https://cdc.iainponorogo.ac.id/wp-content/gampang-menang/https://cdc.iainponorogo.ac.id/-/demo/https://kebonagung.pacitankab.go.id/-/gampang-menang/
อายุความละเมิดตามสัญญาจ้าง MUSLIMTHAIPOST

 

อายุความละเมิดตามสัญญาจ้าง


995 ผู้ชม


อายุความละเมิดตามสัญญาจ้าง




โดยทั่วไปเราจะทราบกันดีว่า เมื่อมีการทำละเมิดจะต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รู้เรื่องละเมิดหรือรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 หากไม่รีบฟ้องภายในกำหนดก็จะหมดสิทธิ แต่การละเมิดตามสัญญาจ้างแรงงาน เช่น การที่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ การจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จะใช้อายุความ 1 ปี หรือไม่ มีคำตอบครับ

      โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งพนักงานประจำเขต ส่วนภูมิภาคเขต ๙ สำนักงานภาค ๖ สายงานบริหารสาขา ฝ่ายสาขาภูมิภาค ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานการเงิน สาขาย่อยบ้านตาก เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำเลยมีหน้าที่นำเงินของโจทก์จำนวน ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท เข้าบรรจุในกล่องเงินเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติ เพื่อให้บริการลูกค้าของโจทก์ จำเลยกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ให้จำเลยปฏิบัติว่าจำเลยจะต้องกระทำ โดยมีกรรมการด้านบัญชีร่วมกันดูแลตรวจนับเงินด้วย แต่จำเลยกระทำโดยลำพังคนเดียวเป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายไป จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยยอมรับว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้เงินของโจทก์ขาดหายไปจริง โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตไม่น่าไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป จึงมีคำสั่งที่ พ.๑๘๘๕/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ให้จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ด้วยการปลดออกให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

     จำเลยให้การว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการนำเงินเข้าบรรจุกล่อง แต่จำเลยไม่ได้ประมาทเพียงคนเดียว ยังมีพนักงานโจทก์ที่ต้องรับผิดคือ นางสาวนงลักษณ์ สุมนพันธุ์ ผู้จัดการย่อยสาขาบ้านตาก นางอนงค์ ตันจันทร์ สมุห์บัญชี นายจิระศักดิ์ ธรรมลิขิต ผู้ช่วยสมุห์บัญชี และนายสมาน มีสวนทอง เจ้าหน้าที่ฝากถอน เพราะเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงกับเงินที่ขาดหายไป โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยรับผิดแต่ผู้เดียว โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดเมื่อพ้น ๑ ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ เป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายไป จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนที่ขาดหายไป จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมิได้ประมาทคนเดียว โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดคนเดียวมิได้ และให้การตัดฟ้องว่า คดีขาดอายุความละเมิด ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยเข้าทำงานกับโจทก์ โดยไม่มีการทำสัญญาจ้างแรงงานกันไว้ การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบของโจทก์อันเป็นการประมาทเลินเล่อ ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนและฟ้องพ้นกำหนดหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยรับว่าจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์ฟ้องทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน การที่ศาลแรงงานกลางยกอายุความละเมิดอย่างเดียวมาพิพากษา ยกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่า ตามฟ้อง นอกจากโจทก์จะอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์ยังอ้างอีกว่าจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ และปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในข้อที่เกี่ยวกับความรับ-ผิดตามสัญญาจ้างแรงงานนี้ จำเลยให้การยอมรับว่าเป็นพนักงานของโจทก์และปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจริง เพียงแต่ต่อไปสู้เรื่องจำนวนค่าเสียหายตามฟ้องจากคำให้การของจำเลยดังกล่าว ในเมื่อจำเลยให้การยอมรับเช่นนี้ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ตรวจพบว่าเงินขาดหายไปเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๑ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ชอบ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น แต่การกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

      ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้สิทธินายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดตามสัญญาจ้างแรงงานถึง 10 ปี ซึ่งอาจจะมีแนวคิดมาจากเมื่อลูกจ้างมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ภายในอายุความ 10 ปี นายจ้างก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 8108/46)

 

อัพเดทล่าสุด