FBW Fly - By – Wire MUSLIMTHAIPOST

 

FBW Fly - By – Wire


1,744 ผู้ชม


FBW Fly - By – Wire

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการบินพลเรือน
www.catc.or.th
โดย  วิรัช  เทพารักษ์


 FBW Fly - By – Wire


          สวัสดีครับ  หลังจากผมได้ทำความคุ้ยเคยกับเครื่องตระกูลแอร์บัสยุคใหม่  A330-300  ที่ใช้อุปกรณ์  Side  Stick  เป็นคันบังคับอยู่พักใหญ่  ทัศนคติ(ส่วนตัว)  ที่เคยคิดในแง่ลบเกี่ยวกับอุปกรณ์บังคับเครื่องบินชนิดนี้ของผมได้เปลี่ยนไปทันทีครับ  เพราะผมรู้สึกว่ามันทั้งง่าย  และนุ่มนวลในการบังคับเครื่องบิน  ถึงแม้ว่าเราจะสูญเสียความรู้สึกของลมที่มาตีพื้นผิว  Aileron  หรือ  Elevator  ผ่านเคเบิลมาถึงมือเราเหมือนตอนสมัยที่บินเครื่อง  Boeing  737-400  ก็ตาม  มันก็ไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการควบคุมเครื่องบินลงเลยครับ  เพียงแต่เราต้องเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่า  การคิดคำนวณของคอมพิวเตอร์ในแต่ละขณะว่าอยู่ใน  mode  อะไร  อยู่  Control law  ประเภทไหน  จึงจะทราบว่ามี  protection  อะไรให้เราบ้าง  ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เราเข้าใจและควบคุมเครื่องบินได้อย่างง่ายดาย  ไม่ยึดติดกับความรู้สึกเก่าๆ  อาการเครื่องเป็นอย่างไรก็แก้ไขได้ถูกต้องเพราะลำพังเครื่องบินก็ออกแบบให้บินง่ายอยู่แล้วครับ
          ที่เกริ่นมาตั้งนาก็เพราะจะนำท่านผู้อ่านมาเข้าสู่เรื่อง  Fly-By-Wire  (FBW)  เนี่ยแหละครับ  เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบอย่างนั้นจริงๆ  เครื่อง  737  เป็นเครื่อง  Mechanically  controlled , hydraulically  operated  แปลง่ายๆ  ก็คือนักบินควบคุมเครื่องด้วยการดึงสายเคเบิลไปควบคุมวาล์วไฮดรอลิกที่ใช้ใน การเคลื่อนไหวพื้นผิวบังคับทำให้เครื่องเลี้ยวหรือไต่ครับ  แต่ในขณะที่เครื่อง  330  เป็นเครื่อง  Computer  controlled , hydraulically  operated  แปลว่า  นักบินควบคุมเครื่องโดยการสั่งคอมพิวเตอร์ให้เลี้ยว  คอมพิวเตอร์ก็จะประมวลผลและส่งสัญญาณไปตามสายไฟ  ไปควบคุมวาล์วไฮดรอลิกตัวเดิมให้เลี้ยวตามครับ


FBW Fly - By – Wire


          ดูเหมือนไม่ต่างนะครับ  แต่จริงๆ  แล้วต่างกันมากเพราะ  737  จะมีสายเคเบิลเป็นเส้นๆ  เคลื่อนที่ไปมาจากห้องนักบินมาถึงท้ายเครื่องเพื่อควบคุม  elevator  (นึกถึงสายเบรกจักรยานครับ)  แต่ในขณะที่  330  เป็นแค่เพียงสายไฟเบาๆ  ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว  เป็นแค่เพียงสัญญาณไฟฟ้าส่งจากห้องนักบินมาควบคุม  elevator  ท้ายเครื่อง  น้ำหนักของลวดเคเบิลที่ถูกทดแทนด้วยสายไฟเบาๆ  จะลดลงไปมหาศาลเลยทีเดียวครับเหตุผลที่ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า  Fly-By-Wire  คือบินด้วยสายไฟจริงๆ  นั่นเองครับ  FBW  นั้นมีข้อดีหลักๆ  ดังนี้ครับ
          1.  Safety  แน่นอนครับ  การควบคุมเครื่องบินต้องมีระบบสำรอง  (System  redundancy)  อยู่เสมอ  เครื่องบินสมัยก่อนระบบสำรองจะมีอย่างน้อย  3  ระบบ  โดยแต่ละระบบจะมีกลไกเส้นสายเคเบิลมากมาย  ซึ่งเป็นที่แน่นอนครับยิ่งระบบสำรองเยอะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของเครื่องบินยิ่งมหาศาลครับ  ปัจจุบัน  FBW  มี  4  ระบบคอมพิวเตอร์สำรองอย่างต่ำครับ  น้ำหนักก็เบา  1  ระบบก็เพียงแค่  Card  1  slot  (ที่ราคาเป็นล้าน)  กาควบคุมก็มีเสถียรภาพ  แน่นอน  แม่นยำมากขึ้น  เพราะมีการประมวลผลคอมพิวเตอร์อย่างละเอียดก่อนส่งสัญญาณควบคุมเสมอครับ
          2.  Economy  อย่างที่เห็นได้ชัดคือ  น้ำหนักที่ลดลง  เราสามารถขน  payload  คือผู้โดยสารและสัมภาระได้มากขึ้น  ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบไฮดรอลิกกลไกต่างๆ  ที่ต้องมีการหล่อลื่น  ปรับแต่งความตึงหรือตรวจการรั่วของไฮดรอริกก็หมดไปครับ  รายรับมากขึ้น  รายจ่ายน้อยลง  จริงๆ  แล้ว  FBW  มีมาสองยุคแล้วครับ  ยุคแรกคือยุค  Anolog  คือยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์ส่งสัญญาณในการควบคุมบินครับ  หากแต่ใช้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่รับสัญญาณ  Analog  แล้วส่งสัญญาณ  Analog  เช่นกันไปควบคุมการบินครับ  ระบบนี้เริ่มราว ๆ  ปี  คศ.  1950  ครับ  Avro  Valcan  คือเครื่องต้นแบบยุคนั้นครับ
FBW Fly - By – Wire
          ต่อมายุค  Digital  ครับ  ปี  1972  นำทีมโดยเครื่อง  NASA  F-8C  Crusader  ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลด้วย  differential  equation  แล้วแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลในการควบคุมการบินครับ  ซึ่งจริงๆ  แล้วในขณะนั้น  USSR  ไม่น้อยหน้าก็เปิดตัวเครื่อง  FBW  คือ  T-4  Sukhoi  ด้วยเหมือนกันครับ
          สำหรับเครื่องบินโดยสารนำทีมโดยเครื่อง  Airbus  A320  ครับ  เปิดยุค  FBW  โดยใช้  Side  stick  เป็นตัวควบคุมแทน  Yoke  ในเครื่องสมัยก่อน  ซึ่งเครื่องยุคหลังตั้งแต่  A330  A340  A380  (super jumbo)  และ  A350  ก็ใช้  Side  stick  เหมือนกันหมดครับ  ข้อดีคือลดน้ำหนักอันเป็นผลมาจาก  Yoke  อันใหญ่ๆ  มาเหลือแค่เพียง  side  stick  เล็กๆ นิดเดียว  แต่ข้อด้อยก็มีครับ  นักบินทั้งสองคนจะไม่ทราบการเคลื่อนไหวของคันบังคับของแต่ละคนครับ  เพราะมันหลบมุมอยู่ข้างๆ  นักบินทั้งสองคน  ถ้าหากคนนึงโยกซ้าย  อีกคนโยกขวา  เครื่องจะไปตรงกลางครับ  ไม่เลี้ยว Boeing  เลยสร้างเครื่อง  FBW  โดยยึดภาพการบังคับเครื่องบินแบบเดิมครับ  โดยเริ่มตั้งแต่  Boeing  777  เป็นต้นไป  ภายในจะยังคงมี  Yoke  ในการควบคุมเครื่องบินอยู่  คนนึงโยกซ้ายคันบังคับอีกด้านก็โยกซ้ายด้วย  ทำให้นักบินอีกคนเข้าใจตรงกันได้อย่างง่ายดาย  แถมยังมีการใส่  Force  Feedback  เสมือนจริงให้นักบินอีกด้วยครับ  ในขณะที่การควบคุมเครื่อง  Airbus  จะเหมือนการเล่นเกมส์ด้วย  joystick  ที่ไม่มี  Force  Feedback  ครับ
          สุดท้ายนี้ผมจะสรุปด้วยปรัชญาการออกแบบระบบ  FBW  ที่ไม่เหมือน  กันระหว่าง  Airbus  และ  Boeing  ครับ  Airbus  จะเน้นให้คอมพิวเตอร์เป็นใหญ่ในการควบคุมครับ  จะไม่ยอมให้นักบินบังคับเครื่องเกิน  Limitation  ของเครื่องบินในทุกๆ  ด้าน  ในขณะที่  Boeing  จะยอมให้นักบินบังคับเครื่องฝืน  Limitation  ของเครื่องบินได้ในยามฉุกเฉินครับ  ก็นานาจิตตังครับว่า  จะเชื่อเครื่องบินหรือเชื่อคน  สำหรับผมแล้วผมเชื่อในการฝึกฝนและประสบการณ์ของนักบินครับ  เพราะการฝึกฝนที่หนัก  และประสบการณ์ที่สูงของนักบิน  จะทำให้นักบินแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำครับ  เชื่อเครื่องบินเสียทีเดียวก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไปเพราะบางทีคอมพิวเตอร์ในเครื่องบินก็อาจรวนได้เหมือนกันครับ  ในขณะที่คนถ้าหาก  workload  สูงๆ  ก็อาจพลาดได้เหมือนกัน  การฝึกฝนความชำนวญจะช่วย  ลดระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาอย่างรอบคอบได้ครับ......FBW Fly - By – Wire
          โชคดี  บินปลอดภัย  ไม่ประมาทครับ



อัพเดทล่าสุด