https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้ MUSLIMTHAIPOST

 

ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้


663 ผู้ชม


ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้




    

คดีแดงที่  5026/2548

นายประดิษฐ์ เจริญนิธิโชติ โจทก์
บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118, 119 (1), 119 (2), 119 (4)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
ป.พ.พ. มาตรา 582, 650
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10

จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้ เพราะเป็นทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลืองออกนอกบริเวณโรงงาน แต่จำเลยไม่ได้นำระเบียบข้อบังคับมาแสดง ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยก็มิได้ระบุนิยามคำว่า ทรัพย์สินประเภทใช้สิ้นเปลืองไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป แต่ทรัพย์สินที่โจทก์อนุมัติให้ พ. ยืม คือ สายไฟฟ้า ท่อหุ้มสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้าตัวผู้ ปลั๊กไฟฟ้าตัวเมีย เบ้าปลั๊กไฟฟ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป จึงไม่ใช่ทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลือง การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์อ้างว่า โจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้ เพราะเป็นทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลืองออกนอกโรงงานเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กระทำการใด ๆ ให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบธรรมของนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ทุจริตต่อหน้าที่ การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าโทรศัพท์ค้างจ่ายจำนวน 2,200 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,588 บาท ค่าชดเชยจำนวน 190,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 571,704 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 23,821 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 159,200 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 1,326.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 อันเป็นวันเลิกจ้างและวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,276.67 บาท ค่าโทรศัพท์จำนวน 2,146.42 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 79,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินทั้งสามจำนวนอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2546 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 ระบุว่าหมายถึงทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป แต่ทรัพย์สินที่โจทก์อนุมัติให้นายพินันท์ยืมคือสายไฟฟ้า ท่อหุ้มสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้าตัวผู้ ปลั๊กไฟฟ้าตัวเมีย เบ้าปลั๊กไฟฟ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป จึงไม่ใช่ทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลือง และจำเลยไม่ได้นำระเบียบข้อบังคับของจำเลยมาแสดง ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ไม่ได้ระบุนิยามคำว่า ทรัพย์สินประเภทใช้สิ้นเปลืองไว้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ที่โจทก์อนุมัติให้นายพินันท์ยืมทรัพย์สินของจำเลยจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อการกระทำของโจทก์ไม่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

พิพากษายืน.

 

(วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ - วิชัย วิวิตเสวี - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายศักดิ์ชัย รังษีวงศ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด