ลูกจ้าง ได้ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุลีหรือหน้างาน ประสบอันตรายระหว่างทาง MUSLIMTHAIPOST

 

ลูกจ้าง ได้ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุลีหรือหน้างาน ประสบอันตรายระหว่างทาง


746 ผู้ชม


ลูกจ้าง ได้ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุลีหรือหน้างาน ประสบอันตรายระหว่างทาง




คดีแดงที่  697/2522

การรถไฟแห่งประเทศไทย จ.
นายสุวิทย์ ยิ่งวรพันธ์ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมแรงงาน กับพวก ล.

 

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2515
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ลูกจ้างของโจทก์ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุสีเพื่อเอาป้ายสำหรับเดินตรวจทางซึ่งอยู่ในหน้าที่ แต่ยังเดินทางไปไม่ถึงโรงกุสีก็ถูกรถไฟชนถึงแก่ความตาย เป็นกรณีที่ผู้ตายยังมิได้เริ่มเดินตรวจทางตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ เพียงแต่กำลังเดินทางจะไปโรงกุลีซึ่งเท่ากับเป็นสถานที่ที่ผู้ตายจะเริ่มต้นทำงาน เมื่อผู้ตายได้รับอันตรายในขณะที่ยังเดินทางไปไม่ถึงสาถนที่ที่จะเริ่มต้นทำงานและยังมิได้ลงมือทำงานให้แก่โจทก์ จะถือว่าประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 2 (6) และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หาได้ไม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๑ เป็นอธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ ๑ กระทำการแทน เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๗ เวลาประมาณ ๐๔.๑๘ นาฬิกา นายประเสริฐตำแหน่งคนงานบำรุงทางชั่วคราวซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ได้เดินทางจากบ้านพักข้างสถานีรถไฟหนองปลาดุก จะไปเอาป้ายเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการเดินตรวจทางที่หมู่ประจำที่ ๑๑ ขณะเดินทางไปถึง กม. ๖๓ + ๓๑๐.๐๐ ได้ถูกรถไฟขลวนที่ ๗๕๘ ชนศีรษะแขนและขาขาดตายคาที่โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยที่นายประเสริฐลูกจ้างโจทก์ยังเดินทางไปไม่ถึงที่ทำงานและยังมิได้ปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ ต่อมานางไฮ้ภริยาผู้ตายและบุตรผู้ตายได้ยื่นคำเรียกร้องเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนให้แก่นางไฮ้และบุตร สำหรับกรณีที่ลูกจ้างได้ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเป็นรายเดือน เดือนละ ๓๐๐ บาทเศษ มีกำหนด ๕ ปี และให้จ่ายเงินค่าทำศพด้วย โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ จึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๑ ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๗๓/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๙ จากจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีคำสั่งยืนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยเพราะนายประเสริฐถึงแก่ความตายโดยยังไปไม่ถึงที่ทำงานและยังมิได้ปฏิบัติงานให้แก่นายจ้าง จึงมิใช่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ตามนัยแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๕ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ขอให้สั่งเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๗๓/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๙ ของจำเลยที่ ๑

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการ และว่าคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี และคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๗๐๓/๒๕๑๙ ดังกล่าวข้างต้นชอบแล้ว เพระานายประเสริฐประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายประเสริฐออกจากบ้านพักเดินทางมุ่งตรงไปทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อประสบอันตรายระหว่างทาง จึงเข้าข่ายเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนชอบแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุลีหรือหน้างาน เพื่อจะไปเอาป้ายสำหรับเดินตรวจทางซึ่งอยู่ในหน้าที่ แต่ผู้ตายเดินทางไปยังไม่ทันถึงโรงกุลีก็ถูกรถไฟชนศีรษะ แขน และขาขาดตายคาที่ แล้ววินิจฉัยว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๒ (๖) และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ เป็นที่เห็นได้ว่านายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แต่เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจางหรือการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ตายออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุสีเพื่อเอาป้ายสำหรับเดินตรวจทาง แสดงอยู่ในตัวว่าผู้ตายยังมิได้เริ่มเดินตรวจทางตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างคือโจทก์ เพียงแต่กำลังเดินทางจะไปโรงกุสี ซึ่งเท่ากับเป็นสถานที่ ที่ผู้ตายจะเริ่มทำงาน เพื่อเอาป้ายอันเป็นอุปกรณ์ในการตรวจทางแล้วจึงจะเดินตรวจทางตามหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าผู้ตายได้รับอันตรายในขณะที่ยังเดินทางไปไม่ถึงสถานที่ที่จะเริ่มต้นทำงาน และยังมิได้ลงมือทำงานให้แก่นายจ้าง จะถือว่าประสพอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือการป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๗๙/๒๕๒๐ ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานแบะแซไทยเฮงฮวด โจทก์ นายลาวัลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กับพวก จำเลย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทน

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๗๓/๒๕๑๙

 

(จำรัส เขมะจารุ - โสทิพย์ คังคะเกตุ - ธาดา วัชรานันท์ )

 

ศาลแพ่ง - นายธรรมนิตย์ วิชญเนตินัย

ศาลอุทธรณ์ - นายสุนทร วรรณแสง

อัพเดทล่าสุด