เอ็กโก กรุ๊ป ดันงาน "จิตอาสา" เพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์จากองค์กรสู่ชุมชน MUSLIMTHAIPOST

 

เอ็กโก กรุ๊ป ดันงาน "จิตอาสา" เพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์จากองค์กรสู่ชุมชน


858 ผู้ชม


เอ็กโก กรุ๊ป ดันงาน "จิตอาสา" เพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์จากองค์กรสู่ชุมชน




เอ็กโก กรุ๊ป ดันงาน "จิตอาสา" เพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์จากองค์กรสู่ชุมชน
หากเอ่ยถึงชื่อ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าถามว่ารู้จักเอ็กโก กรุ๊ป หรือไม่ ทุกคนอาจจะรู้สึกคุ้นเคยมากกว่า เพราะเอ็กโก กรุ๊ป ถือเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer - IPP) แห่งแรกของไทย ตามนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เอ็กโก้ กรุ๊ป ได้ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าใน รูปแบบครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจหลัก 2 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และธุรกิจการให้บริการด้านพลังงาน ทั้งในส่วนของการเดินเครื่อง บำรุงรักษา วิศวกรรม ก่อสร้าง รวมไปถึงการฝึกอบรมแก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
เอ็กโก กรุ๊ป จึงได้ชื่อว่าเป็นอีกองค์กรต้นแบบของไทยที่เน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ดังนั้นเจตนารมณ์ที่จะขยายการเจริญเติบโตทาง "ธุรกิจ" จึงเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลรักษา "สิ่งแวดล้อม" และการพัฒนา "สังคม" เพื่อสร้างองค์กรยั่งยืน
นั่นหมายความว่า บุคลากรของเอ็กโกจะต้องได้รับการบ่มเพาะให้มองเรื่องของธุรกิจควบคู่ไปกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อม ๆ กัน
บนเวทีสนทนาหัวข้อ "ป่าต้นน้ำ พลังงาน...เพื่อชีวิต" ในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาโครงการ "หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน" ระหว่าง เอ็กโก กรุ๊ป และกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) "วินิจ แตงน้อย" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป แสดงวิสัยทัศน์ว่า โครงการ "หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน" ดำเนินการบนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระบวนการการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน โดยเอ็กโก กรุ๊ป จะนำศักยภาพและขีดความสามารถในฐานะ ผู้ผลิตไฟฟ้าครบวงจรมาช่วยในการพัฒนาและบริหารโครงการ โดยจะให้พนักงานในส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจให้บริการ ด้านพลังงาน ร่วมเป็นอาสาสมัครควบคุมดูแลงานก่อสร้าง รวมถึงจัดฝึกอบรมให้แก่ชุมชนเพื่อให้สามารถเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิค และบริหารจัดการโครงการได้ด้วยตนเอง
ตรงนี้นอกจากจะทำให้บุคลากรของ เอ็กโกมีจิตอาสาแล้วยังต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน
"เรามุ่งหวังว่า โครงการหนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน จะเป็นต้นทางพลังความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ และพลังความคิดในการพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน รวมถึงร่วมสร้างสรรค์พลังแห่งการเรียนรู้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถพัฒนาไปสู่ชุมชนพึ่งตนเองได้ในที่สุด "หัวเรือใหญ่เอ็กโก พูดถึงการสร้าง สรรค์พลังแห่งการเรียนรู้จากองค์กรสู่ชุมชน
ด้าน "สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์" ประธานกรรมการบริหารภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ตัวแทนชุมชนพื้นที่ป่าต้นน้ำ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ไฟฟ้าเหมือนรางวัลที่ชุมชนได้รับจากการดูแลรักษาป่า เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับเราว่า เมื่อเราดูแลรักษาป่าดี ฟ้าเห็น ก็ให้น้ำ จากพลังน้ำก็กลายเป็นไฟฟ้ามาให้ใช้ หรือจะพูดว่าเป็น "ไฟจากฟ้า" ก็ได้
ตอนนี้เราอยู่ในยุคแห่งการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งทรัพยากรตัวต่อไปคือพลังงาน หากชุมชนมีพลังงานเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปซื้อมา ชุมชนก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือที่หมู่บ้านเราเรียกว่า นั่งบนก้นตัวเอง
"การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ ก็เหมือนเป็นการทำให้ชาวบ้านรู้จักวิธีหาปลา ไม่ใช่เอาแต่ปลาไปให‰"
โครงการ "หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน" ที่พัฒนาขึ้นนี้จึงไม่เพียงเป็นไปเพื่อการสานต่อความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ปในการเป็น "ผู้สร้างสรรค์พลังงาน... เพื่อชีวิต" เท่านั้นแต่ยังเป็นการสนอง พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำไปพร้อม ๆ กัน
การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนขึ้นที่ เอ็กโก กรุ๊ป และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดขึ้นในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายที่จะนำร่องโครงการในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 6 แห่ง ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ถึงมกราคม 2556
โดยในปี 2553 จะเริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย บ้านโป่งสะแยน อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติแม่แจ่ม และบ้านสันดินแดง อำเภอจอมทอง ในเขตอุทยานแห่งชาติดอย อินทนนท์
สำหรับพื้นที่เป้าหมายของโครงการจะเป็นพื้นที่ที่ชุมชนมีความต้องการทางด้านพลังงานไฟฟ้า และสภาพผืนป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ ทั้งนี้เพื่อให้กำลังใจแก่ชุมชนที่ช่วยดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำในท้องถิ่นตนเองมาอย่างดี และเป็นการเสริมสร้างเข้าใจถึงคุณค่าของ "ป่าต้นน้ำ" ซึ่งเป็นต้นทางของชีวิตและต้นกำเนิดพลังงานด้วย
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังถือเป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนป่าต้นน้ำอื่น ๆ ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ "ผืนป่า" และ "ต้นน้ำ" ที่เอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนแก่ชุมชน
นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้แกนนำหรือตัวแทนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาโครงการ ตลอดจนบริหารจัดการหลังโครงการพัฒนาสำเร็จ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ กลไกความร่วมมือ และความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับคนในชุมชนด้วย
โครงการหนึ่ง "ป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน" นับเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ได้ผสานทั้งด้านนโยบาย จุดแข็งขององค์กร และศักยภาพของบุคลากร ในการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน และสนับสนุนสังคมพึ่งพาตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หน้า 30

อัพเดทล่าสุด