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้าง พร้อมสวัสดิการและประโยชน์อื่นเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งมากกว่าเงินค่าจ้างที่โจทก์ได้รับ จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ออกจากงานไปเองด้วยความสมัครใจ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โจทก์มิได้นำคดี สู่ศาลภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 124, 125 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงหมดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและวันเวลาที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า พนักงานตรวจแรงงานกำหนดจำนวนเงินค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ต่ำกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำชัดเจนแน่นอนแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายถึงรายละเอียดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและวันเวลาที่อัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสอง จำเลยต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อจำเลยไม่จ่ายโจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประการแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลแรงงานกลาง แต่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องนายเจริญ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย โจทก์จึง ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่บังคับให้ลูกจ้างต้องฟ้องบรรดานายจ้างทั้งหมดเป็นจำเลย จึงเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะเลือกฟ้องนายจ้างคนใดหรือทุกคนเป็นจำเลยก็ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องฟ้อง นายเจริญเป็นจำเลยด้วย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พนักงานตรวจแรงงานมี คำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับแล้ว แต่โจทก์และจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาล ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุด ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตาม คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้จะเกินระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน เพราะมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่อยู่ในกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องภายใน 30 วัน ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3.2 ของจำเลยเพียงแต่กล่าวว่าจำเลยต้องการให้โจทก์หรือพนักงานตรวจแรงงานในฐานะ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และจำเลยพอใจแล้วจึงไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ดังกล่าว ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงานและวิธีพิจารณาคดีแรงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ประการสุดท้าย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของพนักงานตรวจแรงงานที่ถึงที่สุด ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมา ท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว ดังนี้ ฟ้องของโจทก์มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดแล้ว ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสอง เพราะจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงต้องจ่ายเงินทั้งสี่ประเภทให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจ แรงงาน และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสี่ประเภทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่าเป็นวันละเท่าใด ตั้งแต่ช่วงเวลาใดถึงช่วงเวลาใดดังที่จำเลยอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว

พิพากษายืน.

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง (สงขลา) - นายธงชัย อยู่ถนอม

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด