"ณรงค์ บุญสวยขวัญ" ต้องสร้าง"โมเดลชาวนาในฝัน" MUSLIMTHAIPOST

 

"ณรงค์ บุญสวยขวัญ" ต้องสร้าง"โมเดลชาวนาในฝัน"


949 ผู้ชม


"ณรงค์ บุญสวยขวัญ" ต้องสร้าง"โมเดลชาวนาในฝัน"
                 โดย เกรียงศักดิ์ เผ่าอินทร์

"ณรงค์ บุญสวยขวัญ" ต้องสร้าง"โมเดลชาวนาในฝัน"
 

          ในสถานการณ์ราคา"ข้าว" พุ่งเฉียดตันละ 3 หมื่นบาท ส่งผลให้รัฐเร่งออกมาตรการเพื่อรักษาระดับความสมดุล ป้องกันปัญหาข้าวขาดแคลน และผู้บริโภคไม่ต้องซื้อข้าวแพงเกินเหตุนั้น

          ดร.ณรงค์บุญสวยขวัญ อาจารย์สาขาวัฒนธรรมศึกษาสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้ตั้งปุจฉาว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "วิกฤติ" หรือ "โอกาส" ของชาวนาไทย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า จะนำความยั่งยืนมาสู่กระดูกสันหลังของชาติหรือไม่ว่ากันตามจริงดร.ณรงค์ อาจเป็นเพียงนักวิชาการโนเนมในวงการข้าวบ้านเรา ทว่านักวิชาการจากดินแดนสะตอรายนี้ ศึกษาวิถีชีวิตของชาวนาไทยและกระบวนการค้าข้าวต่อเนื่องหลายปี กระทั่งคลอด "ยุทธศาสตร์ข้าว" เสนอหน่วยงานรัฐเพื่อหาทางเสริม"จุดด้อย" ต่อ "จุดแข็ง" ของภาคการเกษตร แต่สุดท้ายงานวิจัยในสายตาราชการก็เป็นเพียง "ตำรา" เล่มหนึ่งเท่านั้น

          "ผมคิดว่านี้เป็นโอกาสดีที่เราจะอาศัยกระแสที่ทั่วโลกมองว่า ข้าวกำลังกลายเป็นทองคำ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าวทั้งระบบหันหน้ามาพูดคุยกัน และร่วมมือกันพัฒนาพืชเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมชนิดนี้ บนพื้นฐานทุกฝ่ายต้องได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม ทัดเทียม และสมดุล"

          ·       ราคาข้าวสูงเป็นประวัติการณ์เวลานี้ถือเป็น "วิกฤติ" หรือ "โอกาส" ของชาวนาไทย

          ข้าวราคาดีก็เป็นภัยคุกคามชาวนานะไม่ใช่ว่าวันนี้ราคาข้าวสูงถึงตันละ 3 หมื่นบาท เร่งส่งเสริมให้ปลูกข้าวกันทั้งประเทศ ขณะที่ความเป็นจริงชาวนาต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และราคาเมล็ดพันธุ์ข้าว เมื่อเรามุ่งไปที่การเพิ่มราคาข้าว และเน้นว่าชาวนาต้องขายได้ราคาสูงๆ แต่ลืมมองไปว่าราคาปุ๋ยเคมีก็สูงขึ้น จนแทบหยุดได้เลย ข้าวราคาสูงวันนี้ชาติอยู่ได้ แต่ชาวนาอยู่ไม่ได้ มันก็ลำบาก ต้องมีการตั้งกองทุนปุ๋ย

          บางครั้งนโยบายของรัฐก็คือภัยคุกคามชาวนาอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกันอย่างกรณีการส่งเสริมให้เกษตรบางพื้นที่ลดการทำนาแล้วหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน หากสถานการณ์ราคาข้าวและตลาดแนวโน้มต้องการข้าวจากเมืองไทยอยู่ในระดับปัจจุบัน ตัวเลขการขยายพื้นที่ทำนาควรเพิ่มขึ้นอีกสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ขั้นต่อไปรัฐบาลควรวางแผนในการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ หรือข้าว ราคา และการแปรรูป เหล่านี้ควรเดินหน้าพัฒนาไปพร้อมกัน แต่ต้องวางแผนพัฒนาแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามความเหมาะสม

          ·       เมื่อปุ๋ยเคมีคือปัจจัยสำคัญต่อภาคเกษตร ชาวนาจะรับมือปัญหาปุ๋ยแพงอย่างไร

          ในความคิดของผมการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีแพง ไม่ยาก อันดับแรกเกษตรต้องเข้าใจก่อนว่า เราใส่ปุ๋ยเพื่ออะไร ควรใส่ปริมาณเท่าไร อย่างปุ๋ยมี 3 ตัวหลัก คือ N P K สำหรับข้าวที่ปลูกชาวนาต้องรู้ว่าพืชต้องการแค่มากน้อยเพียงใด และดินขาดธาตุอาหารแค่ไหน จากนั้นค่อยเติมปุ๋ยลงไป ช่วยให้ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น นี่คือการลดต้นทุนโดยตรง แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรใส่ตามคำบอกเล่าของเซลส์แมนที่นำเสนอขาย พอพืชกินปุ๋ยในส่วนที่ต้องการจนหมด แต่บางส่วนที่ไม่ต้องการจะตกค้างในดิน นานวันเข้าเกิดการสะสมในดินนำมาสู่ปัญหาดินเสื่อม เพาะปลูกไม่ได้ผล ส่วนการแก้ปัญหาปุ๋ยแพงทั้งระบบต้องจัดการโดยรัฐ

          ·       ปริมาณการผลิตข้าวปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

          รูปแบบการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรมักทำตามใบสั่งหรือออเดอร์ของนายทุนเป็นหลัก โดยชาวนาไม่มีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเอง และไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบตลาด เรื่องปริมาณการผลิตวันนี้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถปลูกข้าวได้เฉลี่ย 60 ถังต่อไร่ ส่วนที่บอกว่าได้ 70-80 ถังต่อไร่ มันไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมด แต่พูดให้สวยหรูเข้าไว้ เวลานำมาคำนวณตัวเลขผลผลิตรวมต้องยึดค่าเฉลี่ยกลาง นี่คือการยอมรับความจริงข้อหนึ่ง หากไม่ยอมรับความจริงการแก้ปัญหาอาจสำเร็จได้ยาก ถึงอย่างไรถือว่าชาวนาไทยยังได้เปรียบอยู่มาก ชาวนาใช้เวลาปลูกประมาณ 120 วัน ใช้แรงงาน 2 คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำงานทุกวัน เวลาที่เหลือชาวนาสามารถสร้างรายได้เสริมจากกิจกรรมอื่นๆ ได้

          ·       นี่เหตุผลสำคัญที่พยายามผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์ข้าว

          โครงการรับจำนำข้าวของรัฐควรเลิกได้แล้วเพราะวันนี้สถานการณ์มันพิสูจน์ตัวมันเองแล้วว่า กระบวนการคิดของรัฐในการแก้ปัญหาราคาข้าวและชาวนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมักใช้กลยุทธ์แบบเดิมๆ แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนไป ถ้าเราจะอยู่รอดได้ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย"ยุทธศาสตร์ข้าว" เริ่มต้นจากกระบวนการคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันสร้าง อย่าลืมนะว่า การปลูกข้าวเป็นมากกว่าอาชีพอาชีพหนึ่งของชาวนา แต่มันคือรากฐานทางวัฒนธรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แสดงออกในรูปแบบของประเพณี เช่น การลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว หรืองานบุญต่างๆ ข้าวก่อให้เกิดประเพณีบูชาพระแม่ธรณี พระแม่คงคา มันเหนือกว่าการยึดเป็นอาชีพอย่างเดียว ตรงนี้ต่างจากการปลูกพืชชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีแก่เกษตรกร แต่หน้าที่ของมันคือพืชมิติเดียว เป็นมิติทางเศรษฐกิจการค้า ไม่ก่อให้เกิดมิติทางวัฒนธรรมเหมือนกับการทำนาข้าว

          ยอมรับว่าการพัฒนายุทธศาสตร์ข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าการก้าวสู่จุดหมายจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของ 6 ห่วงโซ่ ได้แก่ ชาวนา นายหน้า โรงสี ผู้รับซื้อรายใหญ่ ผู้ส่งออก และผู้ค้ารายย่อย ที่ผ่านมาแม้ชาวนามีบทบาทต่อสังคมไทยสูงมาก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นห่วงโซ่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด อย่างเมื่อก่อนข้าวราคาเกวียนละ 6,500 บาท ต้นทุนชาวนาอยู่ที่ 4,200 บาท พออยู่พอกิน ปัจจุบันราคาข้าวพุ่งสูงนับหมื่นบาทต่อเกวียน ต้นทุนชาวนาก็ขยับตามต่อเนื่อง จนแทบไม่เหลือเก็บ

          "ห่วงโซ่ทุกข้อต้องได้รับการพัฒนาอย่างสัมพันธ์และสมดุล อย่ามองแค่ผู้ผลิต หรือชาวนา จะขายข้าวได้เกวียนเท่าไร และคนกินซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกห่วงโซ่จะซื้อข้าวถูกหรือแพง ส่วนโรงสีต้องปรับทัศนคติเลิกกดราคาข้าวของชาวนา ขณะเดียวกัน กลุ่มที่อยู่กลางๆ อย่าง นายหน้า โรงสี นายทุน และผู้ส่งออก มักจะได้รับประโยชน์เต็มๆ โดยเฉพาะพ่อค้ารายใหญ่ถูกมองว่าได้รับผลประโยชน์จากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุด แบบนี้ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญถ้าปล่อยให้วงจรลักษณะนี้ดำเนินต่อไป ไม่มีทางสลัดสิ่งเก่าออกไปได้ แล้วปัญหาเดิมๆ จะวนเวียนซ้ำๆ สุดท้ายชาวนายิ่งจนลง คนกินก็ยิ่งตาย เพราะซื้อข้าวราคาแพงกว่าราคาจริง"

          "ผมว่า ปรากฏการณ์ข้าวแพงที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสดีที่ทำให้ห่วงโซ่ทั้ง 6 ข้อ พูดคุยกันเพื่อวางแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน อย่าลืมว่าเงื่อนไขของข้าวคือพืชเชิงวัฒนธรรม สำหรับคนไทยข้าวเป็นมากกว่าสินค้า ให้ชาวนามีสิทธิในผลผลิตที่เกิดจากหยาดเหงื่อและแรงกายของเขา ในทางตรงข้ามทุกห่วงโซ่ต้องอยู่ได้และมีกำไรเพียงพอเลี้ยงตัวเองตามความเหมาะสม ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือจ้องกดขี่เหมือนในอดีต โรงสี กดราคาชาวนาให้ต่ำที่สุด โดยกลวิธีสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ ความชื้น การปลอมพันธุ์ หรือตาชั่ง เพื่อให้ตัวเองได้สัดส่วนของกำไรมากที่สุด พอข้าวสารถึงมือนายทุนรายใหญ่ก็งัดเหลี่ยมเชิงออกมาต่อกรคู่ค้าเช่นกัน ด้วยจุดหมายเดียวกันคือกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองมากที่สุด ผลคือชาวนากับผู้บริโภคตาย"

          ·       อย่าลืมว่าในชนบทนายหน้ายังมีบทบาทต่อชาวนาสูง

          เรื่องนายหน้าที่คอยเข้าแสวงหาผลประโยชน์จากชาวบ้านนั้นระบบนี้เหมือนระบบอุปถัมภ์ที่ต้องอยู่ในชุมชน เขาไม่ได้ขูดรีดจากชาวบ้านมากนัก แต่ขอค่าช่วยอำนวยความสะดวก เขาขอส่วนต่างจากการขายข้าวเพียงเกวียนละ 50-100 บาทเท่านั้น นี่คือกลไกส่งผ่าน ถ้าหากมีการจัดการดีจะเป็นประโยชน์มาก เหมือนร้านสะดวกซื้อ หรือเซเว่นอีเลฟเว่น ยิ่งแข่งกันสูงผลประโยชน์ก็ตกถึงมือชาวนามากเท่านั้น หากไม่มีนายหน้า แล้วให้ชาวนาขนข้าวไปขายที่โรงสีเอง ถามว่าแล้วชาวนามีพลังพอในเจรจาต่อรองเจ้าของโรงสีหรือ ซึ่งธุรกิจโรงสีข้าว ทางภาคใต้เป็นโรงสีขนาดเล็ก มีทุนหมุนเวียนประมาณ 5 ล้านบาทต่อแห่ง จึงมีอำนาจต่อรองกับชาวนาไม่มาก อยู่ร่วมกับชุมชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่เอารัดเอาเปรียบมากนัก ต่างจากโรงสีขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ มีทุนหนาโอกาสที่จะกดราคาและเอาเปรียบชาวบ้านก็มีสูง

          ·       มีการตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้โรงสีพยายามกักตุนข้าวเพื่อปั่นราคา

          ตัวการกักตุนข้าวผมยังเชื่อว่า โรงสีคงทำได้ยาก ด้วยสภาพที่ต้องแบกรับดอกเบี้ยสูง และต้องใช้พื้นที่มาก ผมกลับมองว่า นายทุนรายใหญ่อาจเป็นผู้กักตุนไว้เอง ด้วยอำนาจเงิน ส่วนสถานที่เก็บ อาจฝากไว้กับโรงสี เช่าโกดัง หรือเก็บไว้ในสต็อกของตัวเอง

          ·       แผนรับมือการส่งออกในอนาคต

          ต้องยอมรับว่าเวลานี้พ่อค้าข้าวจากทั่วโลกมุ่งสู่ประเทศไทย ที่มีข้าวอุดมสมบูรณ์ที่สุดขณะนี้ หลังจากที่ประเทสคู่แข่งประสบปัญหาในการส่งออก แต่ใช่ว่าเราจะนิ่งดูดายและฝันหวานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าคู่แข่งแก้วิกฤติในประเทศได้ และเริ่มส่งออกก็อาจเกิดผลกระทบได้ เราต้องใช้โอกาสนี้ปรับยุทธศาสตร์ อย่างกรณีการส่งออก รัฐควรวางมาตรการที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องระบบโลจิสติกส์ หรือระบบคมนาคม ไม่ใช่ข้าวที่ส่งออกจากทั่วประเทศต้องมาเริ่มต้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ ข้าวสารที่ไทยส่งขายมาเลเซีย สิงคโปร์ โดยใช้ จ.สงขลา เป็นศูนย์กลาง ผมเสนอให้รัฐเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าเรือคลองเตย และหาวิธีลดค่าขนส่ง ในลักษณะกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ไม่ใช่การรวมศูนย์ความเจริญไว้ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว

          ·       โมเดลชาวนาในฝันของอาจารย์ออกแบบได้ไหม

          ผมออกแบบได้นะโมเดลชาวนาในฝัน อย่ามองแค่สภาพพื้นที่ปลูก หรือจำนวนชาวนาเป็นหลัก แต่มองระบบนิเวศวิทยา ลักษณะลุ่มน้ำ เข้ามาพิจารณาด้วย โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ อย่างพื้นที่เป้าหมายที่รวมไว้ 6,000 ไร่ ใช้ปุ๋ยจำนวนเท่าไร รวมกลุ่มซื้อ สร้างองค์ความรู้ทั้งที่เกิดในท้องถิ่นและงานวิจัยจากนักวิชาการนำมาประกอบกัน เช่น เราเก็บเกี่ยวข้าวเวลานี้จะมีความชื้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ หากรออีก 1-2 วัน ความชื้นลดลงเหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ชาวนาต้องรู้ เพราะเป็นประโยชน์โดยตรงต่ออาชีพ ถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีอำนาจต่อรองในการขายผลผลิตสูงขึ้น

          "ชาวนาต้องจัดตั้งกลุ่มที่เข้มแข็ง ยุคนี้ชาวนาอยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องต่อสู้กับนายทุนด้วยระบบกลุ่ม กระบวนการกลุ่มสร้างระบบชาวนาในชุมชนให้เข้มแข็ง ต่อรองกับนายหน้าและโรงสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของตลาด อย่างวันนี้ข้าวราคาเกวียนละ 1.3 หมื่นบาท ชาวนาต้องรู้ข้อมูลทันที และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เบื้องต้นได้"

          ·       ใครควรเป็นผู้ผลักดันให้เกิดกลุ่มชาวนา

          คณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้าวประจำจังหวัดทุกแห่งต้องเข้ามามีบทบทในเรื่องนี้โดยมีรัฐบาลเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดประชุม แต่ไม่ใช่ให้คนของรัฐลงมือทำเองทั้งหมด เพราะบทเรียนบันทึกไว้ว่า ถ้างานใดรัฐเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่อย่าลืมว่า สภาพสังคมไทย เราไม่สามารถสลัดทิ้งจากร่างเงารัฐได้

          ·       เคยนำยุทธศาสตร์ข้าวฉบับ ดร.ณรงค์ เสนอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไหม

          (หัวเราะ) เคย... นานมาแล้ว แต่เขาไม่สนใจ ทุกอย่างก็จบ

          ข้าราชการที่ไม่ใส่ใจผลงานวิจัย

          ดร.ณรงค์บุญสวยขวัญ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(รัฐศาสตร์) เป็นอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์มาตลอดทว่าอีกมุมหนึ่ง ดร.ณรงค์ ให้ความสนใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะเกี่ยวกับลุ่มน้ำปากพนังในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง

          ในช่วงหลายปีที่ดร.ณรงค์ นำเสนอผลงานศึกษาวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและสังคมโดยทั่วไป เช่น งานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนากลุ่ม "ตัวชี้วัดทางสังคม: การศึกษาสภาวะทางสังคมเศรษฐกิจเพื่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำปากพนัง" งานวิจัยเกี่ยวกับชาวนาและผู้คน"คนเลี้ยงกุ้งกุลาดำความชอกช้ำท่ามกลางโลกาภิวัตน์" และเรื่อง "ชาวนายากจนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" ซึ่งเป็นงานต่อยอดจากการวิจัยเรื่อง พลวัตชีวทัศน์ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาของรัฐในระยะแผนพัฒนาระยะที่ 1-8" ภายใต้เมธีวิจัยอาวุโสศาสตราจารย์สุธิวงศ์พงษ์ไพบูลย์ ในโครงการศึกษา เรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

          เมื่อไม่นานมานี้ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช มอบหมายให้ดร.ณรงค์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย "ยุทธศาสตร์ข้าวภาคใต้ ยุทธศาสตร์ชาวนาลุ่มน้ำปากพนัง" เมื่อปี2549 นับว่าเป็นการศึกษาเรื่อง"ข้าว" อย่างเป็นระบบชิ้นแรก

          อย่างไรก็ตามดร.ณรงค์พยายามนำเสนอผลการศึกษากระบวนการทำนาในการประชุมสัมมนาของจังหวัด และคณะทำงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวใหญ่ที่สุดในภาคใต้หลายครั้ง พร้อมทั้งนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชน แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เนื่องจากไม่อาจจะต้านทานพลังทางเศรษฐกิจที่ใช้อำนาจราชการเป็นเครื่องมือได้ โดยเฉพาะการเร่งขยายพื้นที่ปลูก "ปาล์มน้ำมัน" ทดแทนพื้นที่นาข้าว รวมทั้งทิศทางการพัฒนาการผลิตข้าวของราชการที่ไม่ใสใจต่อผลวิจัย

   

 แหล่งที่มา :  คมชัดลึก วันที่ 12 เมษายน 2551

อัพเดทล่าสุด