การวางแผนกลยุทธ์เชิงก้าวหน้าแบบร่วมสมัย MUSLIMTHAIPOST

 

การวางแผนกลยุทธ์เชิงก้าวหน้าแบบร่วมสมัย


797 ผู้ชม


การวางแผนกลยุทธ์เชิงก้าวหน้าแบบร่วมสมัย




จากการค้นคว้าพบแนวคิดในเชิงกลยุทธ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การวางแผนมีประสิทธิภาพมากได้ ด้วยการสร้างให้เกิดสปิริตเข้าไว้ในการวางแผน และใช้ สปิริตดังกล่าวขับเคลื่อนทำให้ขบวนการวางแผนมีพลวัต ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความแตกต่างจากรูปแบบ และธรรมเนียมปฏิบัติเดิมในการวางแผน

การสร้างสปิริตนั้นพัฒนาขึ้นจากกรอบแนวคิดเรื่อง การสร้างความสำเร็จในระยะยาวของ นักวิชาการได้นำเสนออย่างชัดเจนว่า การที่องค์การจะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวนั้น องค์การต้องพัฒนาให้มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขึ้นก่อน โดยในการสร้างวิสัยทัศน์นั้นจะต้องพิจารณาให้เห็นลึกถึงแก่นแท้ที่เป็นตัวตนแท้จริงขององค์การก่อน ที่น่าประทับใจคือ เป็นการอธิบายถึงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจับต้องได้ ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่

การศึกษาให้เห็นตัวตนที่แท้จริง โดยตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า องค์การมีความรู้ในเรื่องใดเป็นพิเศษ มากกว่ารู้ว่ากำลังทำอะไร หรือรู้ว่าตัวเองมีทรัพยากรอะไร มากกว่าการมุ่งแสวงหาทรัพยากรอื่นตลอดเวลา คำตอบดังกล่าวจะทำให้องค์การมีความเข้าใจในแก่นแท้ของตัวเองชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้สามารถกำหนดได้ว่า ตัวเองควรจะไปที่ไหนและไปถึงที่นั่นได้อย่างไร กรอบแนวคิดนี้เป็นแก่นสาระสำคัญในการกำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานที่ทำให้ให้องค์การไม่หลงทาง

การวางแผนกลยุทธ์เชิงก้าวหน้าแบบร่วมสมัย

เปรียบเสมือนวงแขนที่โอบล้อมการดำเนินธุรกิจขององค์การนั้น ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ในการควบคุมทำให้ขบวนการวางแผนมีความเข้มแข็งชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำพาให้องค์การสามารถพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่ได้อีกภายใต้ความรู้ และความสามารถที่องค์การมีอยู่ ภายใต้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รูปแบบจำลองการวางแผนกลยุทธ์ในเชิงก้าวหน้าจึงได้พัฒนาขึ้น เพื่อทำให้การวางแผนมีพลังในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์การ

กรอบแนวคิดการนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จด้วยการวางแผนในเชิงก้าวหน้าจึงเริ่มจากการสร้างให้เกิดวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์การให้ชัดเจนก่อน จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนอื่นที่สำคัญ เพราะการเข้าใจวิสัยทัศน์จะทำให้องค์การมีทิศทางการพัฒนาที่ ชัดเจน โดยเป็นการพัฒนาจากฐานความสามารถหลักของตัวเองที่มีอยู่

วิสัยทัศน์หมายถึง การประกอบของสองปัจจัยที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลลงตัว ในความอ่อนและความแข็งที่อยู่ร่วมกัน เปรียบเสมือนกับศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีประกอบกันในการจัดการ เป็นลักษณะของการส่งเสริมระหว่างกันของสองปัจจัยที่สร้างให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ด้วยตัวเองอย่างลงตัว แนวคิดนี้มีการพัฒนาจากแนวคิด พื้นฐานของความสมดุลทางธรรมชาติในลักษณะของหยินกับหยาง ที่มีอิทธิพลอย่างมากในอารยธรรมตะวันออก ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากจากนักวิชาการชาวตะวันตก โดยมีทิศทางสอดคล้องกับแนวโน้มที่ยิ่งใหญ่ของเอเชียที่ได้กล่าวไว้ในบทที่หนึ่ง

การอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องลงตัวนั้นจะสร้างให้เกิดพลังในตัวเอง มีตัวอย่างที่อธิบายได้อย่างชัดเจนเมื่อศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องพลังของความลงตัวไว้อย่างน่าคิดว่า ในขณะที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองคุนหมิง คนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบเวลาขึ้นไปไหว้พระบนเขาเพราะมองไปที่ใดก็เห็นแต่ภูเขาหิน ซึ่งได้ยินเสียงบ่นอยู่บ่อยว่าไม่เห็นมีอะไรสู้ไปเดินช้อบปิ้งไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามอาจารย์ระพีกลับพบว่าตัวเองมีความสุขอย่างมากที่ได้มาเห็นธรรมชาติที่อยู่กันอย่างเหมาะสม ลงตัวของคุนหมิง โดยได้สังเกตเห็นต้นไม้ที่มีอายุหลายร้อยปีเติบโตอยู่ในซอกหินที่มีอายุนานกว่าล้านปี ท่านได้เปรียบเทียบความลงตัวได้อย่างน่าฟังว่าเป็นการวิเศษแค่ไหนที่หินซึ่งเป็นสสารที่มีความแข็งแกร่งมาก แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีกับต้นไม้ที่มีความอ่อนช้อย ในความลงตัวนี้ได้สร้างให้เกิดปรัชญาของการอยู่ร่วมกันของสองสิ่งที่แตกต่างกันมาก แต่กลับอยู่กันได้อย่างกลมกลืนและอยู่ร่วมกันมายาวนานเกินกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ จะพบว่าในภาพวาดพู่กันที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของจีนจะมีรูปภาพภูเขาที่มีต้นไม้เกาะติดอยู่กับโขดหินเสมอ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังธรรมชาติที่บอกถึงความสมดุลที่มีมานานนับล้านปี

วิสัยทัศน์ประกอบด้วยสองส่วนสำคัญคือ

    1) แก่นอุดมคติหลัก (Core Ideology)

    2) ความสามารถในการมองอนาคตข้างหน้า 5ปี 10ปี 15ปี 20ปี 30ปี (Envision) ที่มีความแตกต่างจากการมองเห็นในอนาคตตามที่เข้าใจกัน คือต้องเป็นการมองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้น โดยที่ต้องสามารถกำหนดให้ตัวเองเป็นผู้ชนะในการทำธุรกิจในอนาคตห้าปี สิบปี สิบห้าปีข้างหน้า แตกต่างจากการมองเห็นอนาคต โดยที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง และองค์การแต่อย่างไร

 

ที่มา : รศ.ดร.ผลิน ภู่จรูญ


อัพเดทล่าสุด